icon
giftClose
profile

เทคนิค ทำให้ ‘ทุกคน’ มีส่วนร่วมในงานกลุ่ม

72261
ภาพประกอบไอเดีย เทคนิค ทำให้ ‘ทุกคน’ มีส่วนร่วมในงานกลุ่ม

เทคนิควิธีทำให้เด็กๆ ’ทุกคน’ ได้โอกาสมีส่วนร่วม เเสดงความคิดเห็น เเละดึงศักยภาพของตัวเองออกมาในการทำงานกลุ่มกับเพื่อนๆ

คุณครูหลายท่านอาจสังเกตเห็นว่า ในการทำงานกลุ่มของเด็กๆหลายๆครั้ง จะมีนักเรียนที่มีส่วนร่วมมาก เเละ นักเรียนที่มีส่วนร่วมน้อย รวมอยู่ด้วยกัน เเทบทุกครั้ง ไม่ว่าจะเกิดมาจาก ธรรมชาติในการเเสดงออก หรือจังหวะที่พร้อมจะมีส่วนร่วมที่ต่างกัน


เราจะทำอย่างไรให้เด็กๆ ’ทุกคน’ ได้โอกาสมีส่วนร่วม เเสดงความคิดเห็น เเละดึงศักยภาพของตัวเองออกมาในการทำงานกลุ่มกับเพื่อนๆ


วันนี้ insKru จะมาเเนะนำวิธีที่จะช่วยให้เด็กๆ ’ทุกคน’ ได้มีส่วนร่วมในการทำงานกลุ่มมากขึ้น ผ่านเทคนิคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่ที่ทุกคนสบายใจที่จะมีส่วนร่วม การสร้างความสมดุลในการเเสดงความคิดเห็นของสมาชิกในกลุ่ม การสร้าง energy ที่ดีในการทำงานกลุ่ม เเละอื่นๆอีกมากมาย

ไปดูกันเลยค่ะ :)


1.ลูกบอลพูดได้



หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในการทำงานกลุ่ม คือความไม่สมดุลของการเเสดงความคิดเห็นของสมาชิก มีบางคนได้พูดเยอะ บางคนได้พูดน้อย เเละบางคนไม่ได้พูดเลย


‘ลูกบอลพูดได้’ จะช่วยให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมเท่ากัน 

ผ่านการรู้จักให้เกียรติคนอื่น การมีมารยาทในการฟัง เเละการเเบ่งปันกัน


กฏของลูกบอลพูดได้ คือ 

คนที่ได้ถือ ‘ลูกบอลพูดได้’ เท่านั้นที่จะมีสิทธ์พูดเเละเเสดงความคิดเห็น คนอื่นๆที่ไม่ได้ถือลูกบอลจะต้องให้เกียรติเพื่อนโดยการเงียบเเละฟัง หากว่ามีใครความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่เพื่อนที่กำลังถือลูกบอลพูดอยู่จะต้องรอจนกว่าจะตาตัวเองถึงจะพูดได้โดยลูกบอลจะวนเป็นวงกลม ไม่ข้ามใคร เเละไม่ถอยหลัง จนกว่าสมาชิกจะได้ถือลูกบอลทุกคน


เพิ่มเติม: คุณครูอาจกำหนดเวลาที่เด็กๆเเต่ละคนจะได้ถือลูกบอล นอกจากจะช่วยกรอบให้เด็กๆพูดในสิ่งที่กระชับเเละมีความหมายจริงๆเเล้ว ยังช่วยบริหารเวลาทำให้เด็กๆได้ถือลูกบอลเเละมีส่วนร่วมเท่ากันทุกคนอีกด้วย


2.ตำเเหน่งพิเศษ



การควบคุมเด็กๆ ถ้าเป็นหน้าที่ของคุณครูคนเดียว คงจะเหนื่อยไม่น้อย

“ตำเเหน่งพิเศษ” จะเป็นเครื่องมือช่วยให้คุณครูควบคุมเด็กๆตอนทำงานเป็นกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น ผ่านการกระจายหน้าที่ต่างๆ ให้เด็กๆในกลุ่มช่วยกันดูเเเลซึ่งกันเเละกัน


