icon
giftClose
profile

เมื่อเด็กๆทำผิด จัดการอย่างไรดี?

77793
ภาพประกอบไอเดีย เมื่อเด็กๆทำผิด จัดการอย่างไรดี?

ใช้ยาชวนคิด และยาชวนทำ


01

รักวัวให้ผูก รักลูก(ศิษย์)ให้__?

.

.

หากเติมคำในช่องว่างนี้ เชื่อว่าหลายคนคงมีคำตอบในใจ เพราะตั้งแต่จำความได้ “การทำโทษ” คือวิธีหนึ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน เมื่อเด็กๆ ทำผิดกฎกติกาบางอย่าง ที่ ‘คุณครู’ หรือ ‘โรงเรียน’ กำหนด ซึ่งการทำโทษนั้น อาจหยุดพฤติกรรมบางอย่างได้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่การันตีว่า เด็กๆจะไม่ทำผิดซ้ำสอง หรือเปลี่ยนมุมมองความคิดได้จริงๆ

.

.

การทำโทษส่งผลอย่างไรต่อเด็ก ?

หากเปรียบ 'การทำโทษ' เป็นเหมือน 'ยารักษาการทำผิด' ก็ต้องยอมรับว่ายาชนิดนี้มีผลข้างเคียงกับเด็กๆเช่นเดียวกัน เพราะสิ่งที่เด็กเรียนรู้คือ ‘การหมดหวังที่จะควบคุมพฤติกรรมตนเอง’ เพราะการควบคุมพฤติกรรมทุกครั้ง ล้วนมาจากการลงโทษบางอย่าง ไม่ได้มาจากการควบคุมตนเอง และยังเป็นการตอกย้ำ ‘ความรู้สึกไม่มีคุณค่า’ ให้กับเด็กๆ เช่น การพูดว่า ‘เธออีกแล้วเหรอ’ หรือ ‘เด็กหลังห้องก็ได้แค่นี้แหละ’ คล้ายกับการติดป้ายให้เด็กๆ ว่าเขาไม่สามารถที่จะพัฒนาตนเองได้ ดังนั้นการทำโทษจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเสียมากกว่า เพราะเด็กจะเรียนรู้แค่ว่า เขาต้องทำตามกฎ ซึ่งเป็นความรู้สึก ‘ยอมตาม’ มากกกว่า ‘ยอมรับ’ แต่จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ยอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ใช้วิธีการลงโทษ ? 

.

.

วันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณสมิต-อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ซึ่งได้มาตอบคำถามข้างต้น พร้อมกับพาเราไปทำความรู้จักกับเจ้า ‘ยารักษาการทำผิด’ ชนิดใหม่ที่ไม่ใช่ ‘การทำโทษ’ นั่นก็คือ ‘แคปซูลฝึกคิด’ และ ‘แคปซูลชวนทำ’


 

#แคปซูลฝึกคิด ป้องกันการทำผิดจากต้นเหตุ


 

เจ้าแคปซูลฝึกคิดนี้ เป็นวัคซีนป้องกันความผิดที่ต้นเหตุ โดยให้เด็กๆ ฝึกคิดถึงห่วงโซ่ของพฤติกรรม ว่าพฤติกรรมแต่ละแบบนั้น จะส่งผลกระทบกับใคร อย่างไรบ้าง อะไรคือถูก-ผิดสำหรับเขา จากนั้นจึงนำมาแบ่งปันกับเพื่อนๆ และคุณครู เพื่อออกแบบและสร้างกติกาการอยู่ร่วมกัน ซึ่งครูจะคอยทำหน้าที่เพียงตั้งโจทย์ หากรณีศึกษามาชวนคิด ชวนคุยอย่างสม่ำเสมอ และเริ่มทำในวันที่เด็กยังไม่ได้ทำอะไรผิด การคิด การตกผลึก จะเป็นภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง 

.

.

“เมื่อเด็กมีส่วนร่วมในกติกานั้นแล้ว เวลาจะบังคับใช้ จะไม่ใช่อำนาจครูอย่างเดียว เพราะทุกคนยอมรับร่วมกัน แล้วมันจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม (social learning) ที่จะช่วยเด็กรู้จักการจัดการความสัมพันธ์เวลาอยู่ร่วมกันได้ดีขึ้น” คุณสมิตบอกกับเรา ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ถูกผิด สร้างความรู้สึกรับผิดชอบต่อกฎกติกาที่ร่วมกันสร้างขึ้นมานั่นเอง 

.

