icon
giftClose
profile

ค้นหาความชอบของเด็กๆผ่านกิจกรรม Passion of Mind

39522
ภาพประกอบไอเดีย ค้นหาความชอบของเด็กๆผ่านกิจกรรม Passion of Mind

กิจกรรม Passion of Mind เป็นกิจกรรมที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ "สุนทรีสาธก" (Appreciative Inquiry หรือ AI) เข้ามาประกอบกิจกรรมเพื่อช่วยให้เด็กๆเข้าใจ และ รู้ถึงจุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง เพื่อที่จะได้พัฒนาต่อยอดได้อยางมีประสิทธิภาพมากขึ้น

...ก่อนจะไปทำความรู้จักกับกิจกรรม Passion of Mind เรามาทำความรู้จักกับศาสตร์ซึ่งเป็นพื้นฐานของกิจกรรมนี้ ศาสตร์ที่่ว่านี้คือ "Appreciative Inquiry (AI)" หรือที่เรียกกันในภาษาไทยว่า "สุนทรียสาธก"


"สุนทรียสาธก" คืออะไร??

"สุนทรียสาธก" เป็นกระบวนการศึกษาค้นหาข้อดีของตัวเรา คนในองค์กร หรือสิ่งแวดล้อมรอบ ๆตัว โดยใช้การตั้งคำถามเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาศักยภาพของตัวเราให้มากขึ้น คำถามที่ตั้งมักจะเป็นคำถามในเชิงบวก เพื่อให้เราเห็นจุดดีของตนมากกว่าจุดด้อย


“สุนทรียสาธก (AI)” จะมีลักษณะคล้ายกับ “การพัฒนาโดยศึกษาจากปัญหา (Problem base)” คือ มุ่งพัฒนาให้ดีขึ้นเหมือนกัน แต่จุดที่แตกต่างกันคือ Problem base จะมุ่งหาข้อผิดพลาดเพื่อแก้ไขให้ดีขึ้น ต่างจาก AI ที่มุ่งหาจุดแข็งของตัวเราเพื่อพัฒนาต่อ


เราสามารถทำ "สุนทรียสาธก" ได้ง่ายๆด้วยตนเองโดยยึดหลัก "สุนทรียสาธก 4 ด้าน" (4D of Appreciative Inquiry) ดังนี้


  • Discover (ค้นหาจุดดีของตัวเรา) = เราชอบอะไร, เราทำอะไรได้ดี, เราอยากจะทำอะไร และ เราอยากเป็นยังไง


  • Dream (ตั้งเป้าหมาย) จากในข้อแรก เรารู้แล้วว่าเราชอบอะไร เราอยากทำอะไร ทีนี้เราจึงต้องมาตั้งเป้าหมายว่า แล้วเราอยากจะทำอะไรละเพื่อให้พัฒนาเป้าหมายในข้อแรก เช่น ชอบร้องเพลง เราเลยตั้งเป้าว่าจะเป็น youtuber ร้องเพลงลงเน็ตเพื่อพัฒนาตัวเอง


  • Design (ออกแบบวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย) จากข้อ 2 เรารู้แล้วว่าเพื่อพัฒนาทักษะการร้องเพลง เราเลยอยากเป็น Youtuber แล้วการจะบรรลุเป้าหมายในการเป็น youtuber คืออะไรนั้นก็คือ การลงคลิปนั่นเอง โดยเราอาจจะออกแบบวิธีการ เช่น อาจจะลงคลิปทุกวันจันทร์ หรือ อาจจะลงทุกวันเสาร์ ทำติดต่อกันเป็นระยะเวลาทั้งหมด 1-3 เดือน เป็นต้น


  •  Destiny (การลงมือทำจริง) หลังจากที่วางแผนมาตลอดถ้าไม่ทำจริงผลก็คงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นในขั้นตอนสุดท้ายของ AI ก็คือ การลงมือทำจริง ในระหว่างลงมือทำก็มีการเก็บบันทึกข้อมูลความสำเร็จไปด้วย เพื่อดูว่าเราสามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ไหม


เราสามารถประยุกต์ใช้ "สุนทรียสาธก" กับนักเรียนในห้องอย่างไร

"สุนทรียสาธก" คือเครื่องมือซึ่งช่วยให้เรารู้ว่าข้อดีของเด็กคืออะไร และเขาควรจะพัฒนาข้อดีของเขาอย่างไร ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เด็กที่กำลังหลงทางและไม่รู้ว่าตนชอบอะไรได้รู้จักตัวเองมากขึ้นผ่านการใช้ AI เพื่อศึกษาและพัฒนาความชอบของตัวเอง โดยเราสามารถนำหลัก 4 ด้านของ "สุนทรียสาธก" (4D Appreciative Inquiry) มาประยุกต์เป็นกิจกรรมได้นั้นก็คือ กิจกรรม Passion of Mind นั้นเอง


