icon
giftClose
profile

ดวงดาวการอ่านหนังสือ

28601
ภาพประกอบไอเดีย ดวงดาวการอ่านหนังสือ

เด็กๆนักเรียนมักสงสัย เอ๊ะจะอ่านหนังสือเตรียมสอบยังไงให้ทัน? ไม่รู้จะเริ่มต้นจากไหน? จะจัดการเวลาอย่างไร? ให้เด็กสร้างดวงดาวของตัวเองเพื่อตอบโจทย์การอ่านหนังสือกันดีกว่าาาาาา

กิจกรรมดวงดาวการอ่านหนังสือ

ที่มากิจกรรม

มาจากการที่นักเรียนม.6 นั้นส่วนมากตอนเปิดเทอมใหม่ๆจะมีความกดดันเรื่องการเตรียมสอบหรือเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยอยู่แล้วลึกๆในใจ แต่บางคนยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร จะต้องทำอย่างไรก่อน หรือบางครั้งคุณครูเองก็อยากจะช่วยนะ แต่ก็กลัวว่าจะไม่สามารถตอบโจทย์นักเรียนทุกคน ทางที่ดีที่สุดคือ แผนการอ่านหนังสือนั้นต้องไม่มีรูปแบบตายตัว ต้องตรงตามสไตล์ของนักเรียนแต่ละคนจะดีที่สุด จึงเกิดเป็นกิจกรรมดวงดาวการอ่านหนังสือขึ้นมาครับ

ประเภทกิจกรรมแนะแนว : กิจกรรมและแนวส่วนตัวและสังคมและกิจกรรมแนะแนวการศึกษา

วัตถุประสงค์กิจกรรม

1.ให้นักเรียนได้สำรวจตารางชีวิตตัวเองใน 1 วันเพื่อที่จะกระตุ้นความตระหนักรู้ในตนเอง

2.ให้นักเรียนได้วิเคราะห์ตนเองเพื่อที่จะวางแผนการอ่านหนังสือได้ถูกต้องสอดคล้องต่อกิจวัตรประจำวันและตัวตนของตนเองมากที่สุด โดยเน้นความเป็นปัจเจคบุคคล

3.ให้นักเรียนได้ฝึกการจัดลำดับความสำคัญ สิ่งใดควรทำ ก่อน-หลัง หรือ จำเป็น-ไม่จำเป็น ตามแต่ละบุคคลจะประเมินให้สอดคล้องกับตัวเอง

4.ให้นักเรียนรู้ถึงคุณค่าของเวลา

ขั้นตอนดำเนินกิจกรรม

1.แจกกระดาษที่มีรูปวงกลม(หรือให้นักเรียนวาดเองก็ได้ครับ) โดยจะมี 2 วงหลักคือ วงปกติและวงฉุกเฉิน ส่วนวงที่เหลือนั้นก็คือจำนวนเดือนในแต่ละวง เช่นวงกลมเดือนมิถุนายน ไล่ไปยันถึงเดือนที่จะสอบ O-NET(สนามแรก),GAT-PAT,วิชาสามัญ (เนื่องจากของผมให้นักเรียนเริ่มทำตั้งแต่เดือนมิถุนายน นักเรียนก็จะมีวงกลมในแต่ละเดือนจะถึงการสอบสนามแรกทั้งหมด 8 วง รวมกับวงปกติ กับวงฉุกเฉิน เป็น 10 วงครับ)

2.ให้นักเรียนเริ่มเขียนจาก 2 วง แรกคือ วงปกติ และวงฉุกเฉิน โดยให้คำอธิบายพร้อมช่วยนักเรียนวิเคราะห์ โดยเขียนภาพวงกลมขึ้นกระดานพร้อมกับอธิบายนักเรียนไล่ตามลำดับโดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นและช่วยวิเคราะห์ดังนี้

2.1 เวลาตื่นนอน เวลาเข้านอน และเวลานอนในแต่ละวัน(กี่ช.ม.)

