icon
giftClose
profile

กรณีกราดยิงโคราช บทสะท้อนการเลี้ยงดูของสังคม

15360
ภาพประกอบไอเดีย กรณีกราดยิงโคราช บทสะท้อนการเลี้ยงดูของสังคม

ในฐาะนะครู พ่อแม่ และส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมสังคม เราทำอะไรได้บ้าง? เราจะทำอะไรบ้าง? เราจะเริ่มเมื่อไหร่?

กรณีกราดยิงโคราช บทสะท้อนการเลี้ยงดูของสังคม


การเลี้ยงดูของสังคม คือ การเลี้ยงดูของครอบครัว พ่อแม่ พี่ป้าน้าอา เรียกว่าเด็กอยู่ในสังคมก็ช่วยๆกันเลี้ยง เห็นมาตั้งแต่เด็ก

แต่พบความก้าวร้าวและอ่อนแอทางจิตใจ

สังคมเลี้ยงดูเด็กคนนี้อย่างไร เคยฟัง เคยใส่ใจ เคยสนใจเด็กที่อยู่รอบข้างบ้างไหม?

ลองมองมาที่สังคมปัจจุบันที่สื่อเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตเด็กอย่างมาก แท็ปแล็ต มือถือ เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตอย่างมาก ของเล่นที่มีมากมายกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าเครื่องนี้เครื่องเดียว ทั้งพ่อแม่ ครู และสังคมก็จะเล่นสิ่งนี้เป็นธรรมเนียม ว่างเมื่อไหร่หยิบขึ้นมาเมื่อนั้น ทำงานบ้าง คุยเล่นบ้าง เรียกว่าสิ่งนี้สำคัญในชีวิตแบบที่ขาดไม่ได้แล้ว

คนสำคัญข้างๆกลับไม่ได้มีความหมายเท่ามือถือ

ในฐานะที่เป็นครู เป็นแม่ การสะท้อนคือการลองมองกลับลงมามองใหม่ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมในสังคมที่ถูกถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่นมันได้สร้างความร้าวฉานและร้าวรานหรือไม่


วันนี้ได้อ่านหนังสือ เรื่อง “มองดูฉันทะ –ตัณหา ไล่มาตั้งแต่เจงกิสข่าน” โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) เป็นหนังสือเรื่องราวของหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าสะท้อนผ่านบุคคลในประวัติศาสตร์ อธิบายเรื่องราวของฉันทะ และตัณหา (Ambition) ที่สังคมตะวันตกแยกออกจากกันได้ยาก

-        ฉันทะ คือความพึงพอใจ อยากเห็นสิ่งรอบๆตัวดีงาม สมบูรณ์ เป็นการแบ่งปันความสมบูรณ์จากใจสู่ใจ

-        ตัณหา คือ ความอยากได้อยากมี อยากอวด อยากเสพ อยากบำรุงบำเรอ

สองคำนี้อาจดูความหมายคล้ายกัน คือ “อยาก” เหมือนกัน แต่จุดเริ่มต้นไม่เหมือนกัน

ฉันทะเริ่มจากความดี ใจรัก อยากทำ อยากให้คนอื่นประสบความสำเร็จ

ส่วนตัณหาเริ่มจากความหม่นหมองในจิตใจ อิจฉา ริษยา การเริ่มต้นที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ดังนั้นการเริ่มต้นที่ไม่ดีก็ไม่สำเร็จตั้งแต่เริ่ม

สังคมที่เต็มไปด้วยตัณหาจึงสร้างบุคคลที่เต็มไปด้วยความ “อยาก” แบบไม่มีที่สิ้นสุด สร้างคนทำงานเพื่อสนองตัณหา


หนังสือได้อธิบายโดยยกตัวอย่างว่า สำหรับคนทำงาน พนักงาน

พนักงานที่คิดจะได้ค่าจ้างเป็นเครื่องตอบแทนการทำงานนั้น นายจ้างต้องคุมให้ดี ถ้ามอบหมายงานจะทำแค่พอผ่าน

