icon
giftClose
profile

การประเมินเพื่อการเรียนรู้ (AFL)

276183
ภาพประกอบไอเดีย การประเมินเพื่อการเรียนรู้ (AFL)

How ทู ประเมินยังไงให้ดีต่อใจเด็กๆ วันนี้พวกเราชาว Inskru จะพาไปรู้จักกับ การประเมินเพื่อการเรียนรู้ หรือ Assessment for Learning แนวทางการประเมินแนวใหม่ที่จะมาโอบอุ้มจิตใจและช่วยพัฒนาศักยภาพในตัวเด็กๆ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูพร้อมกันเลยยย

การประเมินเพื่อการเรียนรู้ (Assessment for Learning) คืออะไร

การประเมินเพื่อการเรียนรู้ หรือ Assessment for Learning (ALF) คือ การประเมินศักยภาพและความสามารถของตัวเด็กต่อเรื่องนั้นๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กเข้าใจและมองเห็นแนวทางการพัฒนาต่อของตนเอง เป็นการประเมินเพื่อสร้างให้เด็กเกิดการเรียนรู้และเข้าใจในทักษะของตัวเองเพื่อที่จะให้เด็กๆนำความเข้าใจที่เกิดขึ้นไปพัฒนาตัวเองต่อไป

จุดเด่นของการทำประเมินเพื่อการเรียนรู้ หรือ AFL คือ การให้เด็กได้สะท้อนความคิดของตัวเองออกมา “เราอยากทำอะไร , อยากจะพัฒนาต่ออย่างไร และ ควรแก้ตรงไหนดี” จริงๆแล้วคำตอบที่ตัวเขาตามหานั้น มันอยู่ในตัวของเขาเองมาตั้งแต่แรกแล้ว เขาก็แค่มองไม่เห็น หรือ หามันไม่เจอเท่านั้นเอง ดังนั้นการทำ AFL จึงเป็นวิธีการประเมินที่จะพาตัวเขาไปตามหาคำตอบภายในใจของพวกเขาเอง เพื่อนำคำตอบที่หลบซ่อนอยู่มาพัฒนาตัวเขาเองต่อไป

โดยคำถามที่คุณครูควรจะถามเด็กๆในขณะที่ทำ AFL อยู่มีหลักๆ 3 ข้อดังต่อไปนี้

1.      Where am I going? /ปลายทางการเรียนรู้ของตัวเขาคืออะไร?

2.      Where am I now? /แล้วตอนนี้ตัวเขาล่ะอยู่ตรงไหนของเส้นทางการเรียนรู้

3.      How can I close the gap? /แล้วเขาจะทำยังไงให้ตัวเขาไปถึงปลายทางการเรียนรู้ที่ตั้งไว้ 

ตัวอย่างกิจกรรมที่ประยุกต์ใช้แนวคิดของ “การประเมินเพื่อการเรียนรู้ หรือ AFL”

-         กิจกรรม Coaching Transformation โดยครูบลู #ครูปล่อยของ x ก่อการครู กรุงเทพฯ

เป็นกิจกรรมที่ใช้การประเมินเพื่อการเรียนรู้ เข้ามาช่วยเพื่อนำให้นักเรียนและเพื่อนครู บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยใช้กระบวนการ Coaching เข้ามาช่วยพวกหาคำตอบที่ซ่อนอยู่ภายในตัวพวกเขา โดยในกระบวนการนี้ตัวครูจะ ปรับเปลี่ยนบทบาทจาก ครู ในห้องกลายเป็นโค้ช” ที่คอยซัพพอร์ตและอำนวยการเรียนรู้ของเด็กๆแทน

โค้ช (Coach) คืออะไร

โค้ช คือ คนที่คอยให้การช่วยเหลือและแนะนำเราในขณะที่เรากำลังลงมือทำสิ่งต่างๆ ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆเช่น โค้ชของนักกีฬา ที่มีหน้าที่คอยซัพพอร์ตช่วยเหลือนักกีฬาในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็น การซ้อม การวางแผน การแนะนำสิ่งต่างๆ ลักษณะเด่นของโค้ชที่ต่างจากครู คือ โค้ชจะเป็นคนที่อำนวยการทำสิ่งต่างๆ เป็นเหมือนคนที่คอยซัพพอร์ต ต่างจากบทบาทครูที่คอยชี้นำทิศทางห้องเรียน...ดังนั้นในการทำการประเมินเพื่อการเรียนรู้ หรือ AFL ครูจึงต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ชี้นำในห้องกลายเป็นโค้ชที่คอยซัพพอร์ตเด็กๆแทน  

กระบวนการโค้ชชิ่ง (Coaching) คือ กระบวนการที่ โค้ช(ครู) จะเข้ามาคอยดูแลให้คำแนะนำเด็กๆในขณะทำสิ่งต่างๆ….โดยหน้าที่ของ โค้ช(ครู) ที่สำคัญคือ