อุปกรณ์

เทปหนังไก่ เเละปากกาหัวใหญ่


ขั้นตอน

- คุณครูสร้างตำเเหน่งต่างๆบนเทปหนังไก่ โดยใช้ปากกาเขียนสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น

ดวงตา = ผู้ดูเเลความสงบ

ปาก = ผู้คอยเตือนเพื่อนเวลาเสียงดัง

มือ = ผู้เเจกจ่ายงาน

หัวใจ = ผู้ให้กำลังใจเพื่อนๆ

- เด็กๆเป็นผู้เลือกตำเเหน่งของตัวเอง เเละรับเทปไปติดบนเสื้อ

- เวลาเกิดอะไรขึ้น เช่น มีคนเสียงดัง คุณครูก็จะเตือนคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนนั้น (คนที่ติดเทปรูปปาก) เป็นต้น


กิจกกรรมนี้นอกจากจะช่วยให้เด็กๆ ทำงานกลุ่มได้ดีขึ้นผ่านการรับผิดชอบหน้าที่พิเศษของตัวเองให้ดีเเล้ว ยังช่วยเเบ่งเบาภาระคุณครูได้อีกด้วย :)


3.Brain writing



เพราะการมีส่วนร่วมไม่ใช่การพูดเสมอไป

เทคนิคที่สามที่จะมานำเสนอคือ Brain writing คือเทคนิคการระดมสมองผ่านการเขียน


คุณครูสามารถลองให้ทุกคนเขียนไอเดียของตัวเองลงบนกระดาษ Post-it ก่อน

เเล้วค่อยเอาไอเดียมาเเชร์กันระหวางสมาชิกในกลุ่มผ่านการเเปะไว้กระดาษ Post-it นั้นในที่ที่ทุกคนในสมาชิกจะเห็น


วิธีนี้นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้เด็กๆคิดเเละมีส่วนร่วม เเละทำให้ทุกคนได้เเสดงความคิดเห็นบนพื้นที่ของตัวเองเเล้วยังทำให้เด็กๆเห็นว่าทุกๆความคิดเห็นจากทุกคนมีคุณค่าเท่ากันอีกด้วย เพราะไอเดียของทุกคนจะต้องอยู่บนกระดาษที่ถูกเเปะไว้ในพื้นที่กลางเเละไม่มีไอเดียไหนถูกหลงลืมอย่างเเน่นอน


เพิ่มเติม: คุณครูอาจเพิ่มเติมกฏในการทำกิจกรรมว่า ห้ามเด็กๆตัดไอเดียกัน โดยให้เด็กๆระดมสมองด้วยกันให้เสร็จก่อนค่อยประเมิน ถก เเละวิเคราะห์ไอเดียร่วมกันทีหลัง เพื่อให้เด็กๆไม่รู้สึกเสียความมั่นใจที่ไอเดียของตนถูกตัดออกจนอาจทำให้ไม่กล้าเเสดงความคิดเห็นอีก


4.ภาษามือ



บางครั้ง เวลาเด็กๆเห็นด้วยกับไอเดียของเพื่อนๆ เด็กๆอาจจะพูดออกมาว่า

‘เราชอบไอเดียเธอมาก เห็นด้วยสุดๆ’ เเละอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งอาจต่อด้วยการพูดประเด็นอื่นๆอีกด้วย

เเละเเม้ว่ามันจะช่วยสร้างความมั่นใจ ไฮไลต์เนื้อหา หรือต่อยอดไอเดียของผู้พูด

เเต่อาจรบกวนทำให้สิ่งที่เพื่อนพูดอยู่สะดุด จนอาจก่อให้เกิดการตกหล่นของข้อมูลเเละเสียเวลามากขึ้นได้


