icon
giftClose
profile

ทำอย่างไร เมื่อเด็กเป็นโรคซึมเศร้า

28810
ภาพประกอบไอเดีย ทำอย่างไร เมื่อเด็กเป็นโรคซึมเศร้า

หลังจากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.นพ.พนม เกตุมาน หรือคุณหมอพนม จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ทำให้เราได้รู้จักกับวิธีการสื่อสารกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งเราขอเรียกวิธีนี้ว่า ‘การสื่อสารด้วยหัวใจ’ โดยมีทั้งหมด 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ เปิดใจ ฟังใจ และ เข้าใจ




01 เปิดใจ

ก่อนที่จะสื่อสาร อยากให้คุณครูลองเปิดใจทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้าก่อน เพราะหลายคนมักเข้าใจผิดว่าสาเหตุหลักของโรคนี้เกิดจากสภาพสังคม หรือทัศนคติของตัวเด็กเอง ทั้งที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยรองหรือปัจจัยเสริมเท่านั้น เพราะสาเหตุหลักที่แท้จริงมาจากสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ ทำให้การทำงานของสมองซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป จนเกิดอาการหรืออารมณ์ซึมเศร้าขึ้นมา 

.

.

ข่าวดีคือ เจ้าสารเคมีตัวนี้สามารถใช้ยารักษาให้หายขาดได้เหมือนกับอาการป่วยทางกายทั่วไป ดังนั้น สิ่งที่ครูทำได้ คือการสร้างความรู้สึกสบายใจให้กับเด็ก ทำให้เด็กๆมองว่าการไปพบจิตแพทย์นั้นไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นเรื่องปกติ เหมือนเวลาที่เราเป็นไข้หวัดแล้วต้องไปหาหมอนั่นเอง




02 ฟังใจ

วิธีการที่ดีที่สุดเพื่อช่วยเด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ใช่การปลอบใจหรือให้แง่คิดในการใช้ชีวิต แต่เป็น ‘การฟังด้วยหัวใจ’ นั่นคือ การเปิดใจฟังโดยไม่ติดสินถูกผิด ไม่ด่วนสรุปหรือห้ามความคิดของเด็ก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องคล้อยตามหรือเห็นด้วย เพียงแต่เป็นการฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เด็กๆคิดว่าเป็นอย่างไร อะไรทำให้รู้สึกอย่างนั้น และยอมรับว่าความคิดเหล่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้ 

.

.

จากนั้นอธิบายให้เขาเข้าใจว่า ว่าคิดได้นะ ไม่เป็นไร เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของอาการที่เกิดขึ้น เพียงแต่เด็กๆจะต้องรู้เท่าทันความคิดของตนเอง และให้กำลังใจว่าเขาสามารถจัดการหรือเอาชนะกับเจ้าความคิดเหล่านี้ได้ โดยครูพร้อมที่จะรับฟัง เป็นกำลังใจและอยู่ข้างกันเสมอ เพื่อให้เด็กๆ รู้สึกว่า เขาไม่ต้องต่อสู้กับเจ้าโรคซึมเศร้านี้อย่างโดดเดี่ยว 



03 เข้าใจ 

ขั้นตอนสุดท้าย คือการสื่อสารออกไปอย่างเข้าใจ ซึ่งคุณหมอพนมบอกกับเราว่า “คำพูดที่เหมาะสมคือ คำพูดที่ไม่ไปสร้างความรู้สึกกดดัน เครียด กลัว หรือรู้สึกผิดโดยไม่จำเป็น เช่น การพูดในเชิงตำหนิ ทำให้คนที่ซึมเศร้ารู้สึกแย่กับตัวเอง” และหากต้องการให้กำลังใจเด็กๆ คุณหมอแนะนำ 3 แนวทางหลักๆ คือ


1.การเข้าใจอารมณ์ เช่น ที่เล่ามาดีนะ ขอบคุณนะที่ทำให้ครูเข้าใจอารมณ์และความคิดของเธอมากขึ้น 

2.การให้ความหวัง เช่น โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ หรือมีตัวอย่างของคนที่รักษาแล้วหายเยอะเลย

3.การชี้แนะ ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่การชี้แนะวิธีการคิด แต่เป็นการให้ความรู้เรื่องวิธีการรักษา เช่น เมื่อเป็นโรคซึมเศร้าแล้วใครสามารถช่วยเหลือเขาได้บ้าง สามารถไปพบจิตแพทย์ได้ที่ไหนหรือมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

.

.

นอกจากการสื่อสารด้วยหัวใจทั้ง 3 ขั้นตอนดังกล่าว อีกสิ่งหนึ่งที่คุณครูทำได้ คือการปลูกฝังทักษะทางสังคมให้กับนักเรียน โดยเฉพาะการยอมรับและเคารพความแตกต่าง รวมทั้งการเปิดใจรับฟังคนรอบข้าง เพื่อให้เด็กๆ มีจิตใจที่เข้มแข็ง ลดความเสี่ยงหรือปัจจัยรองของการเกิดโรคซึมเศร้าและอยู่ร่วมกันในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายได้อย่างมีความสุข



แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(6)
เก็บไว้อ่าน
(1)