สิ่งที่นักเรียนจะได้เรียนรู้
1. สิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัยจริงแล้ว นักเรียนยังจะได้มีการทบทวนตนเอง ว่าตัวเองนั้นมีคณะ/มหาวิทยาลัยที่สนใจหรือไม่ เด็กบางคนพอหาข้อมูลเตรียมสัมภาษณ์แล้วได้เจอข้อมูลคณะใหม่ๆที่น่าสนใจและเหมาะกับตัวเองมากกว่าก็มี อีกทั้งยังเป็นการฝึกให้นักเรียนนั้นได้มีการฝึกการหาข้อมูลด้วยตนเอง อีกทั้งยังสามารถเรียนรู้เทคนิคการพูดที่ถูกต้องซึ่งกันและกันในกลุ่มนักเรียนได้อีกด้วย
2. ประโยชน์ที่ได้รับจากตัวครู ก็จะเป็นการที่ครูนั้นก็ต้องสืบค้นข้อมูลที่หลากหลายและทันยุคสมัยเพื่อที่จะสามารถสัมภาษณ์นักเรียนได้ และยังสามารถเก็บข้อมูลนักเรียนเบื้องต้นเป็นรายบุคคล อีกทั้งยังสามารถช่วยเหลือให้คำปรึกษาหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่นักเรียนได้ด้วยครับ
อุปกรณ์
1. ใบสำหรับให้คะแนนสัมภาษณ์นักเรียน (อันนี้ครูสามารถอิงจากแบบสัมภาษณ์ของมหาวิทยาลัย หรือจะนำมาปรับใช้เป็นของตัวเองก็ได้เลยครับ)
ขั้นตอนการสอน
ขั้นนำ
1. กิจกรรมนี้จัดกับเด็กม.5 ในเทอมที่ 2 (ต้องมีปูพื้นการแนะแนวอาชีพตั้งแต่ม.4 เทอม 1 ก่อนมิเช่นนั้นนักเรียนจะไม่สามารถเลือกได้ว่าตัวเองนั้นสนใจศึกษาต่อด้านไหน รวมถึงการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบัน
2. ความสำคัญของการจำลองการสัมภาษณ์ เนื่องจากในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS นั้น ขั้นตอนการสัมภาษณ์จะมีอยู่ในทุกรอบ และถือเป็นตัวตัดสินได้ว่านักเรียนจะสามารถได้เข้าศึกษาต่อหรือไม่ และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นเช่น วันสอบแต่ละปีหรือรอบ TCAS ที่เปิดในแต่ละปีก็ไม่เหมือนกัน เพราะเหตุนี้ถ้าฝึกตอนม.6 และมีนักเรียนเป็นจำนวนมาก เด็กครูและเด็กก็อาจจะไม่สามารถซ้อมสอบสัมภาษณ์ได้ทันทุกคน ดังนั้นแล้วม.5 เทอม 2 นั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดที่นักเรียนจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสัมภาษณ์ อีกทั้งได้เป็นการทบทวนตนเองว่าตัวเองนั้นสนใจด้านไหน (เด็กบางคนเปลี่ยนใจจากความตั้งใจแรก เพราะพอไปหาข้อมูลเพื่อเตรียมสัมภาษณ์แล้ว แต่ไปเจอสาขาที่ตรงกับตัวเองมากกว่า ครูอาจจะเสริมช่องทางการหาข้อมูลเพื่อให้นักเรียนสามารถสืบค้นได้ด้วยตนเอง)