คุณครูสามารถช่วยให้เด็กๆได้มีปฎิสัมพันธ์เเละเเสดง non-verbal support กับสิ่งที่เพื่อนพูดอยู่ในพื้นที่ตัวเองได้ ผ่านการใช้ภาษามือ


คุณครูสามารถออกเบบเเละตกลงท่าทางร่วมกับเด็กๆได้เลยว่าอยากจะให้ทุกคนเเสดงท่าทางอย่างไรเมื่อเห็นด้วยกับเพื่อนที่พูดอยู่


ยกตัวอย่าง

ชูนิ้วโป้งกดไลค์ เมื่อเห็นด้วย

ทำมือเป็นรูปหัวใจ ถ้าเห็นด้วยสุดๆ


วิธีนี้นอกจากจะทำให้เด็กๆได้มีปฎิสัมพันธ์กับผู้พูดเเละเนื้อหา ได้support ความคิดเห็นเพื่อนอย่างไม่สะดุดเเล้ว

ยังช่วยให้การทำงานกลุ่มมีสีสันมากขึ้นอีกด้วย!


5.warm-up ก่อนเข้ากลุ่ม



คุณครูอาจจะมีกิจกรรม warm-up หรือ อุ่นเครื่องให้เด็กๆก่อนที่จะเเยกเข้ากลุ่มของตัวเอง เพื่อให้เด็กๆคง energy เเละ mindset เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมที่ได้จากการทำกิจกรรมอุ่นเครื่องไปใช้ในการทำงานกลุ่ม

วันนี้กิจกรรมอุ่นเครื่องที่พวกเราจะมานำเสนอคือ


1. การตั้งคำถามปลายเปิด

คุณครูตั้งคำถามให้เด็กๆทุกคนฝึกตอบเเละมีส่วนร่วมด้วยกันทุกคน

โดย คำถามที่คุณครูตั้งจะต้องไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด เพื่อให้เด็กๆกล้าตอบความคิดของตัวเอง

ซึ่งคำถามเหล่านั้นอาจเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เรียนหรือเป็นความคิดเห็นก็ได้


เช่น

Adjective 3 คำเเรกเกี่ยวกับ กรุงเทพ ที่เด้งขึ้นมาในหัวคืออะไรบ้าง

ให้คะเเนน 1- 10 เกี่ยวกับความสะอาดของห้องเรียน พร้อมบอกเหตุผล

เด็กๆคิดว่า การเล่นเกมส์ดีหรือไม่ดีอย่างไรบ้าง


เพิ่มเติม:

1. นอกจากการให้เด็กๆถกกันเป็นกลุ่มใหญ่ คุณครูอาจลองเริ่มให้เด็กๆจับคู่คุยกัน จากนั้นนำคู่ 2 คู่มาเจอกันแล้วแชร์ประเด็น ให้วงใหญ่ไปเรื่อยๆ ก็สนุกเเละน่าสนใจไปอีกเเบบค่ะ

2. การให้เวลาเด็กๆได้คิดก่อน จะช่วยลดความกังวลที่จะคิดคำตอบไม่ทันของเด็กๆบางคนลงได้

คุณครูอาจให้เวลาเด็กสัก 5-10 นาที ในการเขียนคำตอบลงในกระดาษก่อน เพื่อให้เด็กๆมีเวลารวบรวมเเละวิเคราะห์ความคิดตัวเอง ก่อนตอบออกมา


2. เกมส์ “เฮ้ย เจ๋งว่ะ!”