กิจกรรม Passion of Mind

กิจกรรม Passion of Mind เป็นกิจกรรมที่เหมาะจะเริ่มทำตอนต้นเทอม และ มีการถอดบทเรียนในช่วงท้ายเทอม โดยในช่วงต้นเทอมจะให้เด็กๆตามหาข้อดี และ สิ่งที่เขาชอบ ในระหว่างช่วงกลางเทอมถึงช่วงท้ายเทอม จะเป็นช่วงที่ให้เด็กๆได้ลองพัฒนาความชอบที่พวกเขาเลือก และในช่วงสุดท้าย ช่วงท้ายเทอม จะเป็นช่วงที่ให้เด็กๆได้สะท้อนการเรียนรู้ ความเปลี่ยนแปลง และความรู้สึกที่เกิดขึ้น


โดยรายละเอียดของกิจกรรมจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วงดังนี้


  • ช่วงที่ 1 ค้นหาตัวตน...มองหาฝัน (Discover and Dream)

จะเริ่มต้นในคาบแรกของวิชาเพื่อให้เด็กได้ลองหาว่าเขาชอบอะไร และ อยากทำอะไร จากนั้นให้เด็กๆนำสิ่งที่ตนสนใจนั้น ตั้งเป็นเป้าหมายเพื่อพัฒนาต่อยอด


  • ช่วงที่ 2 ออกแบบเส้นทางฝัน (Design)

จะเริ่มในคาบเรียนที่สอง โดยให้เด็กๆได้ต่อยอดจากอาทิตย์ที่แล้ว เด็กๆรู้แล้วว่าพวกเขาต้องการอะไร และ อยากพัฒนาอะไร ดังนั้นในสัปดาห์นี้จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะพาเด็กๆไปออกแบบเส้นทางความฝัน ของตัวเขาเอง


  •  ช่วงที่ 3 เราต้องทำให้เป็นจริง (Destiny)

จะเริ่มต้นตั้งแต่คาบเรียนที่สามเป็นต้นไป จนถึงช่วงท้ายเทอม โดยจะเป็นการบ้านทุกสัปดาห์ของเด็กๆที่จะต้องลงมือทำเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้เป็นจริง เพราะเด็กๆรู้แล้วว่า ชอบอะไร อยากทำอะไร และต้องทำอะไรเพื่อให้ฝันนั้นเป็นจริง ดังนั้นขั้นการลงมือทำจึงเป็นขั้นสุดท้ายที่สำคัญที่สุดเพื่อให้พวกเขาได้พัฒนาเป้าหมายที่ตัวเขาตั้งไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในขั้นนี้ครูจะมีแบบติดตามผล ให้นักเรียนทำและเก็บข้อมูลทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นหลักฐานความสำเร็จและเพื่อให้เห็นการพัฒนาของเด็กได้ชัดเจนมากขึ้น


  •  ช่วงที่ 4 สะท้อน...เรียนรู้...พัฒนา (Reflection)

เป็นขั้นตอนสุดท้ายซึ่งเพิ่มเข้ามานอกเหนือจาก "สุนทรียสาธก 4 ด้าน" คือ การ Reflection การ Reflection จะเกิดขึ้นในคาบเรียนสุดท้ายเพื่อรายงานผลว่าทุกคนทำตามเป้าหมายได้ไหม ได้เพราะอะไร ไม่ได้เพราะอะไร รู้สึกอย่างไรหลังทำ และ เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรกับตัวเราบ้าง จะเป็นคาบเรียนที่ให้ทุกคนในห้องได้แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ ประสบการณ์ความเปลี่ยนแปลงของตนเอง


***เพื่อให้นำไปใช้ในคาบเรียนได้ทันทีผมได้ทำแบบฟอร์มของกิจกรรม Passion of Mind พร้อมระบุวิธีใช้งานไว้ให้แล้วสามารถนำไปใช้ได้เลยครับ โดยผมจะอัพให้ทั้งหมด 2 ไฟล์ดังนี้ครับ

  1. File PDF สำหรับนำไปใช้ได้ทันที
  2. File word สำหรับคุณครูที่สนใจจะนำไปดัดแปลงเนื้อหาเพิ่มเติม


***ถ้ามีอะไรสงสัยสามารถทิ้ง Comment ไว้ด้านล่างได้เลยครับ


เขียนโดย: Warawat Nimanong

พิสูจน์อักษรโดย: Samret Moomahasakul

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 2

ชื่อไฟล์​: แบบฟอร์ม กิจกรรม สุนทรียสาธก Passion of mind.pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 158 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(52)
เก็บไว้อ่าน
(25)