icon
giftClose
profile

ถามคือการสอน

27371
ภาพประกอบไอเดีย ถามคือการสอน

การถามคำถาม หรือ Questioning ในห้องเรียนคืออาวุธสำคัญของครูวิทยาศาสตร์ในการกระตุ้นการคิดของนักเรียน และท้าทายให้นักเรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็น วางแผนการสืบเสาะหาความรู้ ครูผู้ที่ถามคำถามเป็นคือ ครูผู้ที่สอนเป็น และสร้างห้องเรียนที่สร้างสรรค์ได้

มีครูวิทยาศาสตร์หลายท่าน อยากเป็นครูทีสามารถกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียน การสอนโดยให้นักเรียนทำการทดลอง จับอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถบ่มเพาะให้นักเรียนมีการนำความรู้ ทีกษะและเจตคติไปใช้ได้จริงในชีวินของพวกเขา แต่การเพิ่มรสชาติของการจัดการเรียนการสอนทีครูเป็นนักตั้งคำถาม และสร้างนักเรียนที่เป็นนักสืบเสาะ ย่อมสร้างห้องเรียนที่มีบรรยากาศของการเรียนรู้

การใช้คำถามเป็นเทคนิคสำคัญในการเสาะแสวงหาความรู้ที่มีประสิทธิภาพ เป็นกลวิธีการสอนที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่พัฒนาทักษะการคิด การตีความ การไตร่ตรอง การถ่ายทอดความคิด สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี การถามเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ช่วยให้ผู้เรียนสร้างความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาความคิดใหม่ ๆ กระบวนการถามจะช่วยขยายทักษะการคิด ทำความเข้าใจให้กระจ่าง ได้ข้อมูลป้อนกลับทั้งด้านการเรียนการสอน ก่อให้เกิดการทบทวน การเชื่อมโยงระหว่างความคิดต่าง ๆ ส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นและเกิดความท้าทาย

ระดับของการตั้งคำถาม

การตั้งคำถามมี 2 ระดับ คือ คำถามระดับพื้นฐาน และคำถามระดับสูง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1) คำถามระดับพื้นฐาน  เป็นการถามความรู้ ความจำ เป็นคำถามที่ใช้ความคิดทั่วไป หรือความคิดระดับต่ำ ใช้พื้นฐานความรู้เดิมหรือสิ่งที่ประจักษ์ในการตอบ เนื่องจากเป็นคำถามที่ฝึกให้เกิดความคล่องตัวในการตอบ คำถามในระดับนี้เป็นการประเมินความพร้อมของผู้เรียนก่อนเรียน วินิจฉัยจุดอ่อน – จุดแข็ง และสรุปเนื้อหาที่เรียนไปแล้ว คำถามระดับพื้นฐานได้แก่

1.1) คำถามให้สังเกต  เป็นคำถามที่ให้ผู้เรียนคิดตอบจากการสังเกต เป็นคำถามที่ต้องการให้ผู้เรียนใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในการสืบค้นหาคำตอบ คือ ใช้ตาดู มือสัมผัส จมูกดมกลิ่น ลิ้นชิมรส และหูฟังเสียง ตัวอย่างคำถามเช่น

æ  เมื่อนักเรียนฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกอย่างไร

æ  ภาพนี้มีลักษณะอย่างไร

æ  สารเคมีใน 2 บีกเกอร์ ต่างกันอย่างไร

æ  พื้นผิวของวัตถุเป็นอย่างไร

1.2) คำถามทบทวนความจำ  เป็นคำถามที่ใช้ทบทวนความรู้เดิมของผู้เรียน เพื่อใช้เชื่อมโยงไปสู่ความรู้ใหม่ก่อนเริ่มบทเรียน ตัวอย่างคำถามเช่น

