icon
giftClose
profile

จดหมายถึงเพื่อนที่ถูกบูลลี่

146665
ภาพประกอบไอเดีย จดหมายถึงเพื่อนที่ถูกบูลลี่

คาบเรียนที่จะทำให้นักเรียนได้เข้าใจเรื่องบูลลี่ ผ่านเพื่อน ๆ ด้วยกันเอง และช่วยเหลือกันได้




"การที่เธอผิวคล้ำไม่ได้หมายความว่าเธอไม่สวย เธอก็สวยในแบบของเธอ ถ้าเธอรู้สึกกังวลใจที่เพื่อนมาพูดแบบนั้น เธอสามารถมาคุยกับเราได้ทุกเมื่อนะ"


คำพูดจากนักเรียนคนนึง ที่ให้กำลังใจเพื่อนที่โดนบูลลี่ 

ที่ไม่ได้พูดแค่ประโยคว่า “สู้ ๆ นะ”


“ผมเชื่อว่า อาชีพครูผู้สอน เป็นอาชีพที่สามารถสร้างปาฏิหาริย์ได้

 เพราะการศึกษาสามารถทำให้มนุษย์เจริญงอกงามได้”


ดังนั้น ผมจึงเลือกมาทำอาชีพนี้ และผมก็เชื่อว่าสิ่งที่ผมทำ

ก็น่าจะเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ตัวหนึ่งที่กำลังช่วยขับเคลื่อนให้ปาฏิหาริย์บังเกิดอีกครั้ง 


ปาฏิหาริย์เล็ก ๆ ที่การบูลลี่จะหมดไป และเด็ก ๆ ได้สายตาแห่งความเท่าเทียม

 มองทุกคนเท่าเทียมกัน คิดถึงจิตใจของเขาและจิตใจของเรา ช่วยเหลือกันและกัน

ผมเลยออกแบบคาบเรียนเริ่มจาก



คลิปนวล

ผมเริ่มจากการเปิด Clip VDO ของ นวล เรื่อง การกลั่นแกล้ง (Bullying) 

ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเกม RPG ถึงชีวิตของตัวละครเด็กมัธยมคนหนึ่งที่ถูก Bully

 ให้นักเรียนดู

Link >> https://fb.watch/226yb8CVNy/

(ขอขอบคุณเพจนวลมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)


แบ่งปันประสบการณ์

จากนั้น แจกใบงานให้นักเรียนเขียนประสบการณ์ของตนเองเกี่ยวกับ Bully

 ไม่ว่าจะในฐานะผู้ถูกกระทำ ผู้กระทำ ผู้เห็นเหตุการณ์ 

หรือผู้ได้ยินเรื่องราวมา โดยที่ไม่ต้องเขียนชื่อในใบงาน 


สลับกันเขียนให้กำลังใจ

ผมเก็บใบงานนักเรียนเป็นแถว แล้วสลับให้กับอีกแถวหนึ่ง 

นักเรียนจะได้ใบงานของเพื่อนคนอื่นโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร


จากนั้นให้นักเรียนเขียนชื่อ-สกุลในใบงาน 

และให้นักเรียนเขียนให้กำลังใจเพื่อนหรือบุคคลที่อยู่ในเรื่องราวของการถูก Bully (หรือเพื่อนที่สำนึกผิดไปแล้วที่ Bully คนอื่น)

 

เปิดโลกแนวทาง

โดยผมได้แนะนำแนวทางการใช้คำพูดหรือภาษา ที่ให้กำลังใจเพื่อนตามหลักจิตวิทยาให้คำปรึกษา (Counseling Psychology) 


เช่น จะยกตัวอย่างคำพูดที่ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าอย่าง

สู้ ๆ นะ หรือ เลิกเศร้าได้แล้ว 


และแนวทางที่จะใช้คำพูด ไม่ควรเอาความคิดหรือความรู้สึกของเราไปครอบเพื่อน แต่ให้ทำตัวเป็นเพื่อนร่วมทาง ยอมรับทุกความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเพื่อน 


