icon
giftClose
profile

ทำไมคณิตถึงกลายเป็นเรื่อง "สยอง" ของเด็กหลายคน?

72942
ภาพประกอบไอเดีย ทำไมคณิตถึงกลายเป็นเรื่อง "สยอง" ของเด็กหลายคน?

เมื่อการสอนคณิตศาสตร์คือ "การสอนแก้ปัญหา" มากกว่า "การสอนวิธีแก้ปัญหา"

ทำห้องเรียนให้เป็นมิตรกับเด็กมากขึ้นกันเถอะ ตอนที่ 2


เมื่อได้ยินคำว่า #คณิตศาสตร์ หลายคนมักจะมีภาพของโจทย์ การแก้ปัญหา วิธีทำ และการคำนวณ ผุดขึ้นมาในหัวแทบจะทันทีทันใด และมีภาพจำในแง่ของความยากและความกล้ำกลืนฝืนทนตามมา


ถ้าถามเด็ก ม.ปลาย ที่กำลังจะสามารถเลือกชีวิตการเรียนของตัวเองได้ว่าอยากจะเรียนต่อคณะไหน มักจะได้ยินคำตอบว่า #คณะอะไรก็ได้ที่ไม่มีคณิตศาสตร์


นี่คือความล้มเหลวของกระบวนการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียน ที่ไม่สามารถซื้อใจเด็กๆได้


จริงอยู่ที่ไม่มีวิชาไหนหรอกที่เด็กจะชอบทุกคน แต่ก็ไม่ควรจะเป็นวิชาที่ #คนเกลียดมากมาย แบบที่เป็นอยู่


…………………


คณิตศาสตร์คือการแก้ปัญหา ในคาบเรียนจึงมักจะมีโจทย์ มีปัญหา และมีการแก้ปัญหาตลอดทั้งคาบ


แต่ปัญหาของการสอนคณิตศาสตร์คือเรามักจะ #สอนวิธีแก้ปัญหา มากกว่า #สอนการแก้ปัญหา


…………………………..


การ #สอนวิธีแก้ปัญหา มักจะมาพร้อมกับโจทย์ตัวอย่าง 1 ข้อ พร้อมบอกขั้นตอนที่ใช้จัดการกับโจทย์ข้อนั้น แล้วทำให้ดู จากนั้นจะมีโจทย์ตามมาอีกหลายข้อ แล้วให้เด็กๆทำตามขั้นตอนที่ครูกำหนดให้ เมื่อเห็นว่าเด็กทำตามได้แล้วก็ถือว่าการสอนประสบความสำเร็จ


ตัวอย่างง่ายๆ คือ 83 - 15 แม้ว่าเขาจะไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมต้องยืม 8 มาเพิ่มให้ 3  ทำไม 3 ถึงกลายเป็น 13 ทำไม 8 เหลือ 7 หรือแม้แต่ ทำไมต้องทำวิธีนี้ แต่ถ้าทำตามขั้นตอนที่ครูกำหนดไว้ได้ ก็ถือว่าผ่าน


สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กๆ เข้าใจว่าคณิตศาสตร์คือการจำขั้นตอนให้ได้ แล้วทำตามขั้นตอนนั้นให้ถูกต้อง



แบบแรก คือคนที่จำขั้นตอนและทำตามได้ เขาจะภาคภูมิใจ รู้สึกว่าตัวเองเก่งคณิตศาสตร์ แต่จริงๆแล้วแก้ปัญหาไม่เป็น ขาด Number Sense, Spatial Sense และ Mathematical Thinking และจะมีปัญหาในการเรียนระดับที่สูงขึ้น 


แบบที่สอง คือคนที่คิดแบบอื่น หรือไม่ฟิตอินกับขั้นตอนของครู จะสูญเสียการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self Esteem) รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งคณิตศาสตร์ รู้สึกว่าคณิตศาสตร์ไม่มีเหตุผล ไม่ควรค่าแก่การเรียน และค่อยๆ ถอนตัวเองออกจากคณิตศาสตร์ ทั้งๆ ที่อาจจะมี Number Sense, Spatial Sense และ Mathematical Thinking มากก็ได้


แบบที่สาม คือคนที่สงสัยว่าทำไมต้องทำแบบนี้ ทำไมต้องมีขั้นตอนแบบนี้ และหาเหตุผลนั้นเจอ กลุ่มนี้จะมี Number Sense, Spatial Sense และ Mathematical Thinking สูง เขาจะภาคภูมิใจที่หาคำตอบให้กับความสงสัยของตัวเองได้ ความรู้สึกต่อคณิตศาสตร์ของเขาแทบจะไม่ต่างจากเด็กแบบแรก แต่กลุ่มนี้จะเรียนในระดับที่สูงขึ้นได้ดี


……………………….