- การสร้างบรรยากาศ “ความเป็นกันเอง” ซึ่งแตกต่างจากครูปกติที่ให้บรรยากาศในเชิงเคารพ ครูที่เป็นโค้ช จะเป็นคนที่ต้องสร้างบรรยากาศให้ตัวเองไม่ดูหน้ากลัว ดูเป็นกันเองเข้าหาง่าย เพื่อให้เด็กเปิดใจ และ กล้าแสดงออกมากขึ้น

- การรับฟังปัญหาด้วยใจ ไม่ชิงตัดสินไปก่อนทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดีโดยไม่มีการนำอคติหรือความคิดของตัวเองมาตัดสินเรื่องต่างๆไปก่อน หน้าที่ของโค้ข คือ ฟังไม่ใช่การไปตัดสินใจให้เขาทำสิ่งต่างๆตามที่เราคิด

- ข้อนี้สำคัญมาก!!! โค้ชต้องรู้จักตั้งคำถามกับผู้เข้าร่วมอยู่เสมอๆ โดยคำถามที่ตั้งต้องเป็นคำถามที่สะท้อนถึงความรู้สึก , ความต้องการของผู้เข้าร่วม

- โค้ชต้องมีการเสริมแรงจากภายในอยู่เสมอ มีการชื่นชมและให้กำลังใจในทุกการกระทำและคำตอบ ไม่ว่าจะผิดหรือถูกก็ตาม เพื่อให้เด็กกล้าคิดกล้าทำ ไม่กลัวความผิดพลาด

บรรยากาศและกำลังใจที่ โค้ช(ครู) มอบให้เด็กจะส่งผลให้เด็กๆ

- รู้สึกไว้ใจเป็นกันเอง กล้าที่จะเล่า “ปัญหาต่างๆได้อย่างเปิดใจมากขึ้น”

- กล้าที่จะแสดงความรู้สึกและความต้องการอย่างเต็มที่เพราะเขาเชื่อว่าเราจะไม่ไปปิดกั้นหรือขัดขวางเขา

- เขากล้าที่จะบอกเล่าปัญหาของเขา กล้าที่จะระบายความรู้สึกไม่สบายใจให้เราอย่างตรงไปตรงมาเพราะเขารู้ว่าเราจะไม่ไปตัดสินเขา


ซึ่งจากกระบวนการที่เขาสะท้อนความคิดความรู้สึกจากภายในออกมานี้เองคือ สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเขาที่เขาหาไม่เจอมาตลอด มาตอนนี้เขาหาเจอแล้วและเขาก็สะท้อนออกมาได้ด้วยตัวเอง การตกตะกอนความคิด / ความรู้สึกที่เกิดขึ้น จะนำเด็กๆไปสู่การมองเห็นทางออกของปัญหา และ แนวทางการพัฒนาต่อไปในอนาคตอีกด้วย


ข้อคิดสำคัญของการทำ Assessment For Learning ที่ควรจำให้ขึ้นใจมีดังนี้

1. การประเมินเพื่อการเรียนรู้ เป็นการประเมินที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนา ไม่ใช่การประเมินปกติเพื่อเอาผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้ ดังนั้นเมื่อเด็กเกิดข้อผิดพลาด เช่น ทำผิด หรือ ทำไม่ได้ จึงไม่ควรซ่ำเติมเด็กๆ ในสิ่งที่เขาทำผิด แต่ควรให้กำลังใจและชื่นชมพวกเขาแทน เพื่อสร้างพลังให้พวกเขาจากภายใน ให้เขากล้าที่จะเรียนรู้ ไม่ใช่กลัวที่จะเรียนรู้เพราะถูกครูตำหนิ

2. คุณค่าที่แท้จริงของการเรียนรู้คือ “ข้อผิดพลาด” ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นถือเป็นกำไรสำคัญที่ช่วยให้เด็กๆพัฒนาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเขารู้ว่า เขาผิดพลาดในจุดนี้เพราะอะไรดังนั้นในครั้งหน้า เขาจะไม่ผิดซ้ำในจุดเดิมอย่างแน่นอน ยิ่งผิดเยอะเขายิ่งได้เปรียบ ดังนั้นความผิดพลาดจึงไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ความผิดพลาด คือ แนวทางในการพัฒนาต่อยอดสู่ความสำเร็จ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เด็กทำผิดพลาดและไม่กล้าทำต่อ ก็เป็นหน้าที่ของครูที่จะช่วยผลักดันให้เขาก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีความสุข และสนุกไปกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอย่างไม่หยุดนิ่ง 


#ครูปล่อยของ x ก่อการครูกรุงเทพมหานคร

#ห้องพักครู

ขอบคุณเนื้อหาจาก ครูบลู /อัฒฑวินทร์ ธนเดชสำราญพงษ์ (ครูแกนนำ ก่อการครูรุ่นที่ 2)


เรียบเรียงและนำเสนอโดย : Warawat Nimanong

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(68)
เก็บไว้อ่าน
(12)