icon
giftClose
profile

Among Us กับการจัดกิจกรรมในชั้นเรียน

50052
ภาพประกอบไอเดีย Among Us กับการจัดกิจกรรมในชั้นเรียน

นักเรียนตัวดี และนักเรียนตัวร้าย ประลองความรู้จริง และความรู้หลอก ได้ความรู้ สนุกสนาน และการตั้งข้อสงสัย

กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการนำรูปแบบของเกม Amomg us เข้ามาใช้ร่วมกับเนื้อหาการเรียน

โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้


1.เกม Among Us คืออะไร (หากใครทราบกติกาดีอยู่แล้วข้ามข้อนี้ไปได้เลย)


เกมนี้จะมีสมาชิกเล่นได้ครั้งละ 4 - 10 คน โดยเราจะโดนสุ่มบทบาทว่าจะเป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายร้าย สำหรับฝ่ายดี จะได้รับบทบาทเป็น “ลูกเรืออวกาศ หรือ The Crewmate” เพื่อทำภารกิจต่าง ๆ ให้สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด และฝ่ายร้ายจะได้รับบทบาทเป็น “เอเลี่ยน หรือ Imposter” แฝงตัวมาเพื่อขัดขวาง ทำลายภารกิจของเหล่า The Crewmate และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องไม่ถูกจับได้ หากฝ่าย The Crewmate ทำภารกิจไม่สำเร็จตามเวลาละก็ยานอวกาศก็จะระเบิดและฝ่าย Imposter ก็จะเป็นผู้ชนะ ความสนุกของเกมนี้อยู่ที่วิธีการของแต่ละผู้เล่น ว่าจะงัดสกิลการโกหกออกมาให้แนบเนียนที่สุด เพื่อให้ตัวเองเป็นผู้อยู่รอด ละคว้าชัยชนะในตอนจบ ถือว่าเป็นเกมปั่นประสาท ทำลายมิตรภาพชั้นดี ต่างคนต้องต่างเอาตัวรอด ปั่นหัวกันและกัน เพื่อที่จะกลายเป็นผู้ชนะในเกม


2.จะนำเกมมาปรับใช้อย่างไร


ผมสอนในรายวิชาภาษาไทย ระดับชั้น ม.4 จึงนำเกมมาปรับใช้กับบทเรียนที่เป็นเรื่องเล่า มีเนื้อหาในปริมาณไม่มาก เพราะจะได้พอดีกับเวลา โดยผมเลือกบทเรียน "ความทุกข์ของชาวนา" มาเป็นเนื้อหาหลักในกิจกรรมครั้งนี้ ดังนั้นในวิชาอื่น ๆ แนะนำให้เลือกเรื่องที่นักเรียนสามารถอ่านและพอทำความเข้าใจเองได้เบื้องต้น เป็นเนื้อหาหลักครับ


จากนั้นเมื่อเลือกเนื้อหาได้แล้ว ให้ดำเนินการจัดกลุ่ม จับฉลากแบ่งฝ่าย และเริ่มภารกิจ โดยผมจะใช้กิจกรรมของผมเป็นต้นแบบ ดังนี้


ผมแบ่งนักเรียนในกลุ่มเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายชาวนา และฝ่าย Imposter โดยฝ่ายชาวนา คือฝ่ายที่พยายามทำแบบฝึกหัดให้ถูกต้องที่สุด และฝ่าย imposter เป็นฝ่ายที่พยายามทำให้เพื่อนในกลุ่มไขว้เขว และทำผิดมากที่สุด และอย่าลืมว่าห้ามให้นักเรียนเปิดเผยสถานะของตัวเองระหว่างดำเนินกิจกรรม เพื่อความลุ้น ตื่นเต้น อิอิ


เมื่อนักเรียนทราบบทบาทหรือภารกิจของตัวเองแล้ว นักเรียนจะเริ่มทำภารกิจของตน คือ การอ่านหนังสือ


(ตัวอย่างใบแสดงบทบาทและภารกิจ)


เมื่อนักเรียนอ่านจบแล้ว จะเริ่มแจกใบภารกิจ (ใบงานนั่นแหละ) แล้วให้นักเรียนลงมือทำ



รูปแบบของใบงานหรือใบภารกิจ ไม่ควรเยอะหรือยากจนเกินไป แต่เน้นสร้างความสับสนและมีช่องว่างให้ฝ่าย "Imposter" สร้างความไขว้เขวให้เพื่อนในกลุ่มได้


บรรยากาศต่อไปนี้คือช่วงเวลาที่นักเรียนได้ใช้ความรู้ ความเข้าใจ และความหวาดระแวง 55555

ใครโกหกไม่เนียน ก็โดนเพื่อนจับได้ตั้งแต่เริ่มเลย 55555



บรรยากาศการทำกิจกรรมเป็นไปด้วยการถกเถียงของนักเรียน


จากนั้นเมื่อนักเรียนทำภารกิจเสร็จแล้ว ร่วมกันเฉลย

โดยกลุ่มที่มีคะแนน 7 คะแนนขึ้นไป ชาวนาหรือนักเรียนฝ่ายดี จะเป็นฝ่ายชนะ

กลุ่มที่ได้น้อยกว่า 7 คะแนน Imposter จะเป็นฝ่ายชนะ เพราะทำให้เพื่อนไขว้เขวได้สำเร็จ


ดังนั้น Imposter ย่อมไม่ใช่คนไม่รู้ แต่คือคนที่สร้างองค์ความรู้(ปลอม)ขึ้นมาหลอกคนอื่นได้



สรุปขั้นตอนการทำกิจกรรมสำหรับการนำไปปรับใช้กับเนื้อหา/วิชาอื่น ๆ


  1. ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกัน
  2. มีอุปกรณ์ คือ อะไรก็ได้ เช่น ฉลาก ที่สามารถบ่งบอกบทบาทของนักเรียนว่าจะเป็น "คนดี" หรือ "Imposter" (Imposter ควรมีแค่ 1)
  3. ให้เวลาเขาได้อ่าน ทำความเข้าใจ 5 - 10 นาที เมื่อหมดเวลาทำความเข้าใจ ห้ามเปิดหนังสือหรืออินเทอร์เน็ต
  4. ใบภารกิจหรือใบงานให้นักเรียนได้ร่วมกันทำภารกิจ


กล่าวโดยสรุปคือ หัวใจของกิจกรรมนี้ เหมือนเป็นการทำงานกลุ่มธรรมดา แต่ว่ามีการเพิ่มสีสัน จูงใจนักเรียน โดยการนำสิ่งที่เค้าคุ้นเคย และสนุกมาปรับใช้กับกิจกรรมในชั้นเรียน


จากการสังเกตพบว่านักเรียนตั้งใจอ่านหนังสือมากกว่าตอนบอกให้อ่านปกติ และตอนทำภารกิจหรือใบงานดูสนุกสนาน ไม่เครียด และทำออกมาได้ดี


หากเพื่อน ๆ ลองนำไปใช้แล้ว ผลเป็นอย่างไร หรือมีคำแนะนำอะไร รบกวนนำมาแชร์ให้กันบ้างนะครับ


สุดท้ายนี้ ผมได้ไอเดียมาจากน้องนักศึกษาฝึกสอนที่นำไปใช้กับวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ จึงขอนำมาแชร์

นางสาวปนัสยา มิ่งชัย นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู สาขาการสอนภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผู้เป็นต้นกำเนิดไอเดียดี ๆ ในครั้งนี้

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 6

ชื่อไฟล์​: 12.png

ดาวน์โหลดแล้ว 107 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(39)
เก็บไว้อ่าน
(33)