icon
giftClose
profile

Gamification กับการออกแบบชั้นเรียน Part1

16991
ภาพประกอบไอเดีย Gamification กับการออกแบบชั้นเรียน  Part1

ออกแบบห้องเรียนอย่างไรให้เด็กๆสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุขพร้อมทั้งได้ความรู้กลับไปอย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้พวกเรา Inskru จะพาไปรู้จักกับ แนวทางการออกแบบชั้นเรียนแนวใหม่ที่จะมาทำให้ห้องเรียนไม่น่าเบื่ออีกต่อไป ผ่านการนำแนวคิดของเกมมาออกแบบชั้นเรียน..ถ้าพร้อมแล้วก้ไปรุ้จักกับ Gamification กันเลย

ทุกๆครั้งที่เราเล่นเกมสิ่งที่เราได้กลับมาคือ “ความสนุก” แล้วจะเป็นอย่างไรหากเราสามารถดึงความสนุกของเกม มาประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆได้

วันนี้พวกเรา Inskru จะพาไปรู้จักกับ Gamification ศาสตร์การออกแบบที่นำแนวคิดของเกมมาต่อยอดกับสิ่งต่างๆรอบตัว ถ้าพร้อมกันแล้วก็ไปทำความรู้จักกับ Gamification กันเลยยย

Gamification คืออะไร?

Gamification คือ ศาสตร์ที่นำแนวคิดของเกมซึ่งเน้นความสนุกเป็นหลักมาประยุกต์ใช้ ปรับให้เข้ากับบริบทต่างๆ Gamification จะเน้นสร้างความสนุกให้กลุ่มเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการสื่อสารสาระสำคัญที่เราต้องการ เป็นกระบวนการออกแบบที่นำแนวคิดของเกมมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เราตั้งไว้ ซึ่งเป้าหมายที่เราตั้งไว้นั้นไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็สามารถประยุกต์ใช้ Gamification ได้ทั้งสิ้นไม่มีข้อยกเว้น

แนวคิดหลักของ Gamification คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ให้เป็นไปตามที่เราต้องการ โดยใช้องค์ประกอบที่เรียกว่า “ความสนุก” ของเกม เข้ามาช่วยในกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยกระบวนการหลักๆที่มักใช้กันอย่างแพร่หลายใน Gamification คือ กระบวนการเสริมแรงที่จะเน้นสร้างแรงจูงใจให้แก่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อผลักดันให้พวกเขาทำในสิ่งที่เราต้องการ

กระบวนการเสริมแรงมาจากไหนและมีกลไกอย่างไร

กระบวนการสร้างแรงจูงใจที่เกิดขึ้นในกระบวนการ Gamification เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากการใช้แนวคิดของเกม เข้ามาช่วย แนวคิดหลักๆของเกมที่หลายคนมักนำมาใช้ คือ ระบบการแข่งขัน ระบบการนับแต้มคะแนน และ ระบบLevel (ระดับความยาก) Gamification จะนำจุดเด่นดังกล่าวมาประยุกต์ใช้เพื่อเสริมแรง เช่น ในระหว่างกระบวนการจะมีการแข่งขันกันระหว่างผู้เข้าร่วม การนับแต้มคะแนนแข่งกัน การเพิ่มระดับความท้าทายของกิจกรรม เข้ามาช่วยเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายอยากมีส่วนร่วมกับกระบวนการมากขึ้น

Gamification ใกล้กว่าที่คิด

คุณครูหลายคนอาจนึกภาพและวิธีการใช้ไม่ออก เชื่อว่าหลายคนยังคง งงกับ ความหมายที่อธิบายไปข้างต้น ต่อไปนี้ผมจะลองยกตัวอย่างประกอบที่เกิดขึ้นใกล้ๆตัวพวกเราเพื่อให้เห็นว่าจริงๆแล้ว Gamification นั้นไม่ได้ยากเลย แถมสิ่งนี้ยังอยู่ใกล้ตัวเรามากๆอีกด้วย

ทุกคนรู้จัก “ระบบ All-member” ใช่ไหมครับ ระบบ All-member เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความสำเร็จในการใช้ Gamification ซึ่งใกล้ตัวเราทุกคนมากๆ มาดูกันดีกว่าครับว่า All-member เป็น Gamification อย่างไร?


เราจะมาลองแยกกันที่ละส่วนนะครับโดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆให้เข้าใจได้ง่ายดังนี้ครับ

ส่วนที่1 Gamification คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้

- All-member เป็นหนึ่งในระบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ซื้ออย่างเราๆซื้อของมากขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจาก ซื้อน้อย ให้เป็นซื้อมากขึ้น

ส่วนที่2 ใช้ระบบของเกมเข้ามาช่วยกระตุ้นผู้เข้าร่วมให้อยากทำพฤติกรรมมากขึ้น เช่น ระบบการแข่งขัน, ระบบ Level, ระบบคะแนน เป็นต้น