æ  วันวิสาขบูชาตรงกับวันใด

æ  ดาวเคราะห์ดวงใดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

æ  ใครเป็นผู้แต่งเรื่องอิเหนา

æ  เมื่อเกิดอาการแพ้ยาควรโทรศัพท์ไปที่เบอร์ใด

1.3) คำถามที่ให้บอกความหมายหรือคำจำกัดความ  เป็นการถามความเข้าใจ โดยการให้บอกความหมายของข้อมูลต่าง ๆ ตัวอย่างคำถามเช่น

æ  คำว่าสิทธิมนุษยชนหมายความว่าอย่างไร

æ  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร

æ  สถิติ (Statistics) หมายความว่าอย่างไร

æ  บอกความหมายของ Passive Voice

1.4) คำถามบ่งชี้หรือระบุ  เป็นคำถามที่ให้ผู้เรียนบ่งชี้หรือระบุคำตอบจากคำถามให้ถูกต้อง ตัวอย่างคำถามเช่น

æ  ประโยคที่ปรากฏบนกระดานประโยคใดบ้างที่เป็น Past Simple Tense

æ  คำใดต่อไปนี้เป็นคำควบกล้ำไม่แท้

æ  ระบุชื่อสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง

æ  ประเทศใดบ้างที่เป็นสมาชิก APEC

2) คำถามระดับสูง  เป็นการถามให้คิดค้น หมายถึง คำตอบที่ผู้เรียนตอบต้องใช้ความคิดซับซ้อน เป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และกระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถใช้สมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาในการคิดหาคำตอบ โดยอาจใช้ความรู้หรือประสบการณ์เดิมมาเป็นพื้นฐานในการคิดและตอบคำถาม ตัวอย่างคำถามระดับสูงได้แก่

2.1) คำถามให้อธิบาย  เป็นการถามโดยให้ผู้เรียนตีความหมาย ขยายความ โดยการให้อธิบายแนวคิดของข้อมูลต่าง ๆ ตัวอย่างคำถามเช่น

æ  เพราะเหตุใดใบไม้จึงมีสีเขียว

æ  นักเรียนควรมีบทบาทหน้าที่ในโรงเรียนอย่างไร

æ  ชาวพุทธที่ดีควรปฏิบัติตนอย่างไร

æ  นักเรียนจะปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะทำให้ร่างกายแข็งแรง

2.2) คำถามให้เปรียบเทียบ  เป็นการตั้งคำถามให้ผู้เรียนสามารถจำแนกความเหมือน – ความแตกต่างของข้อมูลได้ ตัวอย่างคำถามเช่น

æ  พืชใบเลี้ยงคู่ต่างจากพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอย่างไร

æ  จงเปรียบเทียบวิถีชีวิตของคนไทยในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย

æ  DNA กับ RNA แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

æ  สังคมเมืองกับสังคมชนบทเหมือนและต่างกันอย่างไร

2.3) คำถามให้วิเคราะห์  เป็นคำถามให้ผู้เรียนวิเคราะห์ แยกแยะปัญหา จัดหมวดหมู่ วิจารณ์แนวคิด หรือบอกความสัมพันธ์และเหตุผล ตัวอย่างคำถามเช่น

æ  อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

æ  วัฒนธรรมแบ่งออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง

æ  สาเหตุใดที่ทำให้นางวันทองถูกประหารชีวิต

æ  การติดยาเสพติดของเยาวชนเกิดจากสาเหตุใด

2.4) คำถามให้ยกตัวอย่าง  เป็นการถามให้ผู้เรียนใช้ความสามารถในการคิด นำมายกตัวอย่าง ตัวอย่างคำถามเช่น

æ  ร่างกายขับของเสียออกจากส่วนใดบ้าง

æ  ยกตัวอย่างการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์

æ  หินอัคนีสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง

æ  อาหารคาวหวานในพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานได้แก่อะไรบ้าง

2.5) คำถามให้สรุป  เป็นการใช้คำถามเมื่อจบบทเรียน เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนได้รับความรู้หรือมีความก้าวหน้าในการเรียนมากน้อยเพียงใด และเป็นการช่วยเน้นย้ำความรู้ที่ได้เรียนไปแล้ว ทำให้สามารถจดจำเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างคำถามเช่น