เรารู้กันอยู่แล้วว่าปัญหาหนึ่งปัญหามีวิธีแก้หลายแบบมาก อาจเป็นร้อยวิธี ถ้าเรามุ่งสอนวิธีแก้ปัญหา อาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตกว่าจะรู้จักวิธีแก้ปัญหาทั้งหมดสำหรับปัญหาหนึ่งๆ ฉะนั้นสิ่งสำคัญ คือวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังวิธีการเหล่านั้นมากกว่า


การ #สอนการแก้ปัญหา เป็นการชวนให้เด็กๆ วิเคราะห์และอธิบายปัญหาที่เขาเจอ โดยอาศัยความรู้และความเข้าใจที่เขามี แล้วเปิดโอกาสให้เขาหาหนทางเอาความรู้และความสามารถที่มีไปใช้ ผ่านการตั้งคำถามของครูที่ชวนให้เด็กๆ สงสัยในวิธีคิดของตนเอง และหาเหตุผลเชิงข้อมูลเพื่อยืนยันวิธีการของตนเอง


เสร็จแล้วลองให้เด็กๆ เขียนขั้นตอนการทำงานของตัวเอง พร้อมอธิบายถึงเหตุผลที่มาของแต่ละขั้นตอน โดย ไม่จำเป็นต้องจำกัดรูปแบบ อาจเขียนเป็นความเรียง เขียนเป็นข้อๆ วาดเป็นรูป หรือจะวาดเป็นแผนผัง ก็ได้


โดยธรรมชาติแล้ว เด็กๆ จะชอบการแข่งขัน


ในห้องเรียนแบบนี้เด็กๆ จะมองว่าการแข่งขันคือการหาวิธีการที่ไม่เหมือนคนอื่น (แต่ถ้าเป็นห้องเรียนที่ถูกกำหนดวิธีทำมาแล้ว การแข่งขันคือการทำเสร็จเร็วกว่าคนอื่น)


ถ้าเด็กในห้องแก้ปัญหาเดียวกัน ด้วยวิธีการของตนเอง วิธีการเหล่านั้นอาจเหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง และแม้ว่าทั้งห้องจะได้แก้ปัญหาแค่ไม่กี่ปัญหาในคาบนี้ แต่เขาจะได้กระบวนการคิดเพื่อแก้ปัญหาอย่างเต็มเปี่ยม ได้วิธีการหลายวิธีจากเพื่อนในห้อง ได้เห็นความหลากหลายของการแก้ปัญหา และเห็นคาบคณิตศาสตร์เป็นพื้นที่ปล่อยของที่ปลอดภัยสำหรับเขา


……………………………………


การสอนให้เด็กๆ ทำตามขั้นตอน วิธีการ หรือคำสั่งที่ถูกเขียนไว้แล้วโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เปรียบได้กับการฝึกให้ทำตาม algorithm ซึ่งเป็นงานของคอมพิวเตอร์


เด็กๆ ควรจะฝึกเป็นคนสร้าง algorithm ของตัวเองขึ้นมา แล้วให้คอมพิวเตอร์ดำเนินการให้ มากกว่าการฝึกทำตาม algorithm


ในอนาคตไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหา เขาต้องสร้างขั้นตอนการแก้ปัญหาที่เหมาะกับบริบทขึ้นมาเอง ผ่านการทำความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ แล้ววางแผนอย่างเป็นระบบ ไม่มีวิธีแก้ปัญหาที่เป็นสูตรสำเร็จตายตัว


การ “ท่องจำวิธีทำ” จึงไม่ใช่คณิตศาสตร์ และ คนที่บอกว่าตัวเองเกลียดคณิตศาสตร์ก็อาจไม่ได้เกลียดคณิตศาสตร์จริงๆ ก็ได้ เพราะเขาอาจจะยังไม่เคยสัมผัสเลยว่าคณิตศาสตร์เป็นอย่างไร


#มาทำคณิตให้เป็นมิตรกับเด็กกันเถอะ


เขียนโดย Kru Dento

ภาพประกอบโดย Chari Chari

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(7)
เก็บไว้อ่าน
(4)