แต่หากพนักงานทำงานด้วยฉันทะ ใจรัก ตั้งมั่น ช่วยเหลือผู้อื่น แบบนี้ไม่ต้องเข้มงวดก็ทำงานออกมาได้ดีเกินคำว่าพอใจ

หลักจริงๆแล้ว คือขึ้นอยู่ที่ใจ ถ้าใจเป็นกุศล งานที่ทำจะเป็นกุศลและส่งต่อและต่อยอดให้เกิดกุศลผลบุญตามมา


การสร้างวินัย สร้างง่ายกับคนที่มีฉันทะนำ

“คนที่มีฉันทะ มีวินัย ใจจะแข้มแข็ง” วินัยจะส่งเสริมทำให้ความอยากรูปแบบฉันทะ สำเร็จดังที่คิดหวังไว้

แต่หากมีตัณหานำแล้ว ไม่ว่าจะเอาเหตุเอาผลอะไร เพียงแค่อยากให้ได้เสพสมอยากแล้วก็เพียงพอ ทำให้จิตใจอ่อนแอลงเรื่อยๆ

กลับมาที่สังคม สังคมต้องสร้างคนที่มีใจเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อ มีฉันทะที่จะทำให้สังคมดีขึ้น


สร้างฉันทะให้ลูก ลูกศิษย์ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน สร้างสังคมที่ช่วยเหลือกัน รักกัน เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ฟังกันตั้งแต่เมื่อเด็กยังเล็ก ดังในพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ ที่ว่า “จงฝึกเด็กในทางที่เขาควรจะเดินไป และเมื่อเขาเติบใหญ่ เขาจะไม่พรากจากทางนั้น”สุภาษิต 22:6 หากคุณเป็นพ่อแม่ เป็นครู เป็นผู้ที่ได้ใกล้ชิดกับเด็กก็ปลูกฝังเด็กที่อยู่ใกล้โดยใช้ความรัก สร้างสังคมที่ช่วยเหลือกัน รักกันตั้งแต่ยังเล็ก ดังเป็นการปลูกต้นไม้ที่เราต้องคอยรดน้ำ พรวนดิน แล้วต้นจะเติบใหญ่ให้ร่มเงากับเรา


เทคโนโลยีเพื่อเสพกับเพื่อการศึกษา จะสอนลูกต้องให้ลูกมีความมุ่งมั่น มีวินัย ใช้เทคโนโลยีให้เป็นคุณประโยชน์ ใช้เพื่อการศึกษาหาความรู้ที่ไม่มีวันจบ ไม่ใช่เพื่อเสพ เพื่อได้ตามที่อยากแล้วนำมาซึ่งความทุกข์

ในกรณีของการกราดยิงโคราช ทำให้เห็นเลยว่าเทคโนโลยีมีอิทธิพลในการเสพความรู้ ทัศนคติ การเล่นเกมส์และดูภาพยนตร์ต้องใช้วิจารณญาณในการไตร่ตรองว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีและสิ่งใดควรละเว้น นำความเดือนร้อนมาให้ผู้อื่น

การเล่นเกมส์ สะท้อนว่าสังคมปล่อยประละเลยไม่ให้ความสนใจกับคุณค่าของคนใกล้ตัว ทำให้เกิดความพลาดพลั้ง ไม่ยั้งคิด ระงับสติและอารมณ์ตนเอง บางบ้านปล่อยให้เด็กดูโทรศัพท์ เล่นโทรศัพท์ จากการ์ตูนเป็นเรื่องซุปเปอร์ซีโร ไปจนเป็นเกมส์จับผู้ร้าย

เด็กคนหนึ่งเรียนที่โรงเรียนของชุมนุมแห่งหนึ่งระดับอนุบาล 2 เด็กมีนิสัยร่าเริง ชอบเล่นกับผู้อื่น มีความกลัวพ่อกับแม่มาก พ่อกับแม่ทำงานร้านอาหารแห่งหนึ่งทำให้เด็กต้องเล่นและรอ เมื่อถามเด็กว่าการยิงกันผิดไหม เด็กอนุบาล2 ตอบว่า “ถ้ายิงโจรไม่ผิด ยิงได้เลย” จึงถามต่อว่า แล้วจะรู้ได้ไงว่าใครเป็นโจร “ดูที่ชุดไม่เหมือนกัน ตำรวจมีสิทธิในการยิงโจรได้เลย ปัง ยิงได้เยอะยิ่งดี”