3. อธิบายวัตถุประสงค์ของกิจกรรม พร้อมกับอธิบายกติกาและเกณฑ์การผ่าน/ไม่ผ่าน (อันนี้ครูแต่ละท่านสามารถนำเกณฑ์นั้นไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมเลยครับ) ซึ่งเกณฑ์ของผมมีดังนี้ 1.คะแนนจะเต็ม 100 คะแนน นักเรียนต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 60 คะแนนจึงจะผ่าน 2.นักเรียนจะมีโอกาสแก้ตัวได้ไม่เกิน 3 ครั้ง (เผื่อในกรณีที่คะแนนรวมไม่ถึง 60 คะแนน,ไม่พร้อมสัมภาษณ์วันนี้ผมขอบายครับครู เป็นต้น) 3.ชี้แจงเกี่ยวกับคะแนนนั้นว่ามีด้านใดบ้าง อันนี้ครูอาจจะอิงแบบให้คะแนนการสัมภาษณ์จริงของมหาลัยใดก็ได้ เช่น ด้านความรู้เกี่ยวกับคณะ/มหาวิทยาลัย ด้านบุคลิกภาพ ด้านความมั่นใจในตนเอง เป็นต้น) 4.แสดงตัวอย่างการสัมภาษณ์ที่ถูกต้องอันนี้ครูจะอธิบายเอง เปิดคลิป หรือเรียกชุดสาธิตเป็นตัวอย่างก็ได้ครับ ชี้ให้เห็นว่าแบบที่ถูกและผิดนั้นเป็นอย่างไร เพื่อให้นักเรียนนั้นได้เตรียมความพร้อม จากนั้นแล้วให้เวลาหาข้อมูล 1 สัปดาห์ จากนั้นมาลุยกันเลยยย
ขั้นสอน
1. เตรียมจัดสถานที่สอบตามภาพ เอาโต๊ะมาไว้ตรงหน้าห้อง เพื่อให้เพื่อนๆที่รอสัมภาษณ์ได้เห็นเป็นตัวอย่าง (จริงๆแล้วจะไว้กลางห้องแล้วให้นักเรียนที่รอสัมภาษณ์นั่งล้อมวงก็ได้นะครับ ) แต่อันนี้ต้องวางกฎกติกาเล็กน้อย ว่าระหว่างสอบสัมภาษณ์นั้นคนที่รอห้ามก่อนกวนเพื่อนที่กำลังสัมภาษณ์ ถ้าจะให้กำลังใจก็เงียบๆ มิเช่นนั้นจะ....ก็ว่าไปครับ แนะนำว่าให้เด็กที่นั้งรอนั้นเขียน Feedback ให้แก่เพื่อนที่กำลังสัมภาษณ์ด้วยจะดีมาก เด็กจะได้มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
2. ขั้นตอนระทึกที่นักเรียนจะตื่นเต้นมาก ครูจะใช้วิธิการเรียกตามเลขที่ก็ได้ครับ แต่เด็กเลขที่ 1 อาจจะบอกว่าไม่แฟร์งั้นได้ จับฉลากครับ เพื่อให้เด็กนั้นมีความพร้อมตลอดเวลาว่าตัวเองนั้นมีโอกาสโดนได้ทุกเมื่อ (มันจะฮามากตอนจับฉลากแล้วไม่ใช่เลขที่ของตัวเอง เด็กบางคนจะดีใจออกนอกหน้าสุดๆ รอดแล้วววว)
ขั้นสรุป
1. เมื่อสัมภาษณ์เสร็จแล้ว รวมคะแนนพร้อมให้ Feedback แก่นักเรียนไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ให้ชี้จุดดี/จุดที่ควรปรับปรุง อาทิเช่น พูดไม่เร็วเกินไปชัดถ้อยชัดคำ มีอาการประหม่า ไม่สบตา เป็นต้น ตลอดจนวิธีแก้ไขเพื่อเตรียมการสัมภาษณ์ครั้งต่อไปให้ดียิ่งขึ้นถ้าไม่ผ่าน และเพื่อให้เพื่อนๆที่รอสัมภาษณ์ได้ศึกษาเรียนรู้และนำมาปรับใช้กับตัวเอง และอย่าลืม!! ให้เพื่อนๆส่ง Feedbackให้เพื่อนที่สำภาษณ์เสร็จได้อ่านด้วยนะครับ จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละมุมมองนอกเหนือจากของครู ทำแบบนี้ให้แก่นักเรียนทุกคนจนครบครับ
หมายเหตุ: กิจกรรมห้องจำลองการสัมภาษณ์นี้เหมาะสำหรับนักเรียนที่มีการปูพื้นฐานด้านการแนะแนวอาชีพมาตั้งแต่ม.4 ครับ มิเช่นนั้นนักเรียนจะไม่ทราบข้อมูลและความสนใจของตัวเองเพียงพอ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!