icon
giftClose
profile

4 เทคนิคการเปลี่ยนห้องเรียนแห่งความวุ่นวาย

633412
ภาพประกอบไอเดีย 4 เทคนิคการเปลี่ยนห้องเรียนแห่งความวุ่นวาย

ตามมาดู 4 เทคนิคดีๆ เพื่อการเปลี่ยนห้องเรียนแห่งความวุ่นวายให้กลายเป็นความเงียบได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทำไมต้องเงียบ เงียบแล้วดีอย่างไร โดย อาจารย์ ดร.จุฬินฑิพา นพคุณ อาจารย์ประจำหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

4 เทคนิคการเปลี่ยนห้องเรียนแห่งความวุ่นวายให้กลายเป็นความเงียบ


โดย อาจารย์ ดร.จุฬินฑิพา นพคุณ

อาจารย์ประจำหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต

สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต


ในห้องเรียนเรามักพบปัญหาเสมอว่า นักศึกษาของเราชอบพูดคุยกันเสียงดัง ทั้งขณะต้นคาบ กลางคาบและท้ายคาบ ทำให้ขาดสมาธิในการเรียน การสร้างความเงียบให้เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาเกิดสมาธิมากขึ้น ทำให้จิตใจสงบ เนื่องจากไม่มีสิ่งใดมารบกวนจิตใจ นอกจากนั้นการยังสามารถฝึกฝนการเป็นผู้ฟังที่ดีซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ดีในการเป็นผู้สื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การฝึกเงียบนั้นอาจทำได้ยาก แต่หากฝึกฝนบ่อยๆจะสามารถทำได้ดี การเป็นผู้นำทางการศึกษาที่ดีนั้นอาจต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นผู้ฟังให้มากขึ้น การเป็นผู้ฟังที่ดีคือต้องสามารถอยู่กับความเงียบได้ ทำให้มีสติพิจารณาสิ่งต่างๆ

ในรายวิชาการสอนแบบมอนเตสซอรี่ นักศึกษาปฐมวัย จะต้องเรียนรู้บทบาทครูมอนเตสซอรี่ที่ดี คุณลักษณะหนึ่งที่นักศึกษาควรมีนั่นคือ การสังเกต การสังเกต หมายถึง การเฝ้าดูอย่างใส่ใจ โดยใช้วิธีการถอยห่างออกมาสังเกตขณะเด็กทำงาน การเฝ้าดูเด็กต้องอาศัย "ความเงียบ" ที่ต้องเกิดภายในจิตใจ เพื่อพิจารณาดูว่าเด็กสามารถทำงานนั้นได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ นั่นแปลว่า งานนั้นอาจยากเกินไปสำหรับเด็กหรือไม่ ถ้ายากเกินไป ครูมอนเตสซอรี่ต้องปรับเปลี่ยนและหางานใหม่ที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก

 ดังนั้นเราจึงคิดว่าการเสริมสร้างความเงียบในห้องเรียนนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักศึกษาปฐมวัยที่เรียนในรายวิชานี้ การนำกิจกรรมดังกล่าวมาใช้ในการสอนจะทำให้นักศึกษาได้ฝึกฝนความเงียบ ได้เรียนรู้เทคนิคการสอนในกิจกรรมนี้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเด็กปฐมวัยในห้องเรียนมอนเตสซอรี่ หรือประยุกต์ใช้ในห้องเรียนปกติได้ทุกระดับชั้น

โดยเทคนิคต่างๆ ที่จะนำเสนอนี้ เป็นเทคนิคที่อาจารย์ได้แปลเนื้อหาบางส่วนจากเว็บไซต์หนึ่งของต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการสอนด้วยนวัตกรรมมอนเตสซอรี่ ซึ่งได้ทำการอ้างอิงไว้ท้ายบทความแล้ว  โดยได้นำมาเรียบเรียงใหม่และนำมาประยุกต์ใช้ในการสอน ได้เพิ่มเติมการสอดแทรกการออกจากความเงียบด้วย เพลง กลอนหรือคำคล้องจอง เพิ่มเติมการสอนบางส่วนเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและการนำไปประยุกต์ใช้ และได้เสนอเทคนิคเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความสนุกสนานจากประสบการณ์การสอนที่ผ่านมา


4 เทคนิคการสร้างความเงียบในห้องเรียน

เทคนิคที่ 1 : ส่งระฆังในความเงียบ

1.      เชิญนักศึกษานั่งเป็นรูปครึ่งวงกลม อยู่ในความเงียบ

2.      บอกนักศึกษาว่าเราจะมาส่งระฆังในความเงียบ

3.      ให้นักศึกษาส่งระฆังไปรอบๆวง

4.      กระตุ้นไม่ให้นักศึกษาปล่อยระฆัง ให้ส่งระฆังต่อไปรอบๆวง


เทคนิคที่ 2 : ฟังสิเสียงอะไร

1.      เชิญนักศึกษานั่งเป็นรูปครึ่งวงกลม อยู่ในความเงียบ

2.      บอกนักศึกษาว่าเราจะมาฟังสิว่าเสียงที่เราได้ยินคือเสียงอะไร

3.      บอกนักศึกษาว่า ให้นั่งหลับตา ขณะที่อาจารย์เปิดเสียงต่างๆให้ฟัง เช่น เสียงนกร้อง เสียงฝนตก ให้นักศึกษาทายในใจว่าเสียงนั้นคือเสียงอะไร