.

คุณสมิตยังบอกอีกว่า การที่ครูยังมีความเชื่อในวิธีคิดจิตวิทยาแบบเก่าที่ว่า “คนทำผิดโดนทำร้าย แล้วหยุดพฤติกรรม หรือ คนทำดีได้รางวัล แล้วโอเค” ก็ต้องบอกว่าความเชื่อเหล่านี้ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่จริงสำหรับการพัฒนาพฤติกรรมของมนุษย์ มนุษย์จะพัฒนาพฤติกรรมได้ก็ต่อเมื่อ มนุษย์ได้ถูกเรียนรู้ ได้ถูกฝึกคิด ฝึกทำพฤติกรรมใหม่ๆ โจทย์ของครูจึงอาจไม่ใช่เรื่องของการออกแบบการลงโทษให้หลาบจำ หรือออกแบบรางวัลอยากทำ แต่โจทย์ในการส่งเสริมพฤติกรรม คือ การทำยังไงให้เขาได้ฝึกวิธีคิด จนเขาพบว่า โอเค แบบนี้เหมาะกับเขา เขาทำได้ แล้วพอเขาทำได้ คุณครูก็สามารถสนับสนุนให้เขาฝึกพฤติกรรมนั้นให้ดีขึ้นเรื่อยๆ 

.

.

ดังนั้นการสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ลองฝึกคิดและออกแบบข้อตกลงร่วมกัน รวมถึงการได้ฝึกมองหาคุณค่าหลักในตนเอง และคนอื่น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกัน (Protective factors) การทำผิดตั้งแต่ต้น และไม่เกิดการลงโทษตามมานั่นเอง


 

#แคปซูลชวนทำ เปลี่ยนความผิดพลาดเป็นการเรียนรู้


 

แคปซูลต่อมา ใช้แทนการทำโทษ ตักเตือน หรือตำหนิ เมื่อเด็กๆได้ทำผิดไปแล้ว เช่น เด็กชาย A ขโมยของแล้วถูกจับได้ ให้ลองเปลี่ยนจากประโยคคำสั่งหรือบอกเล่าอย่าง “ทำแบบนี้ไม่ดีนะ ห้ามทำอีก” หรือ “การโขมยของทำให้คนอื่นเดือนร้อนนะ” มาเป็นการ ‘ชวนทำ’ ด้วยโจทย์ เช่น “ครูมีโจทย์ที่อยากให้เธอช่วยครูหาคำตอบหน่อยว่า คนที่เคยถูกขโมยของ เขารู้สึกอย่างไรบ้าง ครูให้เป็นการบ้าน ลองไปสัมภาษณ์มา 10 คน แล้วเรากลับมาคุยกันว่าเป็นอย่างไร” และหลังจากเด็กกลับมาส่งการบ้าน ครูก็สามารถนำการบ้านมาเป็นสารตั้งต้นในการชวนเรียนรู้ และออกแบบทางออกที่ให้เด็กเสนอเองว่า “การกระทำของเขาที่ได้ทำไปแล้ว เขาจะแก้ไขอย่างไร?” การสื่อสารทั้งสองทาง จะทำให้เราเข้าใจความคิดและมุมมองของเด็กมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้ปลูกฝังกระบวนการคิดและการเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่นๆ(empathy) ให้กับเด็กๆได้อีกด้วย

.

.

.

เมื่อเด็กได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนความคิดไปในทางที่ดีแล้ว ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่แสดงออก การอยู่ร่วมกันโดยเคารพซึ่งกันและกัน เห็นอกเห็นใจกัน ก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เมื่อถึงเวลานั้น ‘การทำโทษ’ อาจไม่จำเป็นสำหรับคุณครูและเด็กๆอีกต่อไปก็เป็นได้


 ขอบคุณ 

insContent Creator โดย Khanoon Tanyarat 

insIllustrator โดย Kunyarat Juntatam

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(13)
เก็บไว้อ่าน
(6)