สังคมเราไปไกลแล้ว ถลำไปถึงขนาดที่ว่าเด็กเสพสื่ออะไร ทำอะไร ไม่ได้อยู่ในสายตาผู้ใหญ่แล้ว เหมือนเอา มีด มาวางไว้ให้เด็กเล่น สักวันไม่เอามีดแทงตัวเองก็คงต้องแทงคนรอบข้างเป็นแน่ ในฐานะที่เป็นแม่และครูจะทำอย่างไรดี?

หนึ่ง ต้องเข้าใจว่า เด็กเหมือนผ้าขาว เมื่อรับรู้อะไรจะเรียนและรับรู้เร็ว เมื่อสะสมเป็นเวลานานๆจะเหมือนภูเขา ยิ่งเด็กยิ่งสอนง่าย (ทั้งๆที่คิดว่าพูดอะไรไม่ฟังตอนเด็ก แต่ถ้าโตขึ้นจะไม่ฟังยิ่งกว่าเดิม) ทำความเข้าใจและสำรวจตัวเองอยู่เสมอว่าเราได้ป้อนอาหารที่ดีกับลูกที่จะเติบโตขึ้นเป็นคนหนึ่งในสังคมหรือไม่ (อาหารที่หมายถึง คือ ทั้งอาหารที่เติมเต็มด้านจิตใจและร่างกาย)

สอง ทางสายกลาง แบบพอดี หาตัวช่วย ใครช่วยไม่ได้ ก็ลอง Application นี้ดู YouTube Kids เป็นตัวช่วยที่ช่วยพ่อแม่ได้ อย่างน้อยก็เลือกได้ว่าวีดีโอไหนเหมาะกับเด็กบ้างและได้เรียนรู้เท่าไหร่ สามารถตั้งเวลาในการดูแต่ละครั้งได้

การเดินทางสายกลางดีที่สุด ไม่ใช่ว่าไม่ให้จับมือถือเลย ไม่ให้เสพสื่อเลย แต่ต้องเสพสื่อบนทางสายกลางที่ไม่มากไป และอยู่ในการสอนของผู้ใหญ่ตลอด ถึงแม้สื่อจะเสนอภาพที่ไม่ดี แต่หากผู้ใหญ่นั่งสอนให้เห็นว่ามีสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี แบบนั้นคือแนวทางในการสอนอีกทางหนึ่ง เพราะเราจะปกป้องลูกอยู่ในที่ปลอดภัยตลอดไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือต้องสอนให้รู้ว่าสิ่งใดปลอดภัย สิ่งใดไม่ปลอดภัย สิ่งใดที่ควรทำ สิ่งใดที่ไม่ควรทำ

หากลูกทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ให้ถามว่าอันตรายถึงชีวิตหรือไม่ เพราะถ้าไม่ ก็แค่บอกว่าสิ่งไหนดีไม่ดี แล้วให้เลือกเองแบบที่ไม่ก้าวก่ายและเคารพการตัดสินใจของเด็ก (Respect) เด็กต้องรู้จักคำว่า เคารพ ตนเอง ต้องได้รับการเคารพจากผู้ใหญ่ที่สอนก่อน แล้ววันหนึ่งเด็กจะเรียนรู้ว่าจะเคารพผู้อื่นอย่างไร

ทุกวันนี้โลกอยู่ยาก...มีแต่สิ่งไม่ดีเกิดขึ้นรายล้อมตัวเรา

บ่นๆๆๆๆๆ แล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้น...... ต้องเริ่มทำ เริ่มสร้างเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด คือดูแลครอบครัวและคนที่คุณรักแล้วคุณจะรู้ว่าคุณสามารถช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง


เรื่อง “มองดูฉันทะ –ตัณหา ไล่มาตั้งแต่เจงกิสข่าน” โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) อ่านหนังสือได้ที่

https://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/Pr.2_-_.pdf

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(7)
เก็บไว้อ่าน
(3)