2.2 เวลาเดินทางไปและกลับร.ร. (นับเป็นช.ม)

2.3 เวลาเรียนและช่วงเวลาที่สามารถทบทวนบทเรียนได้ระหว่างวัน

ส่วนวงฉุกเฉินนั้นให้ช่วยเวิเคราะห์ช่วงเวลา2-3 เดือนก่อนสอบ ให้นักเรียนช่วยกันออกเความเห็นว่าควรจะลดเวลา(กิจกรรม)ใดที่ไม่จำเป็น หรือมีความสำคัญน้อย หรือพอจะแบ่งไปอ่านหนังสือหรือไปทำโจทย์เพื่อเตรียมตัวสอบได้ (เด็กมักจะเลือกเวลานอนที่ยอมนอนน้อยลง หรือละการเล่นเกมในช่วงพักทิ้งไป)

กระบวนการในช่วงนี้ถ้าได้ผลที่ผมทำมาเด็กบางคนถึงกับอุทานเสียงดังเลยว่า นี่ชีวิตเราใช้เวลาเดินทางไปกลับบ้าน 4 ช.ม.เลยเหรอ หรือบางคนก็พบข้อจำกัดในการอ่านหนังสือเล่นนอนดึกไม่ได้เลย หรือต้องช่วยงานที่บ้านหลังการกลับจากร.ร.ทำให้ไม่มีเวลาอ่านหนังสือ ซึ่งทางคุณครูก็ต้องให้คำแนะนำต่อไปแบบที่เข้ากับความแตกต่างหลากหลายของนักเรียน

ตัวอย่าง


3.การวางแผนการอ่านหนังสือด้วยดวงดาว 8 ดวง โดยผมให้นักเรียนเริ่มทำตั้งแต่เดือน มิ.ย. จนถึง เดือน ม.ค.ก็จะได้ 8 เดือนพอดี โดยให้นักเรียนแบ่งแต่ละเดือนเป็น 4 ช่อง แทน 4 สัปดาห์ต่อ 1 เดือน แล้วใส่รายละเอียดไปว่าจะทำอะไรบ้างในแต่ละสัปดาห์ของเดือนนั้นๆ ให้นักเรียนทำจนมาถึง 2 - 3 เดือนก่อนสอบที่จะเริ่มใช้ วงฉุกเฉิน ก็จะอธิบายเสริมไปว่าในช่วงนั้นควรเน้นการทำโจทย์หรือข้อสอบเก่าในปีก่อนๆมากกว่าการเริ่มอ่านทบทวนที่ควรทำตั้งแต่วงแรกๆ เป็นต้น (อันนี้ขึ้นอยู่กับคุรครูว่าะจเสริมเพิ่มเติมในส่วนไหนเป็นไอเดียให้นักเรียนครับ)

ตัวอย่าง


ขั้นสรุป

1.ให้ครูถามความรู้สึกของนักเรียนหลังจากที่ได้ทำดวงดาวการอ่านหนังสือ

2.ให้ครูแทรกไว้ว่าคนเรานั้นมีเวลาเท่ากัน เพียงแต่ว่าในแต่ละวันนั้นเราได้ใช้ทำอะไรไปบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง

3.การวางแผนการอ่านหนังสือที่ดีนั้นต้องไม่ลอกแบบใคร ควรจะมาจากการวิเคราะห์ตารางชีวิตของตนเองและลักษณะการอ่านของตนเองเป็นหลักเพราะไม่ใช่ว่าวิธิของคนอื่นนั้นจะใช้ได้ผลกับเราเสมอไป เพราะคนเรานั้นมีความแตกต่างกัน ต้องเป็นวิธีที่มาจากการวิเคราะห์ถึง Lifestly เรามากที่สุด ถึงจะได้ผลดีที่สุด

4.ให้กำลังใจนักเรียน (อันนี้ตามสไตล์คุรครูแต่ละท่านเลยครับ แต่ของผมนั้นจะบอกเขาไปว่าคนเรานั้นถ้ามีความพยายาม ถึงผลออกมาจะผิดหวังแต่มันก็ไม่ได้สูญเปล่า แต่ถ้าเราไม่ได้วางแผนอะไรเลย ปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างเสียเปล่านั่นสิถึงน่าเสียดาย ขอให้ทุกคนสู้เพื่อเป้าหมายของตนเอง เป็นต้นครับ)

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(7)