icon
giftClose
profile

นักข่าวเก็บเรื่องราววรรณคดี

69117
ภาพประกอบไอเดีย นักข่าวเก็บเรื่องราววรรณคดี

หลอกให้อ่าน สนุกสนาน และสรุปองค์ความรู้ ด้วยนักเรียนเอง

กิจกรรมต่อไปนี้ เหมาะสำหรับวิชาภาษาไทย เนื้อหาเกี่ยวกับวรรณคดี

โดยใช้เวลา 1 คาบ เป็นกิจกรรมให้นักเรียนอ่านเนื้อหาโดยมีจุดหมายและฝึกเชื่อมโยง คาดเดา ข้อมูล

.

อุปกรณ์

เอกสารการสอน/ใบงานที่มีเนื้อหาวรรณคดีทีจะสอน

ป้ายตัวละครต่าง ๆ ในวรรณคดี

ในกรณีนี้ผมสอนเรื่องนิทานเวตาลเรื่องที่ 10 จะมีป้ายตัวละคร ได้แก่

  1. นักข่าววรรณคดี
  2. ท้าวมหาพล
  3. พระมเหสีและพระธิดา
  4. ท้าวจันทรเสน
  5. พระราชบุตร

อาจทำเป็นธง ป้าย หรืออะไรตามที่สะดวกครับ เพื่อให้เด็กทราบว่าต้องโฟกัสตัวละครตัวไหน ของผมรีบคิดรีบทำเลยได้มาตามยถากรรมครับ 555+


ขั้นตอนการทำกิจกรรม

  1. นักเรียนแบ่งกลุ่มกันตามจำนวนตัวละครในวรรณคดีเรื่องนั้น ๆ และอย่าลืมเพิ่มนักข่าวไปเป็น 1 ตัวนะครับ เช่น นิทานเวตาลผมแบ่งให้มี 4 ตัว คือ ท้าวมหาพล พระมเหสีและพระธิดา(มัดรวมเลย) ท้าวจันทรเสน พระราชบุตร และนักข่าว จะได้ทั้งหมด 5 กลุ่ม
  2. ตัวแทนกลุ่มเลือกธง/แผ่นป้ายตัวละคร (ครูอาจใช้วิธีสุ่มให้ก็ได้ครับ)
  3. กลุ่มที่จับได้ "ตัวละคร" อ่านเนื้อเรื่องในหนังสือ/ใบงาน ที่กำหนดให้แล้วเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวละครนั้น ๆ ให้ได้มากที่สุด และรอตอบคำถามจากนักข่าว โดยตอบเฉพาะคำถามที่เกี่ยวข้องกับตัวละครกลุ่มตัวเองเท่านั้น
  4. กลุ่มที่จับได้ "นักข่าว" ห้ามอ่านหนังสือ/ใบงาน แต่รอตั้งคำถามกับกลุ่มตัวละคร ครูอาจมีลิสต์คำถามย่อย ๆ ให้ เช่น
  5. ท้าวมหาพล : เป็นใคร, ได้ข่าวว่าไปตายในป่า ?
  6. พระมเหสีกับพระธิดา : ได้ข่าวว่าแม่มีลักษณะพิเศษหรอ, แล้วทำไมได้หนีเข้าป่ากัน
  7. ท้าวจันทรเสน : เป็นใคร มาทำอะไรในป่า เจออะไรในป่า
  8. พระราชบุตร : เป็นใคร เจออะไรในป่า แล้วตกลงอะไรกับพ่อหรือเปล่า ผลเป็นอย่างไร ?
  9. ให้เวลาแต่ละกลุ่มอ่าน 5 - 10 นาที
  10. จากนั้นให้กลุ่มนักข่าวกระจายกันไปสัมภาษณ์กลุ่มตัวละครแต่ละกลุ่ม และนำแผ่นป้าย/ธงกลับมา
  11. กลุ่มนักข่าวกลับมารวมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และสรุปข้อมูลเป็น การแถลงข่าว
  12. ตัวแทนนักข่าวแถลงข่าวหน้าชั้นเรียน แต่ละกลุ่มเป็นผู้ฟัง และช่วยกันเสริมเนื้อเรื่องที่ตกหล่น
  13. ครูคอยเป็นโค้ช ตั้งคำถาม ยุแหย่ ให้กำลังใจ เช่น ใช่หรอ เอ้อ ๆ มาถูกทางแล้ว ยังไงต่อ ๆ
  14. จากนั้นครูสรุปข้อมูล ชวนนักเรียนตั้งคำถาม ถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหา คุณค่า ฯลฯ


ภาพประกอบการทำกิจกรรม

.

.

นักเรียนกำลังเก็บข้อมูลตัวละคร

.

.

.

.

นักข่าวลงพื้นที่สัมภาษณ์

.

.

ข้อสังเกตและสิ่งที่ได้จากกิจกรรม

  • พบว่านักเรียนกระตือรือร้นในการอ่าน มากกว่าการบอกให้อ่านพร้อมกันทั้งห้อง เพราะเหมือนว่านักเรียนมีจุดมุ่งหมายในการอ่านที่ชัดเจน คือ อ่านเพื่อเก็บข้อมูลตัวละครของกลุ่มตัวเอง
  • นักข่าวจะตื่นเต้นที่สุด เพราะไม่ได้อ่านกับเพื่อน แต่ได้จากการฟังและการปะติดปะต่อข้อมูล เพื่อนคนอื่น ๆ ก็ตื่นเต้นว่าจะเล่าออกมาตรงกับที่อ่านมาไหม
  • หากอยากให้ลุ้นทั้งห้อง แนะนำว่าให้ทำใบงานเฉพาะของตัวละครแต่ละตัว โดยหลีกเลี่ยงเรื่องทั้งหมด เพื่อที่ทุกคนจะได้ตั้งใจฟังกลุ่มนักข่าวสรุป


ลองปรับใช้ดูนะครับ ผมว่าเหมาะกับวรรณคดีที่เรื่องไม่ใหญ่มาก ถ้าเป็นอิเหนา ลิลิตตะเลงพ่าย ไรงี้ ผมว่ามีเหงาแน่ ๆ

เลยเอามาทดลองกับเวตาลที่เป็นเรื่องเล็ก ปรากฏว่ากำลังดีครับ สนุกสนานกันไป


อุปสรรคและปัญหาที่พบ

  • นักเรียนกลุ่มอื่นอยากเป็นนักข่าวบ้าง T^T เลยคิดว่าจะต้องนำมาใช้อีกในการเรียนวรรณคดีเรื่องต่อ ๆ ไป หรืออาจใช้กับบทความพิเศษในวาระอื่น ๆ
  • ถ้าเราให้นักเรียนกลุ่มตัวละคร อ่านเรื่องเต็ม จะไม่ค่อยตั้งใจฟังนักข่าว ต่อมาเลยปรับให้อ่านแค่ตัวบทที่เกี่ยวกับตัวละครเท่านั้น ปรากฏว่ากระตือรือร้นและสนใจนักข่าวมากขึ้น


หากเพื่อนครูท่านอื่นมีคำแนะนำเพิ่มเติม ยินดีรับฟังอย่างยิ่งครับ

ขอใช้พื้นที่แห่งนี้แบ่งปันไอเดียการสอน เพราะหลายไอเดียที่ผมนำไปสอน ก็ได้มาจากพื้นที่แห่งนี้ครับ

ขอบคุณครับ :)

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(37)
เก็บไว้อ่าน
(50)