4.      ให้นักศึกษาหลับตาและฟังว่าได้ยินเสียงอะไร

5. นำนักศึกษาออกจากความเงียบด้วยการใช้เพลง กลอน หรือคำคล้องจอง

6. ให้นักศึกษาลืมตา ถามนักศึกษาว่า “ขณะที่นั่งหลับตาได้ยินเสียงอะไรบ้าง”


เทคนิคที่ 3 : เสียงแห่งความเงียบ

1.      เชิญนักศึกษานั่งเป็นรูปครึ่งวงกลม อยู่ในความเงียบ

2.      บอกนักศึกษาว่าเราจะมาฟังเสียงแห่งความเงียบ

3.      ให้นักศึกษาหลับตาและให้ฟังในความเงียบว่าขณะหลับตาได้ยินเสียงอะไรบ้าง

4.      นำนักศึกษาออกจากความเงียบด้วยการใช้เพลง กลอน หรือคำคล้องจอง

5.      ให้นักศึกษาลืมตา ถามนักศึกษาว่า “ขณะที่นั่งหลับตาได้ยินเสียงอะไรบ้าง”


เทคนิคที่ 4 : เสียงกระซิบ

1.      เชิญนักศึกษานั่งเป็นรูปครึ่งวงกลม และอยู่ในความเงียบ

2.      บอกนักศึกษาว่าเราจะมาฟังเสียงกระซิบ

3.      อาจารย์เดินไปที่มุมห้อง หรือเดินออกนอกห้อง

4.      ให้นักศึกษาหลับตา อาจารย์จะกระซิบเรียกชื่อนักศึกษาทีละคน เมื่อได้เสียงกระซิบของอาจารย์ ให้นักศึกษาคนนั้นเดินมาหา และนั่งข้างๆอาจารย์ อาจารย์กระซิบเรียกชื่อเด็กทุกคน

หมายเหตุ : หากในห้องมีนักศึกษาจำนวนมากจึงต้องใช้สมาธิในการอดทนรอคอยเพื่อถูกเรียกชื่อ คนที่อาจารย์เรียกชื่อคนสุดท้ายจะเป็นคนที่รักษาความเงียบได้นานที่สุด เพราะนั่งรอนาน ส่วนคนที่อยู่ไม่นิ่ง ไม่ค่อยมีสมาธิ อาจารย์จะเรียกชื่อช่วงกลางๆ ถ้าหากว่ามีสมาธิมากขึ้นแล้วค่อยเลื่อนการเรียกชื่อเป็นช่วงท้ายๆ


ที่มา : montessoriservices.com/ideas-insights/the-importance-of-the-silence-game


Tips ในการสอนให้สนุกสนาน 

-         เทคนิคที่ 1 ส่งระฆังในความเงียบ สามารถดัดแปลงใช้อุปกรณ์ในห้องเรียน เช่น แทมบูรีนมือ ลูกแซค ฉิ่ง กระดิ่ง เป็นต้น

-         อาจเพิ่มเติมเทคนิค การหาต้นเสียงในความเงียบ ด้วยการให้นักศึกษานั่งครึ่งวงกลม อยู่ในความเงียบ หลับตา อาจารย์นำปากกา หรือดินสอปล่อยไปที่พื้นให้มีเสียง หรือใช้วัตถุที่มีในห้องเรียน เช่น แทมบูรีนมือ ลูกแซค กระดิ่ง มาเขย่าให้เกิดเสียง แล้วให้นักศึกษาชี้ไปที่ต้นเสียงขณะที่หลับตา


ประสบการณ์ที่ได้นำไปใช้

สำหรับการนำมาใช้กับนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ที่เรียนในรายวิชาการสอนแบบมอนเตสซอรี่ พบว่า นักศึกษาสามารถควบคุมตนเองได้ดี มีสติ สมาธิในการฟังคำสั่งและทำตามได้ ได้เรียนรู้กานำเทคนิคการสร้างความเงียบในห้องเรียนมอนเตสซอรี่ไปประยุกต์ใช้ การนำนักศึกษาออกจากความเงียบด้วยการใช้เพลง กลอน หรือคำคล้องจองทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้เทคนิคการเก็บเด็กทางอ้อมไปในตัว และนักศึกษาจะได้เรียนรู้เทคนิคการเก็บเด็กใหม่ๆจากอาจารย์อีกทางหนึ่ง

หากนำไปประยุกต์ใช้ในการสอนเด็กปฐมวัยสามารถนำไปใช้สอนในช่วงเช้าก่อนเริ่มต้นกิจกรรมแรกของวัน หรือตามช่วงเวลาที่คุณครูเห็นเหมาะสม

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(11)
เก็บไว้อ่าน
(12)