icon
giftClose
profile

ครูที่ดีกับศิลปะการลงโทษนักเรียน

446658
ภาพประกอบไอเดีย ครูที่ดีกับศิลปะการลงโทษนักเรียน

การลงโทษนักเรียนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับครูทุกคน ทั้งที่หลายคนอยากจะหลีกเลี่ยงแต่ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นครูขวัญขอเปรียบว่า การลงโทษเหมือนเป็นเครื่องมือในการสอนนักเรียนแต่ต้องใช้ศิลปะและใช้ใจร่วมด้วย

ครูที่ดี...กับการทำโทษนักเรียน


ครูที่ดี คือ ครูที่ใจดี ไม่ทำโทษนักเรียน เป็นเหมือนแม่พระมาโปรดเด็กๆ

ถึงแม้เด็กจะวิ่งเล่นกันในห้องเรียน คุยกันจนไม่สนใจการเรียน ครูที่ดีก็จะต้องไม่โกรธ ไม่ตอบสนอง และก็สอนไปอย่างอดทน

สำหรับครูขวัญ ครูที่ดีไม่ใช่ครูอย่างบุคคลข้างต้นที่ไม่ทำโทษนักเรียนเลย เพราะการไม่ทำโทษนักเรียนจะทำให้นักเรียนขาดวินัย กลายเป็นทำให้นักเรียนปลูกฝังความไม่ดีไม่เหมาะไม่ควร แบบที่ครูเพิกเฉยไม่ใส่ใจ


ครูที่ดี...ครูที่รู้จักศิลปะการลงโทษนักเรียนเมื่อทำผิด โดยมีขั้นตอน ดังนี้

1. วิเคราะห์นักเรียน

- นักเรียนอยู่ชั้นอะไร (ประถม มัธยมฯ)

- นักเรียนได้รับการเลี้ยงดูมาแบบไหน (แบบประคบประหงม พ่อแม่ไม่เคยดุด่า/ตี หรือ แบบฮาร์ดคอร์ พ่อแม่ใช้วิธีการลงโทษที่รุนแรง)

2. วิเคราะห์ความผิดของนักเรียน ข้อนี้สำคัญที่สุดและยากที่สุดด้วย เพราะต้องไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ

- ความผิดของนักเรียนคืออะไร

เมื่อเห็นนักเรียนทำผิด ปฏิบัติตัวไม่ดี ครูก็มีควรวิธีการทำโทษที่เหมาะสมและไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ เข้าใจนักเรียน และเคารพการตัดสินใจของนักเรียน

รู้ว่าเมื่อนักเรียนปฏิบัติตัวไม่ดีต้องห้ามปราม ไม่ปล่อยปละละเลย ทำให้นักเรียนรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งไม่ดีและไม่ควรทำ

- เป้าหมาย หรือ วัตถุประสงค์ในการลงโทษ คืออะไร

การลงโทษควรมาจากการวิเคราะห์ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว ไม่ใช้อารมณ์ตัดสิน ต้องลงโทษอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกันทุกคน โดยมีหลักการของตนเองที่ยึดมั่นอยู่ในใจ เมื่อโกรษเราจะต้องไม่ตัดสินใคร ไม่ตัดสินแม้คนๆนั้นเป็นนักเรียนของเรา ต้องพึงรู้ตนเองว่าตอนนี้เรากำลังโกรธ หรือมีอารมณ์อย่างไร บอกนักเรียนให้รับรู้ความรู้สึกของเรา และสอนให้นักเรียนคำนึงจิตใจคนอื่นและคนรอบข้างด้วย

- เราจะใช้การลงโทษรูปแบบใดกับนักเรียน

การลงโทษนักเรียนแต่ละคนต้องปรับเปลี่ยนไปตามบุคคล (ขนาดสอนยังมีวิธีสอนที่เน้นบุคคลเลย) ดังนั้นการลงโทษต้องคำนึงถึงสิ่งนี้ด้วย โดยการลงโทษมีหลายแบบ เริ่มจากว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนน ให้ทำกิจกรรมอื่นเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

