icon
giftClose
profile

HOW-TO ปลูกไร่ชาส่งเสริม Growth Mindset

50380
ภาพประกอบไอเดีย HOW-TO ปลูกไร่ชาส่งเสริม Growth Mindset

วิธีส่งเสริมให้ทุกห้องเรียนเต็มไปด้วย Growth Mindset ที่จะเตรียมความพร้อมเหล่านักเรียนเมื่อต้องเผชิญโลกอันกว้างใหญ่ ให้พวกเขาเข้าใจว่า ความรู้ ความสามารถ พัฒนาได้ผ่านการฝึกฝน และสามารถก้าวข้ามผ่านทุกอุปสรรคในชีวิตได้เสมอด้วย Growth Mindset


Mindset คือ ระบบความคิด ประกอบไปด้วย มุมมอง ความคิด ความเชื่อ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและการใช้ชีวิต



มีด้วยกัน 2 ประเภทคือ

1.Fixed Mindset = เชื่อว่าสติปัญญา ความสามารถ มีเท่าไหร่ก็เท่านั้น โดยจะมองความผิดพลาด คือ ความล้มเหลว แต่อย่างไรก็ตาม ข้อดีของFixed Mindsetช่วยให้นักเรียนปฏิบัติตามกฎระเบียบเสมอ ไม่ออกนอกกรอบที่เคยได้เรียนรู้ และใช้ชีวิตใน safe zone


2.Growth Mindset = เชื่อว่าสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ด้วยการฝึกฝน และมองอุปสรรคเป็นโอกาส หรือช่องทางในการพัฒนา ทว่าก็มีข้อจำกัดในการใช้ Growth Mindsetเช่นกัน คือ คนเราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้มันมากเกินไป เช่น การโหมออกกำลังกายหนักเกินกว่าที่ร่างกายจะรับไหว ส่งผลทำให้ได้รับบาดเจ็บในที่สุด


จาก Mindset ทั้ง2ประเภทที่กล่าวข้างต้น Fixed Mindset จะดูเหมือนเป็นวิธีคิดที่ตีกรอบนักเรียนมากกว่า แต่หากว่านำมาใช้ในสถานการณ์ที่ถูกต้อง ก็จะสามารถเป็นประโยชน์ได้เช่นกัน


ด้วยข้อดีของ Growth Mindset นี้เอง insKruจึงแนะนำให้คุณครูสร้างห้องเรียนที่เต็มไปด้วยการคิดบวก และส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้ใช้ Growth Mindset ซึ่งจะติดตัวนักเรียนไปปรับใช้ได้กับทุกสถานการณ์



การส่งเสริมห้องเรียนด้วย Growth Mindset จะต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเต็มที่จากผู้อาศัยในไร่ชาทั้งสอง



ซึ่งกระบวนการสร้างห้องเรียนที่เต็มไปด้วย Growth Mindset นั้น จะต้องอาศัยกำลังภายในทั้งหมดที่คุณครูมี เพื่อผลักดันให้เจ้าหนอนน้อยเติบโตภายใต้การประคับประคองของคุณครู กล่าวคือ คุณครูจะคอยดูแลอยู่ในระยะห่างมากกว่าการเข้าไปดูแลแบบประชิดตัว ด้วยเทคนิคต่างๆเหล่านี้ :)



สิ่งแวดล้อมปลอดภัย หนอนน้อยอุ่นใจ เติบโตไปด้วยกัน


การสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน ทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ:

  • เพื่อให้หนอนน้อยไม่กลัวที่จะผิดพลาด

สามารถทำได้ด้วยการให้คำมั่นสัญญา ว่าถ้าหากเกิดอุปสรรคหรือล้มเหลว หนอนน้อยจะไม่ถูกคุณครูดุหรือบ่น


  • Challenging Task

การให้แบบฝึกหัดที่มีความท้าทายแต่ไม่เกินความสามารถของหนอนน้อยจนเกินไป จะทำเกิดแรงผลักดันที่อยากจะทำให้สำเร็จเพราะเชื่อว่าตนเองสามารถทำได้จริงๆ


  • แนะให้มองความผิดพลาดเป็น โอกาสในการพัฒนา

ทุกๆการเดินทางมักมีอุปสรรคเสมอ คุณครูสามารถให้กำลังใจและสนับสนุนการพยายามครั้งใหม่ของหนอนน้อย สร้างความอุ่นใจว่าพวกเขาไม่ได้เผชิญปัญหาอยู่ลำพัง


  • ทุกคนเรียนรู้ได้ไม่จำกัด

เสนอแนะมุมมองใหม่ให้หนอนน้อยเห็นว่า ในทุกๆเรื่องยังมีเรื่องราวต่างๆแอบแฝงอยู่อีกมาก รอคอยให้ได้เรียนรู้


  • ไม่มี “ไม่รู้” มีแต่ “ยังไม่รู้” (the power of YET)

