icon
giftClose
profile

งานกลุ่ม ไม่กลุ้มใจ

37643
ภาพประกอบไอเดีย งานกลุ่ม ไม่กลุ้มใจ

"ทำงานกลุ่ม จำเป็นต้องได้คะแนนเท่ากันจริงหรือ ?"

ผมชอบให้นักเรียนทำงานกลุ่ม เพราะจะได้ฝึกทักษะการทำงานร่วมกัน และเห็นไอเดียแปลกใหม่

และหลาย ๆ ครั้ง มักพบว่ามีนักเรียนมาฟ้อง


"ครูขา มีคนไม่ช่วยเพื่อนทำงานกลุ่ม แต่ทำไมเขาถึงได้คะแนนเท่าพวกหนูล่ะคะ"


หรือหนักหน่อยก็ไม่ฟ้อง แต่เลือกที่จะเก็บเป็นความอึดอัดข้างในใจ


คนทำก็ทำ...คนไม่ทำก็ไม่ทำ...ในเมื่อความสบายใจส่วนหนึ่งของนักเรียนได้ผูกไว้กับผลของคะแนน

ผมจึงจำเป็นต้องให้คะแนนด้วยความยุติธรรม


ผมตัดสินใจแก้ปัญหานี้โดย...

นำไอเดียที่ได้จาก ผศ.ดร.วาลี ปรีชาปัญญากุล อาจารย์สอนวิชาภาษาสื่อสารมวลชน สาขาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อาจารย์ใช้วิธีการ "งานกลุ่ม ไม่กลุ้มใจ" กับนักศึกษา เพราะเห็นปัญหาการอู้งาน ความไม่แฟร์

มาปรับใช้กับนักเรียน โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้


  1. ให้นักเรียนเขียนชื่อสมาชิกทุกคนในกลุ่ม(รวมตนเอง) โดยไม่ต้องระบุชื่อว่าแผ่นนั้นเป็นของใคร
  2. จากนั้นให้นักเรียน ให้คะแนนเพื่อนในกลุ่ม เต็ม 5 ให้เท่าไร (ให้ความร่วมมือเต็มที่ ให้ 5 ...นอนรอคะแนน ให้ 1)
  3. รวบรวมกระดาษรายชื่อจากนักเรียน แล้วแยกตามกลุ่ม
  4. รวมคะแนน เช่น กลุ่ม 1 มีสมาชิก 5 คน คะแนนจากเพื่อนในกลุ่มคือเต็ม 25
  5. นักเรียที่ได้รับการประเมินจากเพื่อนหากได้คะแนนเต็ม แสดงว่าให้ความร่วมมือดี สมควรได้รับคะแนนอย่างเป็นธรรม
  6. หากนักเรียนคนใด ที่ได้คะแนนจากเพื่อนน้อย ย่อมได้คะแนนลดหลั่นกันลงมา
  7. หรือเด็กในข้อ 6 อาจมีปัญหาเกิดขึ้นในกลุ่ม เราอาจชวนเด็กมาพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น อย่าเพิ่งด่วนสรุปเกินไป
  8. ก่อนอื่น ให้ครูชี้แจงกับนักเรียนก่อนว่าจะทำการพิจารณาคะแนนด้วยวิธีการแบบนี้ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนร่วมมือกันทำงานกลุ่ม


การใช้วิธีแบบนี้ทำให้เราเห็นอะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งความจริงและอคติ

เช่น ด.ญ.กุ๊กกู๋ ได้รับ 5 คะแนนจากเพื่อนทุกคน ยกเว้นจาก 1 แผ่น ที่ให้คะแนนกุ๊กกู๋ 2 ...

หรือ ด.ช.ต๊อกต๋อย ได้รับ 1 คะแนนจากเพื่อนทุกคน


วิธีการเช่นนี้ทำให้เราเห็นปัญหาที่เด็กไม่กล้าสื่อสารกับเราตรง ๆ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น กลัวเพื่อนเกลียด กลัวครูเฉยเมย ฯลฯ

จากนั้นเราก็ยื่นมือเข้าไปช่วยจัดการปัญหา ปรับความเข้าใจต่อไป


แรก ๆ ที่ผมใช้วิธีนี้ เด็ก ๆ ให้คะแนนกันแบบจริงจังมาก ให้ 1 ให้ 2 กันมาก็มี

แต่หลังจากพูดคุยกันถึงปัญหาที่เกิด ปรับความเข้าใจกัน ไปจนถึงการทำให้เด็กเห็นว่าเราจริงจังกับวิธีการแบบนี้


...ผมก็รวมคะแนนไม่ยากอีกต่อไป เพราะนักเรียนให้คะแนน 5 คะแนนซึ่งกันและกันเสมอ


"วิธีการเช่นนี้อาจยุ่งยาก ใช้เวลารวมคะแนนนานหน่อย แต่มันคุ้มที่จะให้ความเป็นธรรม เห็นปัญหา และนำไปแก้ไข"
อ.วาลี กล่าว


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(4)
เก็บไว้อ่าน
(11)