สิ่งที่นักเรียนจะได้เรียนรู้
1. อธิบายความหมายของการนำความร้อนได้ (ด้านพุทธิพิสัย)
2. ตั้งสมมติฐานและสรุปผลการทดลองได้ (ด้านทักษะพิสัย)
3. ช่วยเหลือกันภายในกลุ่ม (ด้านจิตพิสัย)
อุปกรณ์
1. ตะเกียงแอลกอฮอล์
2. ตะเกียบสเตนเลส
3. ไม้จิ้มฟัน
4. เทียน
5. ไม้หนีบหลอดทดลอง
ขั้นตอนการสอน
1. นักเรียนตั้งแถวหน้าห้องทดลองวิทยาศาสตร์ หลังจากนั้น เดินไปนั่งที่โต๊ะทีละคนตามลำดับ เช่น คนคนที่ 1 นั่งโต๊ะที่ 1 คนที่ 2 นั่งโต๊ะที่ 2 ….. คนที่ 7 นั่งโต๊ะที่ 1 (แบ่งกลุ่มนั่งเรียน)
2. ครูเช็คชื่อนักเรียนเมื่อนักเรียนเดินผ่านเข้าประตูห้อง
3. ครูนำกิจกรรมปรบมือดัง เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนก่อนเรียน
4. นักเรียนทำท่าตามเพลง ดังนี้ ปรบมือดัง /// กระทืบเท้าดัง /// ลุกขึ้นยืนแล้วนั่ง ปรบมือดัง /// ( ซ้ำ 2 รอบ) เมื่อนักเรียนทำได้แล้ว ให้ทำตรงกันข้าม คือ ปรบมือดังให้กระทืบเท้า ลุกขึ้นให้นั่งลง
5. ครูนำเข้าสู่บทเรียนโดยถามคำถาม ดังนี้
“ จากความรู้เมื่อคาบที่แล้ว จะพบว่า ลอยตัวขึ้นสูง แสดงว่าความร้อนมีการเคลื่อนที่ แต่ความร้อนเคลื่อนที่ได้อย่างไร?” (นักเรียนอาจตอบว่าลอยไปในอากาศ)
6. ครูให้ความรู้แก่นักเรียน (การถ่ายโอนความร้อน มี 3 รูปแบบ คือ การนำความร้อน การพาความร้อน และการแผ่รังสีความร้อน แต่คาบนี้จะมาเรียนกัน เรื่อง การนำความร้อน)
7. ครูเขียนวิธีการทดลองบนกระดานและอธิบายวิธีการทดลอง
8. ครูสาธิตวิธีการดับไฟตะเกียงแอลกอฮอล์ พร้อมเน้นย้ำให้ระมัดระวังไม่ให้นักเรียนทำเอทิลแอลกอฮอล์ในตะเกียงหก
9. นักเรียนรับอุปกรณ์การทดลอง ดังนี้
ตะเกียงแอลกอฮอล์ ตะเกียบสเตนเลส ไม้จิ้มฟัน เทียน ไม้หนีบหลอดทดลอง
10. นักเรียนปฏิบัติการทดลอง ดังนี้
-ใช้น้ำตาเทียนติดไม้จิ้มฟันไว้บนตะเกียบสเตนเลส
- จุดไฟที่ตะเกียงแอลกอฮอล์ ใช้ไม้หนีบหลอดทดลองคีบหลายของตะเกียบสเตนเลส แล้วยื่นเข้าไปใกล้เปลวไฟ
11. นักเรียนสังเกตและบันทึกผลการทดลอง
12. ตัวแทนกลุ่มบอกผลการทดลองให้กลุ่มอื่นฟัง
13. นักเรียนร่วมกันสรุปผลการทดลอง โดยเชื่อมโยงผลการทดลองกับเนื้อหาที่เรียนข้างต้น (ไม้จิ้มฟันที่ติดอยู่บนแท่งเหล็ก อันที่อยู่ใกล้เปลวไฟมากที่สุดจะร่วงลงมาก่อน เพราะน้ำตาเทียนละลายเนื่องจากความร้อน การทดลองนี้ทำให้รู้ความจริงว่า ความร้อนที่มาจากตะเกียงแอลกอฮอล์เคลื่อนที่ไปยังโลหะได้ แสดงว่าโลหะสามารถนำความร้อนได้)
14. ครูชี้แจงให้นักเรียนเห็นภาพว่า การนำความร้อน เป็นการถ่ายโอนความร้อนที่เกิดขึ้นจากโมเลกุลของสารในตำแหน่งที่สัมผัสกับความร้อน มีพลังงานเพิ่มขึ้น ทำให้โมเลกุลสั่น และส่งผลกระทบไปยังโมเลกุลอื่นที่อยู่ข้างเคียง เป็นการถ่ายโอนพลังงานความร้อนจากโมเลกุลหนึ่งไปยังอีกโมเลกุลหนึ่งต่อเนื่องกันไป โดยไม่มีการเคลื่อนที่ของโมเลกุล (ความร้อนเคลื่อนที่ วัตถุไม่ได้เคลื่อนที่)
15. นักเรียนจำลองตนเองเป็นโมเลกุลของวัตถุที่ยืนติดกัน แล้วเกิดการสั่นสะเทือนต่อๆ กันไป จากคนแรกจนถึงคนสุดท้าย คล้ายการเล่นเวฟ (Wave)
16. นักเรียนหาข้อมูลเพิ่มเติม เรื่อง ประโยชน์ของการนำความร้อนและนำมาส่งในคาบถัดไป
ที่มา: Kru Kookkik TFT
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!