คุณครูอาจเคยประสบปัญหานักเรียนชอบพูดว่า "ไม่รู้" จึงควรใช้พลังของคำว่า "ยัง" เข้ามาช่วย ด้วยการกระตุ้นให้หนอนน้อยได้ลงมือค้นคว้าด้วยตนเองก่อน แล้วจึงช่วยเสริมในสิ่งที่เหล่าหนอนน้อยตกหล่นไป


  • ยิ่งช่วยกันเรียน ยิ่งเรียนรู้ได้มาก

กระตุ้นการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ส่งเสริมทักษะการสื่อสารระหว่างหนอนน้อยเอง และสร้างความกล้าให้หนอนน้อยแสดงความคิดเห็นกับคุณครูอย่างไม่กลัวที่จะถูกตำหนิ


  • ยิ่งมุ่งมั่น ยิ่งใกล้เป้าหมาย

"ความพยายามไม่เคยทำร้ายสักคนที่ตั้งใจ" ประโยคเด็ดจากเนื้อเพลงของไอดอลกรุ๊ปชื่อดัง BNK48 สามารถนำมาใช้กับทุกสถานการณ์ได้เสมอ ซึ่งคุณครูสามารถยกตัวอย่างเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจของผู้ประสบความสำเร็จมาเล่าให้นักเรียนฟัง ยิ่งเป็นเรื่องราวของคุณครูเอง เจ้าหนอนคงให้ความสนใจไม่น้อยเลยหล่ะค่ะ


ชมที่ 'กระบวนการและความพยายาม' มากกว่าชมที่ผลลัพธ์


การเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง จะเกิดขึ้นเมื่อคุณครูเลือกชื่นชมระหว่างการเดินทางของหนอนน้อยมากกว่าโฟกัสที่ปลายทางของพวกเขา เพื่อให้นักเรียนรู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ได้รับจากความพยายาม ซึ่งเป็นประโยชน์ได้อีกนอกจากผลงานของพวกเขา


ตัวอย่างวิธีกระตุ้นการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง

  1. นักเรียนสร้างการเรียนรู้ ครูกระต้นและส่งเสริม - คอยหาว่านักเรียนต้องการเรียนรู้อะไร และปรับให้เข้ากับเนื้อหาการสอน หรือจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้และลงมือทำ สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของความคิด ทำให้หนอนน้อยอยากที่จะเรียนรู้โดยไม่รู้สึกถูกยัดเยียด
  2. ประเมินสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาต่อเนื่อง ด้วยการซักถาม
  • คำถาม (questioning)

► เลือกใช้คำถามง่ายๆ ประเมินความเข้าใจในบทเรียนของหนอนน้อย

เช่น เรื่องที่เรียนวันนี้เป็นประโยชน์กับเรายังไง? วันนี้ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มบ้าง?


  • อภิปรายกระบวนการ (process monitoring)

► การให้หนอนน้อยแจกแจงกระบวนการต่างๆ ถือว่าเป็นการให้นักเรียนทบทวนการเรียนรู้อีกครั้ง และเพิ่มทักษะการสื่อสารเช่นกัน ซึ่งคุณครูอาจได้มีโอกาสเสริมความรู้ใหม่ๆเพื่อพัฒนาหรือช่วยเสริมสิ่งที่ยังสามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้

เช่น ทำยังไงให้ได้คำตอบนี้มา? แสดงวิธีทำให้เพื่อนๆดูหน่อย, ต้องรู้อะไร ต้องทำอะไรบ้าง งานนี้ถึงจะสำเร็จ?


  • กระตุ้นให้คิดถึงวิธีการใหม่ๆ (alternative thinking)

► เสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ โดยในขั้นตอนนี้สามารถเปิดช่องทางให้หนอนน้อยแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะแปลกแหวกแนวแค่ไหนก็ตาม หากคุณครูเห็นช่องทางในการนำความคิดเห็นของนักเรียนมาปรับใช้ได้จริง พวกเขาก็จะไม่รู้สึกกลัวในการแสดงความคิดเห็นและกล้าแสดงออกมากขึ้น หากความคิดเห็นของนักเรียนไม่เหมาะกับวิธีการนั้นจริงๆ สามารถหาตัวอย่างอื่นๆที่ความคิดเห็นนั้นไปประยุกต์ใช้ได้

เช่น นอกจากวิธีนี้ มีวิธีไหนได้อีก?


