เปลี่ยนจากการ Review สินค้าเป็นการ Review การเรียนการสอน
: การสะท้อนคิด (Reflective Thinking) ในรูปแบบของการเขียน Review
จตุพร ตระกูลปาน
ครูโรงเรียนสระบุรีวิทยาคม
“ไหนลองเขียน Review วิชาครูให้หน่อยสิ”
“เขียนยังไงคะครู”
“เธอเคยอ่านรีวิวสินค้าในเน็ตไหม เขียนแบบรีวิวสินค้านั่นแหละ แต่เปลี่ยนจากรีวิวสินค้าเป็นรีวิวการเรียนการสอนวิชาครู รีวิวมาให้หมดเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาสาระ วิธีสอน ตัวครู สื่อ ใบงาน กิจกรรม สภาพห้องเรียน บรรยากาศ เอาให้รอบด้านเลยนะ รีวิวตัวเองด้วยว่าเรียนรู้อะไรไปบ้าง รู้สึกไงบ้าง เรียนไปแล้วมีประโยชน์ไหม รีวิวเพื่อนร่วมห้องด้วยนะ เขียนมาเถอะตามความเป็นจริง ครูรับได้ 5555 งานนี้ไม่มีถูก ไม่มีผิด เขียนมาก็ให้คะแนนแล้ว ไม่ต้องอวยครูนะ ครูอยากรู้ว่าเธอได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง คิดยังไง และที่สำคัญครูอยากได้ข้อมูลมาพัฒนาการสอนของครูครับ”
“โอเคค่ะครู แล้วทำใส่สมุดหรอคะ”
“ให้เขียนรีวิวลงใน facebook เลยครับ ใส่อีโมจิได้ตามสบาย แล้ว tag ครูมาด้วยนะ”
บทสนทนานี้เป็นบทสนทนาระหว่างนักเรียนและครูในคาบเรียนวิชาหลักภาษาไทย ณ โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม ครูได้ให้นักเรียนเขียนรีวิวการเรียนการสอนรายวิชาหลักภาษาไทยอย่างรอบด้าน โดยให้เขียนใน Facebook แล้ว tag ครู การเขียนรีวิวนี้นำแนวคิดมาจากการที่ผู้คนในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญกับการอ่านรีวิวสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งกิจกรรมนี้ให้นักเรียนได้เปลี่ยนบทบาทจากผู้อ่านเป็นผู้เขียน การฝึกเขียนรีวิวนี้เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการสะท้อนคิด (Reflective Thinking)
การสะท้อนคิด มีผู้ที่ให้คำนิยามไว้ว่า การสะท้อนคิด หมายถึง กระบวนการคิดไตร่ตรองทวนสอบ (Reflective Thinking) เป็นการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบคอบโดยใช้สติและมีสมาธิซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้ตัวเราได้ทบทวนและสะท้อนการกระทำของตน (Reflective Practice) โดยสามารถแสดงออกได้ทั้งการพูดและการเขียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์แสวงหาคำตอบโดยใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหานำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงตนเองและปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพ (อรพรรณ ลือบุญธวัชชัย , 2553)
การที่จะส่งเสริมให้มีการสะท้อนคิด หรือสะท้อนการเรียนรู้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเขียนบันทึก (Journal Writing) การสนทนา (Dialogue) การวิเคราะห์อุบัติการณ์ (Incident Analysis) การอ่านงานเขียนอย่างพินิจพิเคราะห์ (Reading With Reflection) การเขียนบัตรคำ (Talking Cards/Index Cards) การเขียนแผนผังความคิด (Reflection Mapping) (สำนักงาน ก.พ. , 2560) ทั้งนี้ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ผู้เขียนได้นำรูปแบบของการเขียนรีวิวสินค้ามาประยุกต์ใช้ในการฝึกให้นักเรียนสะท้อนคิด โดยกำหนดประเด็นต่าง ๆ อย่างรอบด้านเพื่อให้นักเรียนได้สะท้อนคิดออกมาอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะด้านเนื้อหาสาระ กระบวนการจัดการเรียนการสอน สื่อและแหล่งเรียนรู้ ตัวครูผู้สอน บรรยากาศในชั้นเรียน เพื่อร่วมชั้นเรียน สภาพห้องเรียน รวมทั้งตัวนักเรียนเอง
กิจกรรมการเขียนรีวิวรายวิชานี้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้เรียนและครูผู้สอน ประโยชน์ที่ผู้เรียนได้รับคือได้ฝึกการสะท้อนคิดว่าคิดเห็นอย่างไร รู้สึกอย่างไรกับการเรียนการสอนวิชานี้ ได้สะท้อนการเรียนรู้ของตนเองว่าได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง ได้ฝึกทักษะการเขียนสื่อสารในประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งได้พัฒนาความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ในส่วนของครูผู้สอน ครูผู้สอนจะได้รับข้อมูลอันเป็นประโยชน์ที่จะทำมาใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ยังสามารถพัฒนาได้ ทั้งนี้ ครูผู้สอนต้องเปิดใจรับฟังข้อมูลที่ได้จากการเขียนรีวิวของนักเรียน
บทความนี้เกิดจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนนำไปใช้จริงในการจัดการเรียนการสอน ผู้เขียนเห็นว่าสามารถนำไปใช้ได้จริงและเป็นประโยชน์จึงนำประสบการณ์มาเรียบเรียงเป็นบทความเพื่อเผยแพร่แนวคิดนี้สู่การปฏิบัติ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อย “ทุกการสอนเป็นไปได้”
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, (2560). คู่มือการสะท้อนการเรียนรู้. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.ocsc.go.th/sites/default/files/attachment
/article/3_manual_reflection.pdf. (22 ตุลาคม 2563).
อรพรรณ ลือบุญธวัชชัย, (2553). การให้คำปรึกษาทางสุขภาพ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่ง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.