3. เริ่มลงโทษนักเรียนได้ โดยหลักการที่ครูขวัญทำโทษนักเรียน ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นเด็กที่เรียนเก่ง น่ารักแต่บางช่วงบางตอนด้วยความที่เป็นเด็กก็ต้องมีตักเตือนบ้างเป็นธรรมดา โดยมีขั้นตอน ดังนี้

- ก่อนจะลงโทษต้องคุยกับนักเรียนก่อน ถามว่าเพราะอะไรถึงทำ พูดความรู้สึกของเราให้นักเรียนฟัง

- ถามว่านักเรียนผิด จริงหรือไม่ และนักเรียนยอมรับผิดไหม? ครูควรจะทำอย่างไรเพื่อลงโทษนักเรียนดี

- ถ้าครูลงโทษเช่นนี้กับความผิดนี้ เรายอมรับไหม?

4. ข้อควรระวังในการลงโทษนักเรียน

- ผู้ปกครองแต่ละครอบครัว ดูแลบุตรหลานไม่เหมือนกัน การลงโทษนักเรียนที่รุนแรงเกินไป ทางครอบครัวอาจจะรับไม่ได้ในวิธีการนั้นๆ โดยส่วนใหญ่แล้วสำหรับครูขวัญ การลงโทษนักเรียนด้วยการพูดให้เข้าใจว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด...นั่นก็เหมือนเป็นการลงโทษนักเรียนแล้ว การลงโทษอีกวิธีที่ใช้ตลอด คือการพูดให้นักเรียนเข้าใจว่านักเรียนผิด และขอความเห็นถึงการทำโทษนั้น นักเรียนจะคิดเองและลองตัดสินใจเอง เพราะ วัตถุประสงค์การทำโทษของเรา คือเพื่อฝึกนักเรียนให้เป็นคนดีของสังคม พร้อมที่จะใช้ชีวิตในอนาคตอย่างมีความสุข นักเรียนต้องคิดเอง ตระหนักเอง ซึ่งนี้แหละเป็นกระบวนการการสร้างคนดีต่อไปในอนาคต ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ครูต้องทำและต้องระวังอย่างมาก

-หากครูสามารถบอกกฎกติกา ข้อตกลงและการลงโทษนักเรียนก่อนเริ่มคลาสเรียน ทำกิจกรรมหรือตอนปฐมนิเทศ ก็จะสามารถทำให้นักเรียนเข้าใจและปฏิบัติตามได้อย่างดี

5. สะท้อนตนเอง หลังลงโทษนักเรียน

- เมื่อลงโทษนักเรียนแล้ว ต้องสะท้อนตัวเองทุกครั้งว่าที่ได้ลงโทษไป นักเรียนตระหนักได้ตรงกับวัตถุประสงค์หรือไม่

- นักเรียนแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวหรือไม่ ควรจะจัดการอย่างไร

- วิธีที่ใช้ได้ผลหรือไม่ รุนแรงไป เด็ดขาดไป หรืออ่อนไปหรือเปล่า


ถึงแม้การลงโทษจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการเป็นครูของครูขวัญ ไม่เคยมีวันไหนที่อยากจะลงโทษเด็ก แต่ก็รู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการให้นักเรียนตระหนักว่าอะไรถูกอะไรผิด คิดเองปฏิบัติเอง ครูขวัญมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย คือทำเพื่อนักเรียน และไม่ใช้อารมณ์มาตัดสิน จะคิดรอบคอบไตร่ตรองอย่างดีแล้ว


ขอเป็นกำลังใจให้ครูทุกท่านให้มีพลังในการสอน การจัดการเรียนรู้ การใช้ชีวิตร่วมกับนักเรียนอย่างมีความสุข และขอให้ผลบุญที่คุณครูทุกท่านทำให้แก่นักเรียน จงดลบันดาลให้คุณครูทุกท่านมีความสุขความเจริญในชีวิต

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(323)
เก็บไว้อ่าน
(60)