ให้ข้อเสนอแนะอย่างมีคุณภาพ


การให้ข้อมูลเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการจดจำสิ่งที่ไม่ถูกต้องด้วยการเสนอแนะทั้งในรูปแบบ เชิงวาจา และ เชิงประจักษ์ กล่าวคือ

  1. การแสดงความคิดเห็นด้วยคำพูดจากทั้งคุณครูเองและนักเรียนคนอื่น - เพื่อให้หนอนน้อยได้ทราบมุมมองที่แตกต่าง โดยมีข้อควรระวัง คือ การเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมและไม่กระทบจิตใจของหนอนน้อยในทางลบ
  2. การแสดงความคิดเห็นด้วยเหตุผล - วิธีการเชิงประจักษ์คือวิธีที่หนอนน้อยสามารถเห็นภาพสิ่งที่ดีและสิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไข้ได้เห็นภาพมากที่สุด คุณครูสามารถชี้แนะด้วยการยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงหรือใช้การเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจง่ายและเห็นภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ เทคนิค Visual Thinking เพื่อให้เห็นภาพร่วมกันได้อีกด้วย


  • ลักษณะ feedbackที่ดี
  1. มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อพัฒนา
  2. feedbackที่พฤติกรรม/กระบวนการ not ที่ตัวบุคคล
  3. ให้ข้อมูลเฉพาะเจาะจง เป็นรูปธรรม อ้างอิงตามสิ่งที่เห็น
  4. เริ่มต้นจากสิ่งที่ทำได้ดี ตามด้วยสิ่งที่สามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
  5. ทำทันที


  • กระบวนการ feedback

ผู้รับ: ประเมินตนเองก่อน

ผู้ให้: สรุปประเด็นที่ผู้รับทำได้ดี และ ประเด็นที่สามารถปรับให้ดีได้มากขึ้น

ผู้รับ : สรุปประเด็น และซักถามในสิ่งที่ไม่เข้าใจ

ผู้ให้ - ผู้รับ: ร่วมกันวางแผนพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากสิ่งที่ทำได้จริง

1-2ประเด็น


  • กระตุ้นให้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายขึ้น หากบรรลุเป้าหมายเดิมแล้ว

เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง


ชัดเจนในเป้าหมาย มั่นใจในนักเรียน


เทคนิคที่สำคัญที่สุด คือ การสื่อสารให้นักเรียนเห็นภาพเป้าหมายชัดเจน ด้วยการ

  • ใช้ภาษาเข้าใจง่าย เป็นรูปธรรม

ex. คาบนี้พวกเราจะเรียนเรื่อง….. ,หลังจากจบคาบเราจะสามารถตอบคำถาม.....นี้ได้


  • ในการสั่งงาน มีตัวอย่าง และเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน

ex. เกณฑ์การประเมิน: รายงานต้องประกอบด้วย 3 ส่วนคือ บทนำ/เนื้อหา/สรุป, ต้องระบุแหล่งที่มาข้อมูล, สะอาด เรียบร้อย


  • แสดงให้เห็นว่า ครูเชื่อมั่นว่านักเรียนจะไปถึงเป้าหมายได้

ex. “เรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจมากหน่อย แต่ครูมั่นใจว่าไม่เกินความสามารถและความพยายามของเราทุกคน”



การส่งเสริม Growth Mindset ในห้องเรียน จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ว่า "ความสามารถเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ด้วยการเรียนรู้คู่ความพยายาม" เพราะฉะนั้น นอกจากกำลังใจที่จะเป็นสิ่งสำคัญแล้ว เทคนิคต่างๆเหล่านี้ ก็สามารถนำมาใช้ประกอบการปลูกไร่ชาให้ใบชามีประโยชน์ต่อเจ้าหนอนน้อยได้มากยิ่งขึ้น

  • Secure Environment : Mistake is Interesting & Power of YET
  • Praising effort and the process
  • Constructive Feedbacks
  • Student’s Expectation


สุดท้ายก่อนจากลากัน insKru ขอให้คุณครูทุกท่าน "เชื่อมั่นในตัวเจ้าหนอนเสมอ" อย่าเพิ่งถอดใจกับเจ้าหนอนกันนะคะ เพราะผีเสื้อแต่ละตัวสามารถเติบโตมีสีสันที่แตกต่างกัน และแน่นอนว่าแต่ละสีนั้น สวยงามที่สุดในแบบของเขาเอง :)


เพียงเท่านี้ เจ้าหนอนน้อยของคุณครูใบชา ก็พร้อมที่จะเติบโตและไม่ย่อท้อต่อทุกอุปสรรคที่จะเข้ามาในวันข้างหน้าอีกต่อไปแล้วหล่ะค่ะ



--------------------------------------------------------

ใครมีไอเดียอะไรอย่าปล่อยให้หายไปกับห้องเรียนใดห้องเรียนหนึ่ง มาส่งต่อไอเดียไปสู่ห้องเรียนอื่นๆเพื่อกระจายห้องเรียนแห่งความสุขกันค่ะ ที่...

✏website👉🏻www.inskru.com

✏Facebook Group👉🏻 ครูปล่อยของ(เพื่อนพลเรียน)

✏Tag เพจ inskru ให้ตามไปดู

#insKru #inspireKru

--------------------------------------------------------

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล:

ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา (Centre for Educational Psychology)


content by thirdヅ #GrowthMindset

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(20)
เก็บไว้อ่าน
(4)