æ  จงสรุปเหตุผลที่ทำให้พระเจ้าตากสินทรงย้ายเมืองหลวง

æ  เมื่อนักเรียนอ่านบทความเรื่องนี้แล้วนักเรียนได้ข้อคิดอะไรบ้าง

æ  จงสรุปแนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำเพื่อให้เกิดคุณค่าสูงสุด

æ  จงสรุปขั้นตอนการทำผ้าบาติค

2.6) คำถามเพื่อให้ประเมินและเลือกทางเลือก  เป็นการใช้คำถามที่ให้ผู้เรียนเปรียบเทียบหรือใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่หลากหลาย ตัวอย่างคำถามเช่น

æ  การว่ายน้ำกับการวิ่งเหยาะ อย่างไหนเป็นการออกกำลังกายที่ดีกว่ากัน เพราะ

เหตุใด

æ  ระหว่างน้ำอัดลมกับนมอย่างไหนมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่ากัน เพราะเหตุใด

æ  ดินร่วน ดินทราย และดินเหนียว ดินชนิดใดเหมาะแก่การปลูกมะม่วงมากกว่ากัน

เพราะเหตุใด

æ  ไก่ทอดกับสลัดไก่ นักเรียนจะเลือกรับประทานอาหารชนิดใด เพราะเหตุใด

2.7) คำถามให้ประยุกต์  เป็นการถามให้ผู้เรียนใช้พื้นฐานความรู้เดิมที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่หรือในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างคำถามเช่น

æ  นักเรียนมีวิธีการประหยัดพลังงานอย่างไรบ้าง

æ  เมื่อนักเรียนเห็นเพื่อนในห้องขาแพลง นักเรียนจะทำการปฐมพยาบาลอย่างไร

æ  นักเรียนนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต

ประจำวันอย่างไรบ้าง

æ  นักเรียนจะทำการส่งข้อความผ่านทางอีเมลล์ได้อย่างไร

2.8) คำถามให้สร้างหรือคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ หรือผลิตผลใหม่ ๆ  เป็นลักษณะการถามให้ผู้เรียนคิดสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำกับผู้อื่นหรือที่มีอยู่แล้ว ตัวอย่างคำถามเช่น

æ  กระดาษหนังสือพิมพ์ที่ไม่ใช้แล้ว สามารถนำไปประดิษฐ์ของเล่นอะไรได้บ้าง

æ  กล่องหรือลังไม้เก่า ๆ สามารถดัดแปลงกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร

æ  เสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว นักเรียนจะนำไปดัดแปลงเป็นสิ่งใดเพื่อให้เกิดประโยชน์

æ  นักเรียนจะนำกระดาษที่ใช้เพียงหน้าเดียวมาประดิษฐ์เป็นสิ่งใดบ้าง

การตั้งคำถามระดับสูงจะทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิดระดับสูง และเป็นคนมีเหตุผล ผู้เรียนไม่เพียงแต่จดจำความรู้ ข้อเท็จจริงได้อย่างเดียวแต่สามารถนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหา วิเคราะห์ และประเมินสิ่งที่ถามได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจสาระสำคัญของเรื่องราวที่เรียนได้อย่างถูกต้อง

และกระตุ้นให้ผู้เรียนค้นหาข้อมูลมาตอบคำถามด้วยตนเอง

การตอบคำถามระดับสูง ผู้สอนต้องให้เวลาผู้เรียนในการคิดหาคำตอบเป็นเวลามากกว่าการตอบคำถามระดับพื้นฐาน เพราะผู้เรียนต้องใช้เวลาในการคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งและมีวิจารณญาณในการตอบคำถาม ความผิดพลาดอย่างหนึ่งของการตั้งคำถามคือ การถามแล้วต้องการคำตอบในทันทีโดยไม่ให้เวลาผู้เรียนในการคิดหาคำตอบ

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: ED5F3747-0C63-424A-85A7-361C2E4348CD.jpeg

ดาวน์โหลดแล้ว 7 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(2)