icon
giftClose
profile

ไทม์ไลน์: เรา ไทย โลก

43470
ภาพประกอบไอเดีย ไทม์ไลน์: เรา ไทย โลก

กิจกรรมชี้ชวนให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการเรียนประวัติศาสตร์ การมองสังคมหรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ผ่านมิติของอดีต

อุปกรณ์

  • เทปกาวสีที่ต้องการ
  • กระดาษปีพุทธศักราช
  • เหตุการณ์สำคัญของไทย (พิมพ์ลงบนกระดาษเอสี่)
  • เหตุการณ์สำคัญของโลก (พิมพ์ลงบนกระดาษเอสี่)
  • กระดาษขนาดครึ่งเอสี่


การจัดเตรียมกิจกรรม

  • จัดห้องเรียนให้มีพื้นที่โล่งพอสำหรับนักเรียนทั้งห้องมายืนได้ หรือหาพื้นที่โล่งที่เหมาะสม
  • ติดเทปกาวเป็นเส้นไทม์ไลน์บนพื้นห้อง โดยให้มีพื้นที่ฝั่งขวามากกว่าฝั่งซ้าย
  • ติดกระดาษบอกเลขพุทธศักราชลงบนเส้นไทม์ไลน์ (แนะนำให้ครอบคลุมตั้งแต่ปีที่นักเรียนเกิดจนถึงปัจจุบัน)
  • บริเวณฝั่งซ้ายของเส้นไทม์ไลน์ ติดเหตุการณ์สำคัญของไทยและโลกให้ตรงกับปีพุทธศักราชของเหตุการณ์นั้น ๆ


ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม

1) แจกกระดาษครึ่งเอสี่ให้นักเรียนคนละ 2 แผ่น

2) กระดาษแผ่นแรกให้เขียนวัน เดือน ปีเกิดของตัวเอง แผ่นที่สองให้เขียนเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เหตุการณ์ประทับใจ หรือประสบการณ์ครั้งแรกของตัวเอง พร้อมระบุปี พ.ศ. ของเหตุการณ์นั้น

3) ให้นักเรียนนำเอากระดาษทั้งสองแผ่นมาวางบนพื้นที่ฝั่งขวาของเส้นไทม์ไลน์ โดยวางให้ตรงกับพุทธศักราชที่เกิดเหตุการณ์นั้น

4) ให้นักเรียนยืนอยู่ใกล้ ๆ บริเวณแผ่นกระดาษแผนที่สอง (เหตุการณ์ประทับใจ)

5) ครูไปยืน ณ จุดที่เป็นปีปัจจุบัน ชวนนักเรียนให้ย้อนเวลากลับไปในอดีตว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างทั้งกับนักเรียนแต่ละคน สังคมไทยและสังคมโลก

6) ครูอ่านเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละปีทั้งของไทยและโลก เชิญชวนให้นักเรียนที่ยืนอยู่ในปี พ.ศ. นั้นเล่าให้ฟังว่าปีนั้นมีเหตุการณ์สำคัญใดที่ตัวเองเลือกเขียน

7) ครูเชื่อมโยงประเด็นเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้ากับประสบการณ์ของนักเรียน อย่างเช่น นักเรียนไปดูคอนเสิร์ตเกาหลีครั้งแรกในปีนี้ แล้วทราบหรือไม่ว่าใน พ.ศ. ... มีวงดนตรีเกาหลีมาเล่นคอนเสิร์ตครั้งแรกที่เมืองไทยด้วย / นักเรียนได้รับรางวัลจากการแข่งขันกีฬา ครูเชื่อมโยงให้เห็นถึงคนไทยที่ได้เป็นแชมป์โลกในการแข่งกีฬาต่าง ๆ

8) ครูชวนนักเรียนสนทนาไปจนถึงปลายสุดของเส้นไทม์ไลน์ ชวนนักเรียนสรุปถึงความสำคัญของการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ในมิติของอดีต ความสัมพันธ์ของตัวนักเรียนกับสังคม


ข้อควรสังเกต

  • ครูควรกระตุ้นให้นักเรียนย้อนนึกถึงเหตุการณ์ในหลายช่วงวัย เช่น สมัยประถม สมัยอนุบาล เนื่องจากนักเรียนมีแนวโน้มจะเขียนเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือเท่าที่ตัวเองนึกออก ทำให้เหตุการณ์จะกระจุกอยู่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหรือปีปัจจุบัน
  • นักเรียนที่นึกปีพุทธศักราชของเหตุการณ์ไม่ออก ให้ลองเทียบเคียงกับชั้นเรียนหรืออายุในตอนนั้น เพื่อให้คำนวณปี พ.ศ. ได้
  • การเตรียมเหตุการณ์สำคัญทั้งของไทยและของโลก ควรมีเหตุการณ์ที่หลากหลาย เช่น ความบันเทิง งานอดิเรก กีฬา สิ่งแวดล้อม การเมือง เพื่อให้เชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ที่หลากหลายของนักเรียนได้


การต่อยอดจากกิจกรรม

  • การเทียบศักราช
  • ความสำคัญของการมีหลักฐานเพื่อให้ทราบเรื่องราวในอดีต (หลักฐานทางประวัติศาสตร์)
รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(40)
เก็บไว้อ่าน
(22)