icon
giftClose
profile

ห้องสอบแบบใหม่ ที่เด็กไม่คิดจะลอกกัน

63484
ภาพประกอบไอเดีย ห้องสอบแบบใหม่ ที่เด็กไม่คิดจะลอกกัน

ห้องสอบที่ทุกคนมุ่งไปที่เป้าหมายในการพัฒนาตัวเอง มากกว่าการเป็นคนเก่งของใคร

พอถึงเวลาสอบทีไร ครูมักจะหาวิธีป้องกันการทุจริตสารพัดวิธี ไม่ว่าจะเป็น หาฉากมากั้นเป็นคูหาเลือกตั้ง

หาเด็กระดับชั้นอื่นมากั้น ทำข้อสอบหลายชุด ฯลฯ


ภายใต้ความคิดที่ว่า เด็กจ้องที่จะทุจริตการสอบแน่ ๆ ถ้ามีโอกาส


แต่ว่าวิธีการต่าง ๆ ที่ครูใช้ แม้จะทำให้เด็กไม่สามารถทุจริตการสอบได้ แต่ในใจเขาก็ยังจ้องที่จะทำอยู่ดี


เพราะวิธีการที่เราใช้กันอยู่เป็นแค่การ "ป้องกันทุจริต" เท่านั้น ไม่ใช่การ "ปลูกฝังความดีงาม"


มาลองตั้งคำถามกันสักหน่อยดีกว่า



เพราะเราดันเอาคะแนนสอบไปตีค่าความเก่ง-อ่อน และมีผลกับชีวิตในอนาคต


เลยทำให้เด็กต้องทำทุกวิถีทางให้ได้คะแนนเยอะ ๆ


จะได้เป็นคนเก่ง จะได้คำชื่นชม และจะได้เพิ่มโอกาสให้อนาคตของตัวเอง


คำว่าทำทุกวิถีทางนี่ มันมีทั้งทางสว่าง คือทำให้ตัวเองเข้าใจบทเรียนมากขึ้น และทางมืด คือลอกข้อสอบหรือทุจริตการสอบในรูปแบบต่าง ๆ


ถ้าไปทางสว่างก็ดีไป แต่ถ้าไปทางมืด ก็เศร้าหน่อย




จริงๆแล้วเราสอบเพราะว่า เราอยากรู้ว่าที่สอนไป เด็กแต่ละคนรู้เรื่องแค่ไหน 

มีอะไรขาดตกบกพร่องรึเปล่า ต้องพัฒนาอย่างไรต่อ


การสอบไม่ควรเป็นจุดสิ้นสุดของการเรียนรู้ แต่ควรจะเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่จะช่วยให้เค้ารู้ตัวและพาตัวเองไปถึงศักยภาพสูงสุดของตัวเอง



บรรยากาศในห้องเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่จะสื่อสารความหมายของการสอบ หรือการประเมิน ให้เด็ก ๆ เข้าใจ


เขาจะสัมผัสถึงมันได้เอง ถ้าครูส่งความรู้สึกและสร้างบรรยากาศแบบนี้อย่างต่อเนื่อง และเอาจริง


พอถึงตอนสอบ ข้อสอบของเราจะเป็นแบบเขียนตอบ อธิบาย และให้เหตุผล 


ที่สำคัญ ในข้อสอบเราจะมี ตารางตรงท้ายข้อสอบ แบบนี้


อะไรทำได้ดี

เกณฑ์ มาตรฐาน

สิ่งท่ี่ครูคาดหวังว่าเด็กจะทำได้ 

อะไรที่ “ยัง” ทำไม่ได้




คอลัมน์กลาง เขียนสิ่งที่ครูคาดหวังไว้เป็นข้อๆเลย ให้เขาเห็นตลอดเวลาที่ทำข้อสอบ ว่าครูอยากเห็นความสามารถอะไรจากเขา


สอบเสร็จปุ๊บ ก็เฉลยเลย อย่างละเอียด ทุกซอกมุม ทุกกรณี ทุกความเป็นไปได้


ตอนตรวจ เราให้เด็กผลัดกันตรวจของเพื่อน แล้วเขียน Comment ลงไป ทั้งช่องซ้ายและช่องขวา ของแต่ละประเด็น

 

พอตรวจเสร็จ เด็กจะรู้ตัวเองชัดมาก ว่าตัวเขาเป็นยังไง ตรงไหนดีแล้ว และต้องฝึกอะไรเพิ่มอีก




หลังจากนั้น เด็กๆ สามารถกลับมาทดสอบตัวเอง มาโชว์ว่าเขาเก่งขึ้นแล้วนะ ทำได้แล้วนะ กี่รอบก็ได้ เพราะเราไม่ได้สอบเพื่อตัดสินเขา แต่สอบเพื่อให้เขารู้ตัวเอง และเห็นหนทางพัฒนาต่อ


การสอบจึงกลายเป็นบรรยากาศสบาย ๆ ที่ทุกคนนั่งติดกัน โดยไม่ลอกกัน


เด็กบอกเราว่า “ชอบการสอบและผลสอบแบบนี้ มันดีกว่าบอกคะแนนสอบอีก อยากให้สอบแบบนี้บ่อย ๆ จะได้รู้ตัวและปรับปรุงก่อนไปเรื่องถัดไป”
กลายเป็นเด็กเรียกร้องให้สอบบ่อย ๆ นี่มันเปลี่ยนไปมากๆ


เหนืออื่นใดตอนสอน

เราให้เด็กๆซึมซับว่า

เราตั้งใจช่วยให้เขาเก่งขึ้นนะ 

และเชื่อว่าเขาจะเก่งขึ้นได้ 

ถ้าเราได้ผลการประเมินที่ตรงกับความเป็นจริงออกมา 

เค้าเชื่อใจ และไว้ใจ ว่าเรามาช่วยเค้า 

สิ่งเหล่านี้ถึงเกิดขึ้นได้


การทำความเข้าใจ “แก่น” ของสิ่งที่อยู่ตรงหน้า 
ทำให้เราไปถึงความหมายและคุณค่าที่แท้จริงของมันได้


ไม่ใช่แค่การสอบนะ แทบทุกอย่างของวงการการศึกษาเลยแหละ

 ที่เราปฏิบัติสืบต่อกันมาจนยึดถือเป็น “ธรรมเนียมปฏิบัติ”

 และเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง 


จะดีกว่ามั้ยถ้าเรามาช่วยกันตั้งคำถามถึงสิ่งต่างๆ

เพื่อทำความเข้าใจ “แก่น” ของมัน ให้ทะลุปรุโปร่ง

แล้วร่วมเดินไปในทิศทางที่มันควรจะเป็นจริง ๆ


. . .

แบ่งปันโดย

ครูเด้นท์

ศราวุธ จอมนำ

ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษาตอนปลาย

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(22)
เก็บไว้อ่าน
(9)