สิ่งที่สำคัญก็คือ ให้ใช้แนวทางคำพูดให้เพื่อนรู้สึกว่า เราอยู่ข้าง ๆ เธอเสมอ และไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร เรายินดีที่จะอยู่ตรงนี้เพื่อเป็นกำลังใจช่วยเหลือเธอเสมอนะ


จากการอธิบายขยายความ นักเรียนหลาย ๆ คนก็จะเข้าใจ เพราะตัวนักเรียนเองก็รู้ดีที่สุดว่าเวลาที่ถูกกลั่นแกล้ง คำพูดหรือสิ่งที่พวกเขาต้องการปลอบโยนจิตใจมากที่สุด คือคำพูดแบบไหน ลองชวนนักเรียนสลับเป็นผู้ถูกบูลลี่ ว่านักเรียนอยากได้ยินประโยคแบบไหนจากคนรอบข้าง ก็จะช่วยให้นักเรียนคิดแนวทางในการใช้คำพูดออกมาได้ดีขึ้นมากครับ


แบ่งปัน

จากนั้น ก็ให้มีการนำเสนอเพื่อให้เจ้าของเรื่อง (ซึ่งไม่เปิดเผยตนแต่นั่งอยู่ในห้อง) ได้รับฟังกำลังใจจากเพื่อน ๆ ในห้อง



หลังจบคาบนี้...


 รู้สึกหัวใจพองโต ดีใจที่เด็ก ๆ เข้าใจว่าการบูลลี่เป็นเรื่องที่ไม่ดีและไม่ควรเกิดขึ้นกับใครทั้งสิ้น และหากมีเพื่อนคนใดที่ถูกบูลลี่มา เด็ก ๆ ก็พร้อมที่จะช่วยสื่อสารให้กำลังใจเพื่อน ๆ ในการเยียวยาจิตใจเพื่อน ๆ ได้


ผมได้ตรวจภาษาที่นักเรียนได้ใช้ในการสื่อสารให้กำลังใจเพื่อนในใบงาน และพบว่านักเรียนหลาย ๆ คนเลือกใช้คำพูดได้ถูกต้องตามหลักจิตวิทยาให้คำปรึกษา 


ขนาดผมซึ่งเป็นครูผู้สอนได้อ่าน ยังรู้สึกได้ถึงเจตนาดีของเด็กคนหนึ่งที่มีให้กับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ในฐานะครูที่เห็นนักเรียนทุกคนเข้าใจวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ ก็มองเห็นถึงอนาคตของชาติและของโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น การบูลลี่ที่จะต้องลดลงจนหมดไป และมีแต่การเห็นอกเห็นใจเห็นทุกคนเท่าเทียมกัน


“สำหรับผมนักเรียนในฐานะผู้เรียนรู้ ได้เรียนรู้ทักษะการสื่อสาร เมื่อได้ให้กำลังใจผู้อื่นก็ได้รู้สึกถึงการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) ที่ได้ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจเพื่อน ๆ ส่วนเพื่อนที่ได้รับคำพูดให้กำลังใจก็ได้รับการเยียวยาจิตใจจากเพื่อน ๆ ในห้อง ทำให้เกิดความสุขและความพึงพอใจในชีวิตมากยิ่งขึ้น”


“นักเรียนในฐานะพลเมืองที่เข้มแข็ง ได้รู้จักที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา ได้ทำจิตอาสาในการให้กำลังใจเยียวยาช่วยเหลือจิตใจผู้อื่น เมื่อนักเรียนรู้จักเห็นใจผู้อื่น เข้าอกเข้าใจจิตใจเพื่อนหรือบุคคลอื่น ๆ ที่ถูกกลั่นแกล้ง นักเรียนก็จะไม่ปฏิบัติตนเช่นนั้นกับบุคคลอื่น และทำให้นักเรียนได้เห็นบุคคลอื่นเท่าเทียมกันกับตนเองด้วย”

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(253)
เก็บไว้อ่าน
(34)