icon
giftClose
profile

Infographic

13862
ภาพประกอบไอเดีย Infographic

การวางแผนด้วยการคิดเป็นภาพ

Visual Thinking คืออะไร

ในการเรียนรู้ ฟังบรรยาย การเข้าอบรมต่างๆ เรามักจะได้รับข้อมูลจำนวนมากเข้ามาในสมองในระยะเวลาอันสั้น ทำให้หลายครั้งไม่สามารถเชื่อมโยง ทำความเข้าใจข้อมูลเหล่านั้นได้ ส่งผลให้ไม่สามารถจดจำข้อมูลหรือไม่เข้าใจข้อมูลบางจุด นอกจากนี้การสอนบรรยาย เล่าเรื่อง ปัจจุบันต้องรับมือกับพฤติกรรมของผู้เรียนที่เปลี่ยนไป เช่นสมาธิสั้น เบื่อง่าย ต้องการสิ่งเร้ามากระตุ้นในการเรียนรู้ ทำให้การบรรยายหน้าห้องแบบเดิมๆไม่ดึงดูดผู้เรียนอีกต่อไป ซึ่งปัจจุบันได้มีนักคิดใช้เทคนิควาดภาพง่ายๆ ที่เรียกว่า Visual เข้ามาช่วยในการเรียนรู้และการสอนของอาจารย์และผู้เรียนได้

นิยามของ Visual Thinking คือกระบวนการออกแบบความคิดที่จะช่วยสร้าง “วิธี” คิดใหม่ให้เราคิดและมองอะไรชัดขึ้น ง่ายขึ้น เห็นความเชื่อมโยงในสิ่งต่างๆ

ประโยชน์ของ Visual Thinking

เร้าการคิด ด้วยภาพง่ายๆ (Visual Note-taking) การได้จดข้อมูลเป็นการขยับร่างกายหนึ่งเดียวระหว่างรับความรู้ ข้อมูลต่างๆจากการฟังบรรยาย หากเปลี่ยนการจดมาเป็นการวาดภาพง่ายๆ ใช้สีสัน เส้น และลดปริมาณตัวอักษรให้เหลือเพียงประเด็นสำคัญ จะทำให้เห็นภาพรวมของเรื่องทั้งหมด และเห็นความเชื่องโยงกลุ่มข้อมูลได้ นอกจากนี้ยังทำให้คงสมาธิของผู้เรียนได้นานขึ้นเพราะได้คิดภาพและวาดตาม สามารถถามประเด็นที่ตกหล่น สงสัย หรือหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ง่าย

ใช้ภาพช่วยเล่าเรื่อง (Visual Aid for Storytelling) ในการสอนแบบบรรยาย การเล่าเรื่องราวต่างๆ หากใช้การวาดภาพประกอบการเล่าไปด้วย จะส่งผลให้เราพูดไปยังประเด็นสำคัญก่อน ซึ่งหากมีเวลาการพูดจำกัดนั้นจะทำให้ผู้เล่าเรื่องถ่ายทอดประเด็นสำคัญๆได้ นอกจากนี้การวาดภาพยังช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยงต่างๆ ของข้อมูลได้ตรงกันทั้งผู้เล่าและผู้ฟังแม้จะเล่าเรื่องราวที่ซับซ้อนมากๆ หรือมีเล่าเรื่องสลับประเด็นไปมา แต่ผู้ฟังก็จะสามารถเห็นประเด็นที่เล่าอยู่ได้จากภาพที่วาดเอาไว้ได้

ช่วยระดมไอเดียด้วยภาพ (Visual Facilitation) ในการเป็น Facilitator หรือเป็นผู้นำวงสนทนาต่างๆ มักจะใช้ทักษะการจดบันทึก จดรวบรวมแนวคิด ทบทวนความคิดเห็นต่างๆ และสรุปการสนทนา ซึ่งการวาดภาพลงไปในการจดกระดาน หรือจดประเด็นแนวคิด จะสามารถเห็นภาพรวมได้ง่าย หรือเห็นประเด็นที่ซ้ำซ้อน ตกหล่น เพื่อให้ Facilitator ได้สอบถามทำความเข้าใจให้ถูกต้องที่สุดได้ง่ายขึ้น

ช่วยการสอนของครู (Visual Accelerated Classroom) ในการสอนนอกจากจะช่วยการเล่าบรรยายของครู อาจารย์ วิทยากร และการจดบันทึกของผู้เรียนแล้วภาพ Visual ยังสามารถประยุกต์ไปทำเป็นกิจกรรมต่างๆในห้องเรียนได้อีกด้วย เช่น ให้ผู้เรียนวาดเนื้อหาความรู้เป็นภาพ แล้วผลัดกันสอนในห้อง เป็นต้น

ทักษะที่ต้องการ

ในการฝึกฝน Visual Thinking นั้นมีทักษะพื้นฐานดังนี้

ฟัง-จับประเด็น เป็นการฟังอย่างตั้งใจและจับประเด็นให้ได้เพื่อนำไปวาด ลดการสอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัวให้มากที่สุด

ถาม-ตอบ เพื่อทำให้ได้รายละเอียดของข้อมูลครบถ้วน หรือไขข้อสงสัยในบางจุด ดังนั้นการถามตอบเพิ่มเติมจึงเป็นอีกทักษะสำคัญสำหรับ Visual thinking

คิด-เชื่อมโยง หลังจากการฟังและถามข้อมูลเพิ่ม ผู้ที่ทำหน้าที่จดบันทึกจะต้องทำการเชื่อมโยงภาพในจินตนาการให้ตรงกับคำสำคัญที่สุด ก่อนที่จะวาดออกมา

วาด หลังจากทำการคิดภาพในจินตนาการได้เรียบร้อย ก็จะทำการวาดภาพนั้นออกมา โดยเน้นที่ความรวดเร็ว และสื่อสารได้ชัดเจนพอ ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดให้สวยงามก็ได้


เทคนิคการวาดภาพของ Visual Thinking

การวาดภาพสำหรับ Visual Thinking นี้ เป็นเพียงถ่ายทอดภาพในจินตนาการให้ตรงกับประเด็นสำคัญ (Keyword) ของเรื่องเท่านั้น โดยมากจะเน้นไปที่ความรวดเร็ว วาดได้ง่าย และชัดเจนพอที่จะมองออกว่าสื่อสารถึงอะไร ไม่จำเป็นต้องมีทักษะทางศิลปะมาก หรือสวยงาม ซึ่งเทคนิคในการวาดภาพจะมีดังนี้

วาดเป็นสัญลักษณ์ (Symbol/Icon) ใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เข้าช่วย หรือเป็นภาพสิ่งของต่างๆในรูปแบบเรียบง่าย เช่น วาดภาพหน้าตา ท่าทางต่างๆ ของคน วาดสิ่งของ เป็นต้น

วาดเป็นแผนภาพ (Diagram)  ใช้แผนภาพช่วยในการวาด คำที่เป็นนามธรรมหรือจินตนาการภาพได้ยาก เช่น กระบวนการตัดสินใจต่างๆ การจัดหมวดหมู่ กราฟ เป็นต้น

วาดเชิงเปรียบเทียบ (Analogy)  ใช้การเปรียบเทียบเข้าช่วย เช่น ความรู้คือทรัพย์สมบัติ การเติบโตดั่ง ต้นไม้ เป็นต้น

วาดฉาก/เรื่องราว (Scene) ใช้เหตุการณ์ ประสบการณ์ ของตนเองมาสื่อสาร โดยมากจะวาดเป็นฉากละครที่มาจากมุมมองของตัวผู้วาดเองเป็นหลัก



ขอขอบคุณบทความดีๆ

บทความโดย ไพฑูรย์ อนันต์ทเขต

ขอขอบคุณสถาบันส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ (Black Box) สำหรับการอบรมกิจกรรม ” Visual Thinking คิด เห็น เป็นภาพ” ไว้ ณ ที่นี้ด้วย


แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(6)
เก็บไว้อ่าน
(0)