อีกหนึ่งกิจกรรมที่ต่อยอดมาจากไอเดียเดียวกัน เเต่เพิ่มเติมคือเน้นย้ำเรื่องการต่อยอดไอเดียซึ่งกันเเละกันมากยิ่งขึ้น

วิธีการเล่น

- ให้เด็กๆจับกลุ่ม 5-7 คน

- คุณครูตั้งคำถามปลายเปิด 1 ข้อ เช่น เราจะช่วยกันทำให้สนามเด็กเล่นสนุกขึ้นได้อย่างไร, เราจะมีสุขภาพที่ดีไปด้วยกันอย่างไรดี, วันเกิด ผอ. ปีนี้เราจะเซอร์ไพรส์อะไรกันดี

- ผลัดกันเสนอไอเดีย (โดยไม่ต้องเรียงลำดับ) โดยก่อน เสนอไอเดียของตัวเองต้องพูดว่า “เฮ้ย เจ๋งว่ะ” ให้กับเพื่อนคนก่อนหน้าด้วย

- ช่วยกันเสนอไอเดียไปเรื่อยๆจนหมดเวลา

- คุณครูไล่ถามทีละกลุ่มว่า สุดท้ายเเต่ละกลุ่มได้ไอเดียอะไรบ้าง


กิจกรรมทั้งสองกิจกรรมนี้ ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการมีส่วนร่วมในงานกลุ่ม

ช่วยให้เด็กๆกล้ามีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง

ช่วยให้เด็กๆเข้าใจว่าความหลากหลายเเละความเเตกต่างคือข้อดีของการได้ทำงานร่วมกันกับคนอื่น

เเละยังช่วยให้เด็กๆฝึกการคิดวิเคราะห์อีกด้วย


6.เปิดใจ



การทำงานเป็นกลุ่มคือการทำงานกับคนหลายคน เด็กๆเเต่ละคนต่างก็มีนิสัยใจคอ บุคลิก หรือสไตล์การทำงานที่เเตกต่างกัน การได้ปรับจูนกันก่อนเริ่มงานด้วยกัน จะช่วยให้เด็กๆเข้าใจกันมากขึ้น เเละลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นนภายหลังได้


พวกเราอยากนำเสนอวิธีการง่ายๆที่ทำให้เด็กๆปรับจูนกันก่อนคือ ให้เด็กๆ บอกข้อดี ข้อเสีย ของตัวเองก่อนเริ่มทำงาน เพื่อให้เด็กๆเปิดใจ เข้าใจ เเละยอมรับกันมากขึ้น เช่น ข้อเสีย ฉันเป็นคนหน้านิ่งๆนะ บางคนจะคิดว่าไม่พอใจ แต่จริงๆไม่มีอะไรเด้อ หรือ ฉันเป็นคนทำงานละเอียดมาก เเต่บางทีอาจช้าไปบ้าง ถ้าช้ามากเกินเข้ามาเร่งได้เลย ไม่มีปัญหา


หลังจากทุกคนในกลุ่มเข้าใจตัวตนของสมาชิกเเต่ละคนมากขึ้นเเล้ว

จะช่วยทำให้การทำงานกลุ่มสบายใจมากขึ้น เเละเกิดปัญหาผิดใจกันน้อยลง


----------------------------------------------------


📌insKru เชื่อว่ายังมีไอเดียอีกเยอะแยะรอคอยให้คุณครูทุกท่านได้นำมาแบ่งปัน ใครมีอะไรดีๆ อย่าปล่อยให้หล่นร่วงไปตาม Timeline หรือหายไปกับห้องเรียนใดห้องเรียนหนึ่ง มาร่วมสร้างคลังไอเดียของครูจากครูเพื่อครู เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับห้องเรียนอื่นๆทั่วประเทศไทยกันค่ะ

✨ Comment ไอเดียไว้ใต้ facebook post หรือ กระทู้นี้

✨มาแปะไอเดียไว้ใน -> ครูปล่อยของ (เพื่อนพลเรียน)

✨มาแปะไอเดียไว้ใน -> www.inskru.com

.

🤗อย่าลืมกดติดตามเพจ inskru ยังมีไอเดียรออยู่อีกเพียบค่า 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(17)
เก็บไว้อ่าน
(20)