กิจกรรม การเดินทางของขันธ์ 5 (ใบ) จะช่วยให้คุณครูพาเหล่าเด็กนักเรียนทั้งหลายสนุกไปพระพุทธศาสนาไปด้วยกัน
โดยกิจกรรมจะนำเอาวิธีการเล่าเรื่อง หรือ storytelling มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะดึงเอาประสบการณ์ของเด็กๆ
และความรู้ที่ได้เรียนจากคุณครูมาเชื่อมโยงกัน ผ่านการบอกเล่าเรื่องให้ทุกคนได้รับฟังและเกิดการจดจำเป็นภาพที่จะสามารถช่วยให้จดจำเนื้อหาได้อย่างง่ายดายมากขึ้น
ขั้นตอนดังนี้
แบ่งกลุ่มตามจำนวนคนอย่างละเท่าๆกัน
คุณครูกำหนดให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเขียนเรื่องราวของกลุ่มตนเอง อาจเป็นได้ทั้งภาพวาดและเขียนเล่าเรื่อง ตามส่วนประกอบของขันธ์ 5
1. รูปขันธ์ หมายถึง กองรูป ส่วนที่เป็นร่างกาย พฤติกรรม คุณสมบัติต่างๆ ของร่างกาย และส่วนประกอบที่เป็นรูปธรรมทั้งหมด
2. เวทนาขันธ์ หมายถึง กองเวทนา ส่วนที่เป็นความรู้สึกทุกข์ สุข ดีใจ พอใจ
3. สัญญาขันธ์ หมายถึง กองสัญญา ส่วนที่เป็นการจำสิ่งที่ได้รับ
4. สังขารขันธ์ หมายถึง กองสังขาร ส่วนที่เป็นการคิดปรุงแต่ง โดยสามารถแยกแยะสิ่งที่รู้สึกหรือจดจำได้
5. วิญญาณขันธ์ หมายถึง กองวิญญาณ หรือ จิต เป็นการรู้แจ้งถึงสิ่งต่างๆ ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ที่มา http://www.digitalschool.club/digitalschool/social1_1_1/social2_1/more/page09.php
ยกตัวอย่างเช่น
รูป ฉันเจออะไร.. เวทนา ฉันมีความรู้สึก.. สัญญา ฉันจำได้ว่า.. สังขาร ฉันจึงมีความคิด/รู้สึกว่า.. วิญญาณ ฉันจึงเข้าใจว่า..
"กาลครั้งหนึ่งมีชายที่ติดบนเกาะร้างได้เจอทองคำจำนวนมหาศาลบนเกาะ เขาจึงมีความสุขมาก เพราะเขาจำได้ว่าคนที่มีทองคำนั้นคือคนที่รวยมากๆ เขาเลยคิดว่าตนเองนั้นเป็นคนที่โชคดีที่สุดในตอนนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปชายคนนั้นก็คิดได้ว่าตนเองนั้นคิดผิด เพราะสุดท้ายแล้วทองคำก็ไม่ได้ช่วยให้เขารอดจากเกาะร้างได้เลย "
เมื่อเขียนเสร็จ ให้แต่ละกลุ่มออกมาเล่าให้เพื่อนฟังหน้าชั้น โดยคุณครูค่อยๆสอดแทรกเนื้อหาที่เรียนเสริมในแต่ละครั้ง เพื่อเป็นการทบทวนบทเรียนให้กับนักเรียนไปในตัว
อาจเพื่อเพิ่มความสนุกยิ่งขึ้น คุณครูสามารถจัดให้เด็กๆทุกคนในห้องช่วยกันโหวตเรื่องราวการเดินทางของกลุ่มไหนที่เด็ดโดนใจมากที่สุด !
สุดท้าย คุณครูสามารถที่จะสรุปเรื่องราวของทุกกลุ่มและตั้งคำถามเพื่อต่อยอดประเด็นที่เด็กๆเล่าเรื่องให้ทุกคนเข้าใจถึงเนื้อหาของ ขันธ์ 5 ได้มากยิ่งขึ้น
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย