icon
giftClose
profile

Netnography - สวมแว่นนักวิจัย ส่องสังคมออนไลน์

58601
ภาพประกอบไอเดีย Netnography - สวมแว่นนักวิจัย ส่องสังคมออนไลน์

พานักเรียนไถ social อย่างไรให้ได้งาน + ให้เข้าใจสังคม หรือจะคัดเลือกแค่บางส่วนไปประยุกต์ใช้ก็ได้

Netnography

พานักเรียนไถ social อย่างไรให้ได้งานวิจัย + ให้เข้าใจสังคม

หรือจะคัดเลือกแค่บางส่วนไปประยุกต์ใช้ก็ได้ 


Netnography (เน็ตโนกราฟฟี) เป็นวิชาที่เราปลื้มและดีใจมากที่ได้ลงเรียนที่ Harvard เป็นวิชาที่เพิ่งเปิดใหม่ในโรงเรียนการศึกษาเทอมนี้เลย

ถึงแม้จะเป็นวิชาที่สอนในระดับมหาวิทยาลัย แต่ความจริงแล้วเป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่าย น่าจะนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายชั้นเรียน เลยอยากนำมาแบ่งปันให้ชาว Inskru ทุกคนนะคะ


ขอเล่าเบื้องหลังเล็กๆ ว่า Netnography คืออะไร...

Netnography คือวิธีวิจัยเพื่อเข้าใจประสบการณ์ ความสัมพันธ์ และวัฒนธรรมของคนในชุมชนออนไลน์ค่ะ 

มันมีที่มาจากการวิจัยเชิงคุณภาพ ของทางมานุษยวิทยา วิธีหนึ่ง ชื่อ Ethnography พอเอามาบวกกับ Internet เลยกลายเป็น Netnography 


วิธีวิจัยแบบนี้ ถูกนำไปใช้ทั้งในก๊วนวิชาการ เช่นนักสังคมศาสตร์ และในก๊วนธุรกิจด้วยนะคะ เช่น การวิจัยทางการตลาด การวิจัยเพื่อสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับออนไลน์ อย่างในคลาสที่แยมเรียน ก็มีบริษัท Social Media Platfrom ชื่อ Reddit (คล้ายๆ pantip บ้านเรา) มารับสมัครนักเรียนจากวิชานี้เป็นพิเศษด้วยค่ะ


ทำไมเราถึงปลื้มคลาสนี้?

สนุก ผ่อนคลาย ได้คุย ได้งานจากการเล่น social ได้เข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในโลกออนไลน์มากขึ้น (ซึ่งจริงๆ ก็คือความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะออฟไลน์ หรือออนไลน์)


วันนี้ขอแชร์ Activity ของคลาสที่ 3 เป็นช่วงที่ได้ฝึก “สงสัย” “ลงพื้นที่” “จด fieldnote”  และ “เขียน story memo” 


เริ่มจากเป้าหมาย...

เป้าหมายของการส่อง social media แบบ Netnography คือการเข้าใจประสบการณ์ และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social experience and interaction) ของคนที่เชื่อมกันด้วยโลกออนไลน์

>> อันนี้คุณครูสามารถปรับภาษาและการอธิบายให้เข้ากับวัยได้เลยค่ะ


Step 1 เลือกสังคมออนไลน์

            คุณครูเลือก Social Platform มาอันนึง ที่เปิด public ให้เราเข้าไปดู member หรือ user สนทนากันได้ มีการโต้ตอบ แล้วก็ มีโพสหลากหลาย เช่น เลือก pantip มา 1 ห้อง หรือ เลือก facebook page ที่ active 

อย่างอันนี้เป็นของคลาสที่เราเรียน https://www.reddit.com/r/MealPrepSunday/ (เป็นภาษาอังกฤษนะคะ)

ภาพที่ 1 หน้าตาของห้องที่ชื่อว่า Meal Prep Sunday เป็นกลุ่มที่คุยกันเรื่องการเตรียมอาหารไว้กินนานๆ 


ภาพที่ 2 คอมเม้น active คือมีการโต้ตอบกัน อาจจะมีสั้นยาวปนกัน ได้หมด มีบริบทอื่นๆ ให้ดู เช่นตรง sidebar มีก็ได้ไม่มีก็ได้

ภาพที่ 3 ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มนี้ที่เราได้รับจากอาจารย์ก่อน “สงสัย” 

(แปล-มีลเพรปซันเดย์ คือกลุ่มย่อยของเรทดิท ที่จะพูดคุยเกี่ยวกับการเตรียมอาหาร และทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมอาหาร ไม่ว่าคุณกำลังมองหาการเตรียมอาหารที่ประหยัดเงิน หรือเวลา นี่คือพื้นที่สำหรับคุณ ที่นี่เป็นพื้นที่สำหรับถามคำถาม แชร์คำตอบ หรือแค่แชร์เรื่องราวการเตรียมอาหารของคุณให้โลกได้รับรู้ สุขสันต์วันเตรียมอาหาร!)


การเลือก Platform คิดว่ามีสิ่งที่ใช้ช่วยเลือก ดังนี้ค่ะ

- ควรเป็นเพจ กลุ่ม หรือพื้นที่ เปิด public อยู่แล้วใครก็เข้าไปอ่านได้

- มีความ active ในการโต้ตอบ

- ถ้าเราอยากจะสอนแค่วิธีคิด วิธีการตั้งคำถาม การเก็บข้อมูลมาเล่าเรื่อง หรือสอนแค่ปฏิสัมพันธ์ขอคนในสังคม วัฒนธรรม โดยภาพรวม จะเอาหัวข้ออะไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่นักเรียนสามารถ relate ได้ ใกล้ตัวเค้า ก็จะสนุกขึ้น 

- ถ้าจะสอนเนื้อหาเฉพาะด้วย หรืออยากให้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเฉพาะ เช่น การเข้าในความเป็นพ่อแม่ ชีวิตวัยเรียนต่อ (เช่น Dek-D) การเป็นนักเขียน ก็สามารถลองหากลุ่มสังคมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น


* ภาษาที่ใช้ในโลกออนไลน์มีความหลากหลาย ความคิดเห็นหลากหลาย คุณครูที่สอนระดับก่อนมหาวิทยาลัย ซึ่งนักเรียนยังเริ่มที่จะสร้างidentity ของตัวเอง ยังฝึกการวิเคราะห์แยกแยะอยู่ ก็อาจจะต้องเลือกสื่อให้เหมาะกับช่วงการเรียนรู้ และเหมาะกับเวลาที่คุณครูมีในการดูแล พูดคุย ให้คำแนะนำเรื่องพฤติกรรมการแสดงออกในสังคมเพิ่มเติม โดยเฉพาะระวังเรื่องความรุนแรง


Step 2 สงสัย (กลุ่ม)


อาจารย์ที่คลาสของแยม แค่ขึ้นภาพที่ 1 มา และเอาข้อมูลของกลุ่มตรง About Community (ภาพที่ 3) มาเล่าให้ฟัง

แล้วให้จับกลุ่ม 3 คน คุยกันว่า “อยากรู้อะไรเพิ่มเกี่ยวกับสังคมออนไลน์นี้” ในเวลา 5 นาทีขอให้สรุปได้ 1 กลุ่ม 1 ความสงสัยค่ะ

เปิดกว้างมากๆ สงสัยอะไรก็ได้ เช่น

"อยากรู้ว่าคนในสังคมนี้ แค่อวดภาพ หรือมาแบ่งปันข้อมูลด้วย"

"อยากรู้ว่าการเตรียมอาหารมีกี่ทำ ทำยังไงบ้าง"

"คนในนี้เค้ามีวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างไร"

"จะมีคนพูดก้าวร้าวไหม มีการจัดการยังไง"

"คนเค้าคุยอะไรกัน เค้ากล้าถามคำถามไหม"

ฯลฯ


Step 2 ลงพื้นที่ และจด fieldnote (เดี่ยว)


ให้นักเรียนเปิดคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์ เข้าไปในสังคมออนไลน์ที่คุณครูเลือก โดยมีเป้าหมายคือ 

“สังเกตพฤติกรรม การสื่อสาร การแสดงออกของคน รวมถึงบริบทแวดล้อม เพื่อตอบความสงสัยของเรา


ให้เวลาลงพื้นที่ 15-30 นาที แล้วแต่เวลาจะอำนวย ของแยม 20 นาที รู้สึกกำลังดี (สำหรับผู้ใหญ่)

ระหว่างที่สังเกตให้จด fieldnote ไปด้วย จดแบบไหนก็ได้ ตัวอย่าง

ภาพที่ 4 รูปแบบหนึ่งของการจด field note (เพื่อให้นักเรียนเห็นว่า ทดๆ เอาได้ ไม่ต้องมีระเบียบ เน้นเรารู้เรื่องคนเดียวก็พอ)


การจด fieldnote คือการจด 3 อย่างหลักๆ (อาจมีแบบอื่น แต่แบบนี้คือแบบที่แยมถอดมาจากที่อ่านตำรา และที่เรียนในห้องนะคะ)


1)     จดเวลา เช่น เวลาที่เข้าเว็บ เวลาที่เริ่มคลิกโพสนี้แล้วอ่าน เวลาที่เราเปลี่ยนไปโพสอื่น เวลารอโหลด เวลากรอกแบบสอบถาม

2)     จดสิ่งที่เราสังเกตได้ เช่น คนโพสภาพอะไร กี่ภาพ ความถี่ของการโพส อาจจมี quote ที่น่าสนใจ ที่จะช่วยตอบคำถามเรา หรือเกี่ยวข้องกับคำถามเรา

3)     จดความคิด ความรู้สึก ของเราเอง เช่น ก่อนเริ่มลงพื้นที่ฉันเดาว่าต้องมีแต่คนอวดภาพอาหารกันแน่ๆ แต่พอมาสัตเกตจริงๆ มีคนแบ่งปันความรู้กันเต็มเลย ไม่ใช่แค่อวด

แยมคิดว่าใช้ hint ช่วย จะง่ายขึ้น เช่น: 

“ฉันเคยคิดว่า....แต่ตอนนี้ฉันคิดว่า.....”

“ข้อมูลนี้ตอบโจทย์ฉันเพราะว่า....”

“ฉันรู้สึกไม่เข้าใจว่า.......”

“ฉันอยากรู้เข้าใจคนนี้.......เพิ่มเพราะ......”

“ฉันรู้สึกแบบนี้....ตอนที่ตอบแบบสอบถามนี้ของเว็บ......”

(ถ้าพูดภาษาของทางการวิจัยจริงๆ คือ การทำ critical reflection ไปด้วยระหว่างจด note คือการสำรวจสมมุติฐานและความเชื่อของเราเองไปด้วย แต่เราไม่ต้องบอกนักเรียนก็ได้ว่ามันคืออะไร ชวนเขาทำไปเลย)


Step 3 เล่าเรื่อง 

            ให้นักเรียนลองวงกลม ส่วนที่เค้าสนใจที่สุด จาก fieldnote ที่จดมา แล้วลองให้ เล่าเรื่องราวที่เค้าจดมาให้เพื่อนคนอื่นฟัง โดยแบ่งเป็นช่วงเตรียมตัว ประมาณ 5-20 นาที แล้วแต่ว่าเราอยากให้นำเสนออย่างไร

ในห้องเรียนของแยม ให้ใช้การเขียนเล่าเรื่องเลย ก็เลยใช้เวลา 20 นาทีเขียนเรื่อง (Story Memo) แล้วมีเวลาให้เล่าให้เพื่อนฟังอีก 10-15 นาที ผลัดกันเล่า 3 คนในกลุ่มที่ตั้งคำถามเดียวกัน เราก็จะเห็นเลยว่า ขนาดตั้งคำถามเหมือนกัน พอลงไปสังเกต มันก็มีความหลากหลายของการมองเห็น ของการเก็บเรื่องราว เอามารวมกัน สมบูรณ์ขึ้น

            ถ้ามีเวลาน้อย หรือไม่ได้อยากเน้นเขียน อาจจะแค่ให้ทดๆ หรือวาดรูป หรือทำ slide เร็วๆ ก็ได้ แล้วให้เล่าให้เพื่อนฟัง ขอแค่มีเวลาให้เขาเตรียมตัวนิดนึง ถ้าจด แล้วเล่าเรื่อย จะไม่ได้เรียบเรียง

            ถ้ามีเวลาแชร์ทั้งห้องอีก ก็จะเห็นว่า โห มีคำถามได้หลากหลายรูปแบบมาก คิดว่าเป็นประโยชน์ถ้าอยากสอนนักเรียนเรื่องการตั้งคำถาม เรื่องความหลากหลายในการมอง

            การแชร์เป็นขั้นตอนสำคัญในการให้นักเรียนได้เรียนรู้จากเพื่อนร่วมห้อง รู้สึกเปิดหัว เปิดโลก ในเวลาอันรวดเร็ว 


Step 4  จบที่การสงสัยต่อยอด!

            พอแชร์กันเสร็จแล้ว ลองให้กลุ่ม หรือนักเรียนแต่ละคนก็ได้ เขียนข้อสงสัยที่อยากรู้เพิ่มเติมมาอีก เราคิดว่าการจบด้วยการตั้งคำถามสำคัญมาก เพราะมันเป็นการจบด้วยความรู้สึกว่า เราไม่สามารถตัดสินสังคมสังคมนึงได้เพียงในเวลาอันสั้น มันยังมีสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ และยังต้องหาข้อมูลต่ออีกเยอะเลย

ถ้าพูดถึงการทำวิจัยจริงๆ ขั้นตอนที่ผ่านมาทั้งหมด เป็นเพียงการเริ่มต้น หาความสนใจ ของเรา ว่าเราอยากจะรู้เรื่องอะไร ผ่านการลงมือสังเกตจริงๆ ในกระบวนการหาคำตอบจริงๆ เราต้องทำแบบนี้วนไป อีกหลายๆ ครั้ง เลย

ตรงช่วงนี้ ถ้ามีเนื้อหาเฉพาะที่อยากจะให้รู้ อาจจะมีคำถามจากคุณครูว่า “ได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่อง......” บ้าง แล้วให้นักเรียนตอบ ก่อนที่จะตั้งคำถามเพิ่มเติม แบบนี้ก็ได้จะได้คำถาม ข้อสงสัย หรือหัวข้อโปรเจก งานวิจัยที่เฉพาะเจาะจงกับวิชา หรือเนื้อหาเฉพาะมากขึ้น (ใช้ priming effect นั่นเอง)


เบื้องหลังอีกนิด....

เวลาที่ใช้ทั้งหมดในการทำกิจกรรมนี้ คือ 2 ชั่วโมง มีพัก 15 นาทีค่ะ

แต่ในคลาสจริง 3 ชั่วโมง คือชั่วโมงแรก เราจะมาคุยกันถึงเนื้อหาที่เราอ่านเตรียมมาเรียนก่อนค่ะ เกี่ยวกับวิธีการทำวิจัยแบบ netnography แบบเจาะลึกขึ้น เช่น การลงพื้นที่ การระบุขอบเขต จริยธรรมการวิจัย การทำ Critical reflection เป็นต้นค่ะ

ถ้าเป็นคลาสเรียนในมหาวิทยาลัย หรือมัธยมปลาย อยากจะได้สื่อการเรียนรู้เพิ่มเติม ทักเข้ามาที่ email ของแยมได้นะคะ quankamon.dej@gmail.com ค่ะ

แต่ถ้าเป็นคลาสทั่วๆ ไป ไม่ได้จะเน้นมาทำวิจัยจริงๆ อยากเริ่มต้น อยากเอามาประยุกต์ใช้กับเนื้อหาอื่นๆ อยากให้ลองตั้งคำถามเฉยๆ แยมคิดว่า กิจกรรมที่แยมแชร์มา บวกกับ hint เล็กๆ น้อยๆ ในการเขียน note ก็พอใช้ได้แล้วค่ะ


เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้บรรยากาศสนุก และผ่อนคลายขึ้น

Check-in, Check-out ด้วยการวาดรูป Avatar ตัวเอง แล้วโชว์ให้เพื่อนดู เปิดเพลงคลอระหว่างทำงาน ให้นักเรียนย้ายที่ตัวเองไปไหนก็ได้ จะนั่งตรงไหน ก็ได้ ให้มีช่วงเวลาอิสระ แต่ก็มีช่วงที่เรียกกลับมารวมกัน เป็นต้น



ไม่รู้ว่ารอบนี้เขียนอ่านยากไปไหม รายละเอียด หรืออธิบายแทรกเยอะไปไหม เห็นภาพตามได้ไหม

ถ้ายังไงคอมเม้นกันเข้ามาได้เลยนะคะ อยากจะแชร์ให้ inskru ทุกคนอ่านได้ง่ายๆ และมีประโยชน์นะคะ


ด้วยรักและตื่นเต้นนนน

แยม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(3)