คาบเรียนศิลปะนี่ทำร้ายคนมาเยอะ
“ทำมาแบบนี้ได้ไง” เราเคยเจอครูพูดแบบนี้ใส่
เราอยากให้ศิลปะ ไม่ใช่แค่ชิ้นงานที่จะมาตัดสินกันผ่านความงามของครูคนเดียว
เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ศิลปะ” ช่วยเราด้านไหนบ้าง
จึงเกิดเป็นไอเดียคาบเรียนต่าง ๆ ที่ชิ้นงานอาจไม่ได้สวยมากมาย
แต่ได้พูด ได้ฟัง ได้เห็นมุมมองต่างกันผ่านผลงานศิลปะ
เป็นพื้นที่อิสระที่เด็กจะได้เป็นตัวเอง
อย่างคาบนี้เราพาเด็กไปสำรวจพื้นที่ชุมชน
ให้นักเรียนเก็บตัวอย่างสีที่เจอในชุมชน โดยใช้สีชอล์กระบายลงบนแผ่นกระดาษเล็ก ๆ
พร้อมเขียนเอาไว้ว่าได้สีมาจากไหน
นำแผ่นกระดาษเล็ก ๆ ที่มีสีต่าง ๆ มาแปะลงบนแผนที่สำรวจสี
เมื่อได้ตัวอย่างสีที่ไปสำรวจชุมชน ประมาณคนละ 5-6 สีแล้ว
กลับมาที่ห้องเรียน มีบทสนทนาเหล่านี้
เป็นอย่างไรบ้างคะ ?
“สนุกค่ะครู”
“ร้อนแต่สนุกค่ะ”
“ผมเห็นดอกไม้เยอะมากเลย ดอกเล็ก ๆ คือเล็กมากครับครู” (ทำมือให้ดูว่ามันเล็กจริง ๆ)
“หนูพยายามจะลอกสีแมว แต่แมวมันวิ่งหนีค่ะ”
“ซอยนั้นเล็กทางเข้าบ้านพี่เตย มีดอกคุณนายตื่นสายบานตรงขอบถนน ยาวจากหน้าซอยถึงหน้าบ้านสวยมากค่ะ”
“ชอบที่ครูให้แวะเล่นเครื่องเล่นครับ สนุกดี ไม่อยากกลับโรงเรียนเลย”
แล้วคิดว่าวันนี้ที่ครูพาออกไปทำกิจกรรม
ครูอยากฝึกเรื่องใดของเราบ้าง ลองเดาใจครูสิ ?
“สังเกตครับ ต้องสังเกตเยอะมาก”
“สังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เล็ก ๆ น่ารักเยอะเลย”
“ฝึกการใช้สี และผสมสีให้เหมือน”
“สมาธิค่ะ ต้องเปรียบเทียบสีให้เหมือน”
“สีเอามาผสมกัน แล้วได้สีใหม่ค่ะ”
เมื่อทุกคนช่วยกันเอาสีแปะทำแผนที่สี
ครูชวนคุยต่อเห็นอะไร บ้างจากแผนที่ ?
“สีเยอะมา ในบริเวณใกล้ๆ รร เรา”
“สีที่วัดมีสีเขียวและสีเหลืองเยอะค่ะ”
แล้วเวลาเห็นสีพวกนี้แล้วเรารู้สึกอย่างไร
“สดชื่น ร่มเย็นค่ะ เวลาไปวัด”
“ตรงตลาดมีสีน้ำตาลเยอะ”
มันเป็นสีของอะไรบ้าง ?
“สีของปูน สังกะสีเก่า สนิม ไม้เก่าครับ”
แล้วสีแบบนี้เห็นแล้วรู้สึกอย่างไร?
“สกปรกครับ”
“อึดอัด”
“แต่ตอนเช้าที่ผมขับรถผ่านมีคนเยอะ
มีของขาย ก็มีสีสดใสนะครับ”
เรามองว่ากิจกรรมนี้ส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้เรียนและเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์ เพราะเวลาเค้าฟังคนอื่นที่มองเป็นคนละสีกัน เวลาเค้าฟังกันก็จะเห็นว่าคนอื่นแตกต่างจากเรา บางอย่างที่มีความต่างกันอยู่ ทุกคนมีความต่างถึงความคิดเหมือนกันบางอย่างสื่อสารต่าง แต่เราฟังกันได้ โดยใช้ศิลปะเชื่อม ที่เราเห็นความต่างกัน
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย