icon
giftClose
profile

Creative-Critical Thinking&Democratic Classroom

10110
ภาพประกอบไอเดีย Creative-Critical Thinking&Democratic Classroom

ประสบการณ์การร่วมกิจกรรม workshop ครูปล่อยของมหาสารคาม Creative-Critical Thinking & Democratic Classroom โดยวิทยากร ครูเก๋ ครูพล และครูทิว

จากการเข้าร่วมกิจกรรม workshop #ครูปล่อยแสงมหาสารคาม ที่จัดขึ้นวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2563 ณ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ซึ่งผู้เขียนได้ลงสมัครในคลาส Creative-Critical Thinking & Democratic Classroom

โดยมีวิทยากรประจำห้องได้แก่ ครูเก๋ ครูพล และครูทิว


วันนี้เลยมาบอกเล่าประสบการณ์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในคลาสให้ทุกคนได้อ่าน

เผื่อว่าจะเป็นไอเดียสำหรับคุณครูที่จะไปใช้ในห้องเรียนของตัวเองกัน


กิจกรรมแรก กระตุ้นจินตนาการ เปิดก๊อกความครีเอทีฟ

เริ่มต้นด้วยการหาวัตถุ ใกล้ ๆ ตัว มาชวนในสมาชิกในห้องลองจินตนาการไปถึงสิ่งอื่น ๆ

แล้วออกมาแสดงท่าทางประกอบด้านหน้า


ซึ่งวันนั้น ครูเก๋ ได้กำหนดโจทย์จาก เก้าอี้ ให้ทุกคนคิด ออกมาแสดงท่าทาง พร้อมกับพูดว่า "นี่ไม่ใช่เก้าอื้ แต่เป็น..."

ให้ทุกคนได้เปิดกรอบความคิดแบบไร้ข้อจำกัด เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมละลายพฤติกรรมที่ดีเลยทีเดียว


กิจกรรม what 2 combine

เป็นการใช้ความคิดเชิงจินตนาการ ร่วมกับการคิดวิเคราะห์

โดย ครูเก๋ แจกกระดาษให้ทุกคน กำหนด สิ่งสองสิ่งไว้คนละฟากของหน้ากระดาษ

จากนั้นให้เขียนลักษณะของสิ่งนั้นแตกออกมา คล้ายกับ mindmap

ขั้นตอนต่อไปก็นำ ลักษณะที่เขียนไว้ จากทั้งสองสิ่ง มาจับคู่กัน และ บูม ! คุณจะได้บางสิ่งที่เหนือจินตนาการ

แต่ใครจะไปรู้ว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ของโลกเราในอนาคตก็ได้




กิจกรรม grouping & classification

ผู้เขียนได้ ผ่านตามาบ้างตาม pinterest แต่ยังไม่เคยใช้สอน ไม่เคยลองเล่นมาก่อน พอวิทยากรให้แจกบัตรคำให้ลองคุยกับเพื่อนในทีมแล้วจัดกลุ่มบัตรคำดู ก็รู้เลยว่าไม่ใช่แค่เราอยากจะจัดกลุ่มแบบไหน แต่ทุกคนในทีมต้องเอาเหตุผลมาคุยกันว่า ทำไมเราถึงจะจัดแบบนี้ มีเกณฑ์อะไร

เป็นกิจกรรมที่ได้ใช้ความคิด สนุกมาก ยิ่งไปกว่านั้นพอฟังเหตุผล วิธีการจัดกลุ่มของเพื่อนกลุ่มอื่น ๆ มันยิ่งประหลาดใจ ที่เห็นความแตกต่างทางความคิดของแต่ละกลุ่ม อดชื่นชมไม่ได้เลย


กิจกรรมการแสดงความคิดเห็น ห้องเรียนประชาธิปไตย ของครูทิว

ครูทิวเริ่มต้นด้วยการสำรวจความคิดเห็นของทุกคนในคลาส โดยการยกวลีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย หรือสถานการณ์บ้านเมือง

ให้ทุกคนยกมือแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ในระดับไหนด้วยการ ชูนิ้ว จากไม่เห็นด้วยเริ่มต้นที่ 1-2-3-4 ไปจนถึง 5 คือเห็นด้วยมากที่สุด จากนั้นก็ได้เปิดโอกาสให้คนที่เห็นด้วยในแต่ละระดับ แสดงความคิดเห็น เหตุผลที่เลือกแบบนี้ ส่วนครูทิวก็คอยอธิบายแนะนำคำศัพท์ต่าง ๆ ปรับความเข้าใจพื้นฐานต่อความเป็นประชาธิปไตย



บรรยากาศห้องเรียนภายในวันนั้น เต็มไปด้วย ความสนุก ความสร้างสรรค์ การรับฟังและถูกรับฟัง

ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงความมีคุณค่า และความภาคภูมิใจในตัวเอง

และแน่นอนหากคุณครูนำกิจกรรมเหล่านี้ไปใช้และสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้นี้ให้เกิดขึ้นได้

นักเรียนของเราก็คงรับรู้ความรู้สึกดี ๆ เหล่านี้ได้ไม่ต่างกัน


ถ้ามีโอกาสรอบหน้าผู้เขียนก็อยากจะไปจอยคลาสบอร์ดเกมบ้าง

ขอบคุณพี่ ๆ วิทยากรทุกท่าน แล้วเจอกันอีกนะคะ

#insku

#ครูปล่อยของมหาสารคาม

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)