icon
giftClose
profile

ไอเดียเปลี่ยนกิจกรรมวันแม่ ให้เป็นวันครอบครัว

26830
ภาพประกอบไอเดีย ไอเดียเปลี่ยนกิจกรรมวันแม่ ให้เป็นวันครอบครัว

กิจกรรมวันแม่ เป็นกิจกรรมที่ดี แต่อาจทำให้เด็กบางคน รู้สึกเสียใจ ใครมีทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ มาแลกเปลี่ยนไอเดียกันค่ะ

การกำหนดว่าต้องเป็นแม่ หรือพ่อเท่านั้นในวันสำคัญนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำความขาดพร่องของเด็กโดยไม่จำเป็น และยิ่งส่งผลทำให้การทำงานเกิดช่องว่างที่กว้างขึ้น


การที่ประเทศไทยมีการกำหนดให้มี กิจกรรมวันแม่ วันพ่อ ขึ้น ถือเป็นโอกาสที่สำคัญหากเพียงแต่เราเปลี่ยนวันที่จำกัดเพียง คำว่าแม่หรือพ่อ แต่เปลี่ยนให้เป็น “วันครอบครัว” แล้วชวนคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กมาพบปะ เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์เชิงบวกร่วมกัน


เปลี่ยนจากวันที่ถูกจำกัดด้วยลักษณะกิจกรรม ที่ใช้แรงจูงใจภายนอก (Extrinsic Motivation) ในการให้เด็กแสดงความรักต่อหน้าผู้อื่นด้วยการกราบ ซึ่งการกระทำโดยใช้แรงจูงใจแบบนี้ ในทางจิตวิทยามองว่า เป็นการจูงใจให้เกิดผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น ไม่ได้สามารถทำให้เด็ก และครอบครัวเกิดความรู้สึกดีต่อกันในระยะยาวยาวได้


ซึ่งหากเพียงแต่เรา “เปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรม” จากเดิมมาเป็นการชวนทำกิจกรรมที่มีความหมายร่วมกัน เช่น ใช้เป็นโอกาสในการ พูดคุย คลี่คลาย ทำความเข้าใจร่วมกันในประเด็นต่างๆที่อาจเกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน โดยครูทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยประคองความสัมพันธ์


หรือจะทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น รู้สึกได้รับการยอมรับมากขึ้น ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวมุมดีๆของเด็กให้ผู้ปกครองฟัง เพื่อให้เรื่องราวของเด็กแต่ละคนกลายเป็นของขวัญชิ้นสำคัญในวันครอบครัวนี้


หากคิดกิจกรรมไม่ออก อยากชวนคิดโดยใช้แว่นเพื่อมององค์ประกอบของกิจกรรมที่เราจะจัดขึ้นว่าตอบโจทย์จริงมากน้อยเพียงใด ผ่านทฤษฎีจิตวิทยาเชิงบวกของ Seligman, 2011 ที่เรียกว่า P.E.R.M.A. อันประกอบไปด้วย

#อารมณ์เชิงบวก (Positive emotions) กิจกรรมที่จะจัดขึ้นนั้น สามารถสร้างอารมณ์เชิงบวกของคนที่มาเข้าร่วมได้จริงมากน้อยเพียงใด ซึ่งอารมณ์เชิงบวก ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความสนุก (Joy) ความตื่นเต้น (Interest) หรือ ความเพลิดเพลิน (Amusement) หากแต่ยังหมายถึง อารมณ์ที่เรียกว่า ความหวัง (Hope) ความรู้สึกขอบคุณ (Gratitude) ความรู้สึกมีแรงบันดาลใจ (Inspiration) และความรู้สึกภาคภูมิใจ (A Sense of Pride) ด้วย

#การมีส่วนร่วม (Engagement) กิจกรรมที่จะจัดนั้น ผู้เข้าร่วมได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมนำเสนอสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นภายในงานมากน้อยเพียงใด หรือในระหว่างการจัดกิจกรรมผู้เข้าร่วมได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นๆจริงมากน้อยเพียงใด ทำอย่างไรให้ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง เป็นส่วนสำคัญของงานในวันนั้นเกิดขึ้นผ่านการมีส่วนร่วมจริงๆ มากกว่าการบอกกล่าวว่าผู้เข้าร่วมสำคัญ

#ความสัมพันธ์กับคนอื่น (Positive Relationships) กิจกรรมที่จะจัดขึ้นนั้น สามารถนำไปสู่การสร้างประสบการณ์ของการมีความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว หรือระหว่างครอบครัว โรงเรียน และเด็ก ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งการสร้างประสบการณ์ของความสัมพันธ์ที่ดี ถือเป็นทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology Capital) ที่สำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งภายในจิตใจ (Mental Toughness) ระยะยาวให้กับเด็ก และทุกคนได้

.

#มีความหมาย (Meaning) กิจกรรมที่จะจัดขึ้นนี้ สามารถช่วยให้ครอบครัว เด็ก และโรงเรียน มองเห็นคุณค่า และความหมายของการทำงานร่วมกันเชิงบวกได้มากน้อยเพียงใด หากการจัดกิจกรรมสามารถทำหน้าที่นี้ได้ รูปแบบการทำงานร่วมกันในอนาคตระหว่างกัน ก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะการรับรู้ และตระหนักในความหมายของสิ่งที่ทำ คือ หัวใจของการสร้างพันธะสัญญาทางจิตใจ (commitment) ที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงความเชื่อต่อการกระทำระยะยาวได้ ซึ่งนั้นหมายถึงว่า ครอบครัว เด็ก และครู จะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองในทางที่ดีขึ้นได้หากรับรู้และตระหนักในความหมายร่วมกัน

#ความสำเร็จ (Accomplishments) กิจกรรมที่จะจัดขึ้นนี้ สามารถช่วยให้ผู้เข้าร่วม ทั้งเด็กและครอบครัว รวมถึงครู ได้สัมผัสประสบการณ์ของความสำเร็จ ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งองค์ประกอบของประสบการณ์ความสำเร็จนี้ต้องไม่ใช่ความสำเร็จที่มาจากการแข่งขัน (Competition) แต่เป็นความสำเร็จที่มาจากสิ่งที่ร่วมมือกันทำ (Collective) ซึ่งหากทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์นี้ จะช่วยให้มุมมอง วิธีคิด (Mindset) ที่มีต่อกันทั้งระหว่างเด็กด้วยกัน ระหว่างครูกับเด็ก ระหว่างครอบครัวด้วยกัน หรือกระทั่งระหว่างครอบครัวกับโรงเรียนและครู สามารถปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้ อีกทั้งยังถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการช่วยยืนยันความรู้สึกมีตัวตน (Self-Assertiveness) ของเด็กทุกคนได้อีกด้วย

.

ซึ่งหากสามารถจัดรูปแบบกิจกรรมเป็นเช่นนี้ได้แล้ว ก็จะไม่มีเด็กคนไหนรู้สึกเป็น nobody child ในช่วงวันแม่หรือวันพ่อ อีกต่อไป แต่จะเต็มไปด้วยโอการในการเสริมพลัง (Empower) ครอบครัว ให้สามารถก้าวเข้ามาส่วนสำคัญของการศึกษาไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม

.

ติดตามและร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อช่วยให้การทำงานระหว่างครอบครัวกับโรงเรียน เกิดการมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริงได้ที่

>>> โปรเจค FamSkool โดยการสนับสนุนของ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สสส.) ได้ทางเพจ Life Education Thailand

.

ขอบคุณข้อมูลจากคุณสมิต Life Education

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(1)