- All-member จะมีระบบแต้มคะแนนที่ยิ่งสะสมเรื่อยๆจะยิ่งแลกของได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งสะสมยิ่งได้ส่วนลดมากขึ้น และยังมีกิจกรรมให้ทำมากมายไม่ว่าจะ การซื้อของครบแล้วได้ลดราคา, การได้ส่วนลดเมื่อเป็นสมาชิก จะเห็นได้ว่ามีการใช้ทั้งระบบคะแนน และระบบ Level เข้ามาช่วยในการเสริมแรงให้ลูกค้าอยากซื้อสินค้ามากขึ้น เพราะพวกเขาอยากได้ส่วนลด อยากได้ของแถม จึงได้ซื้อเยอะขึ้นจนเกินความจำเป็น กลไกการทำงานที่เกิดขึ้นของระบบ All-Member ทำให้พฤติกรรมของลูกค้าเป็นไปตามที่ 7-Eleven อยากให้เป็น

เห็นไหมครับว่าจริงๆแล้ว Gamification นั้นใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดซะอีกใครจะไปคิดละว่าแค่การซื้อของธรรมดาๆยังทำให้เป็น Gamification ได้ จริงๆแล้วนอกจาก 7-Elven แล้วก็ยังมีตัวอย่างคล้ายๆกันอีกครับเช่น ระบบแต้มสะสมในบัตรเครดิต ใกล้ตัวเขาไปอีกเช่น ระบบสะสมแสตมป์บนการ์ดเพื่อแลกชานมไข่มุก อันนี้ก็ Gamification ครับ


ประยุกต์ใช้ในระบบการศึกษาอย่างไร

เราลองมาเปลี่ยนบริบทกันดีกว่าก่อนหน้านี้เราแสดงตัวอย่างของ Gamification ไปแล้วแต่เป็นในบริบทของธุรกิจและผลกำไรซะส่วนใหญ่คราวนี้ลองเปลี่ยนบริบทบ้างครับ

ในระบบการศึกษาเองเราก็สามารถประยุกต์ใช้ Gamification ได้ครับ ตัวอย่างเช่น การจัดกระบวนการเล็กๆในห้องเรียน หลายๆคนอาจจะไม่ได้สังเกตกันแต่จริงๆแล้วพวกเราเองก็ใช้ Gamification โดยไม่รู้ตัว เช่น การส่งการบ้านแล้วได้รับสแตมป์ที่เรามักใช้กันกับเด็กเล็กๆ หรือจะเป็นการให้รางวัลเด็กเมื่อเด็กตอบถูก เองก็ถือ เป็น Gamification เพราะทั้ง 2 อย่างนี้ส่งผลให้เด็กอยากส่งการบ้าน และ ตอบคำถามในห้องเรียนมากขึ้น ซึ่งตอบโจทย์ตามที่คุณครูอยากให้เป็น และเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมที่เห็นได้ชัด

สิ่งที่เราควรคำนึงไว้เสมอเมื่อออกแบบกระบวนการโดยใช้ Gamification

กระบวนการที่ออกแบบโดย Gamification นั้นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ความสนุก ความสนุกเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กและผู้เข้าร่วมอยากเข้าร่วมกระบวนการ แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะผูกโยงเข้ากับเป้าหมายที่เราต้องการด้วย ดังนั้นจึงต้องทำให้ เป้าหมายและความสนุก ควบคู่กันไป อีกสิ่งนึงที่สำคัญ คือ การเลือกใช้และออกแบบระบบเกมให้เข้ากับเป้าหมาย ในกิจกรรมแต่ละกิจกรรมก็จะมีระบบเกมที่เข้ากันอยู่ เช่น อยากให้เด็กตอบเยอะ ก็อาจจะใช้ระบบแข่งขันเข้าช่วย อยากให้เด็กส่งการบ้านเยอะอาจใช้ระบบสะสมคะแนน อยากให้เด็กได้คิดเยอะๆอาจใช้ระบบ Level เพื่อเพิ่มความท้าทายโจทย์ให้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มให้เด็กได้พัฒนาการคิด จะเห็นว่าแต่ละกิจกรรมมีการเลือกใช้ ระบบของเกมที่ไม่เหมือนกัน สิ่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการออกแบบกระบวนการโดยใช้ Gamification   

Gamification นั้นหลายคนอาจจะมองว่ายากดังนั้นการฝึกฝนเพื่อให้เข้าใจและวางระบบได้อย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ การทดลองและผิดพลาดจึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับมือใหม่ เพราะความผิดพลาดจะช่วยให้เราเข้าใจระบบของเกมและความเหมาะสมของกระบวนการที่ใช้มากขึ้น...สำหรับเนื้อหาในบทความนี้ก็มีเพียงเท่านี้ครับ ก็หวังว่าความรู้ในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนครูและบุคคลที่สนใจไม่มากก็น้อย ขอบคุณครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://medium.com/base-the-business-playhouse/gamification-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87-3413839e493d

Content Creator By: Warawat Nimanong

**หากมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจในประเด็นในสามารถ Comment คำถามไว้ข้างใต้ได้เลยครับ


**สำหรับบทความนี้จะเป็นบทความตอนที่ 1 ของเนื้อหา Gamification ครับ โดยจะเน้นให้รู้จักแนวคิดและลักษณะโดยภาพรวมของ Gamification ก่อน สำหรับตอนที่ 2 ที่จะทำในอนาคต ผมจะเน้นไปที่การนำไปประยุกต์ใช้และข้อดีข้อเสียของแต่ละกลไกที่นำมาใช้ออกแบบครับ

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(3)
เก็บไว้อ่าน
(7)