“คุณครูคะ มันมีน้ำอะไรที่ไหลออกจากเทียน
แล้วทำไมเวลามันหยดลงไปถึงพื้นแล้วมันก็แข็ง”
“อ๋อ เข้าเรียกว่าน้ำตาเทียน”
“คุณครูคะ ที่มันไหลออกมาเป็นน้ำ แล้วพอนานไปมันก็แข็ง
อย่างนี้ก็เอาไปใช้ได้อีกครั้งหนะสิคะ”
“แล้วหนูคิดว่า จะทำยังไงให้น้ำตาเทียนมันกลับมาใช้ได้อีกครั้ง”
“หนูว่าต้องเอามารวมกันแล้วก็ทากาว”
คำถามที่เด็กคนนึงเดินมาถามที่โต๊ะ ในคาบเรียนของเด็ก ๆ ปฐมวัย
ขณะทำการทดลองวิทยาศาสตร์
ซึ่งในการทดลองนั้นมีเทียนไขเป็นส่วนประกอบของการทดลอง
และน้ำตาเทียนก็จะไหลลงมาตามต้นเทียน
จากคำถามที่เด็กมี ก็กลายมาเป็นคำถามของเราเหมือนกันว่า
จากคำถามของเด็กเนี่ย เราจะหาคำตอบให้กับเขา
โดยที่เขาเป็นคนเจอคำตอบนั้นด้วยตัวเอง เราจะทำยังไง ?
เราเลยนำคำถามของเด็ก มาเป็นประเด็นชวนเด็กหาคำตอบ โดยให้เด็ก ๆ
สังเกตเทียนและน้ำตาเทียน แล้วให้เด็ก ๆ กลับไปหาคำตอบ
โดยการกลับไปถามผู้ปกครอง และคุณครูพาเด็กไปถามครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนว่า
ทำยังไงให้น้ำตาเทียมกลับมาใช้ได้อีกครั้ง ? พร้อมให้หาข้อมูลเพิ่มเติม
โดยเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีด้วยการดู YouTube
หลังจากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาสนทนาร่วมกัน
หลังจากเด็ก ๆ ได้ข้อมูลแล้วนั้น เราให้เด็ก ๆ พูดคุยแสดงความคิดเห็น
ซึ่งสรุปได้เป็น 2 รูปแบบ โดยรูปแบบที่ 1 ให้นำเทียนมาตำแล้วใส่กาว
จากนั้นปั้นให้เป็นรูปทรงคล้าย ๆ เทียน ก็จะสามารถนำมาใช้ได้อีกครั้ง และรูปแบบที่
2 เนื่องจากสังเกตเห็นถึงตอนที่เขียนมันเป็นน้ำไหลออกมา เพราะมีไฟอยู่ปลายเทียน
และพอมันไหลลงมาถึงพื้นพักนึงมันก็แข็งตัว เด็ก ๆ จึงสรุปว่า
ให้เอาไปต้มแล้วเทใส่หลอดดูดน้ำ ก็จะสามารถนำมาใช้ได้อีกครั้ง
จากความเห็นของเด็ก ๆ ทั้งสองแบบนั้น เราทำการแบ่งเด็กออกเป็น 2
กลุ่มเพื่อทำการทดลองตามที่เด็ก ๆ ช่วยกันออกแบบว่าควรจะทำยังไงกับน้ำตาเทียน
เพื่อที่จะนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง ซึ่งหลังจากทดลองแล้ว เราชวนพูดคุยเพื่อให้เด็ก ๆ
ได้คำตอบว่าวิธีการไหน ที่สามารถนำน้ำตาเทียนกลับมาใช้ได้อีกครั้ง
ด้วยการหาคำตอบโดยวิธีของเขาเอง
แต่การเรียนรู้ยังไม่จบเพียงเท่านี้
เพราะด้วยความบังเอิญที่มีเด็กคนนึงชอบวาดรูปมาก ๆ เขานำเศษเทียนไประบายสี
แล้วเศษเทียนที่เขานำไประบายเป็นสีส้มอ่อน ๆ เขาก็เลยมีคำถามต่อว่า
“ถ้าเราเอาน้ำตาเทียนมาทำเป็นสีเทียน จะได้ไหมคะ”
ซึ่งเป็นประเด็นคำถามที่ทำให้เรามีการทดลองต่อในครั้งที่ 2
เราเริ่มต้นด้วยคำที่ว่า “เราจะมีวิธีการทำสีเทียนอย่างไรบ้าง ?” เด็ก ๆ
ก็ช่วยกันออกแบบการทำสีเทียน ซึ่งเป็นการต้มน้ำตาเทียนเหมือนเดิม
แต่สิ่งที่ทำให้เกิดสีเขาเสนอว่าให้ใช้เป็นสีผสมอาหาร โดยที่เด็ก ๆ รู้จักสีผสมอาหารนั้น
เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่เด็ก ๆ เคยใช้ในการทำกิจกรรมการเรียนรู้อื่น ๆ ก่อนหน้านี้ เช่น
กิจกรรมการทำแป้งโดว์หรือกิจกรรมการทำ Cooking
เป็นเหมือนการนำประสบการณ์การเรียนรู้เดิม มาประยุกต์ใช้กับการทดลอง
ที่ทำให้เกิดเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่
เราร่วมกันทำการทดลอง แต่ด้วยสีผสมอาหารที่ใช้ในการทดลองนั้นเป็นแบบผง
ซึ่งมีคุณสมบัติที่มีลักษณะเหมือนเป็นเนื้อตรงข้ามกับเทียน
จึงทำให้เมื่อผสมแล้วไม่เป็นเนื้อเดียวกัน และไม่ออกสีเหมือนสีเทียน
สีที่ได้จากทดลองมีลักษณะออกมาเป็นสีน้ำตาล
มีเด็กส่วนหนึ่งเสนอว่า “คุณครูคะ สีเทียนที่หักเป็นอันเล็ก ๆ
เอามาต้มกับน้ำตาเทียนได้ไหม” เราก็เลยทำการทดลองอีกครั้ง
โดยการนำเศษสีเทียนมาต้มรวมกับน้ำตาเทียน
ผลการทดลองครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะ
เมื่อนำมาต้มรวมจนเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้สีเทียนที่หักและไม่สามารถใช้ได้แล้ว
กลายเป็นสีเทียนใหม่ที่มีสีตามต้องการ จากนั้นเด็ก ๆ ก็นำสีเทียนที่ทดลองกันเอง
มาช่วยกันใช้ไม้บรรทัดวัดขนาดว่าสีไหนมีความยาวเท่าไหร่
และทดลองนำไปใช้ประกอบการวาดภาพระบายสี
ซึ่งผลลัพธ์จากการทดลองที่นอกจากเหนือจากการที่ทำให้เด็ก ๆ
รู้ที่มาที่ไปและกรรมวิธีการทำสีเทียน ยังทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ถึง “คุณค่า”
เพราะสำหรับเด็กปฐมวัย เขาจะเห็นคุณค่าของทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่เขาเป็นคนทำหรือว่ามีส่วนร่วมในการทำหรือผลิตขึ้นมา
เขาจะใช้ของสิ่งนั้นอย่างมีคุณค่า และถนอมเพื่อให้มันยังอยู่ได้นานที่สุด ดังนั้น
แม้ว่าความเข้มของสีจะจางกว่าสีเทียนที่ซื้อมา แต่เด็ก ๆ กลับใช้อย่างระมัดระวัง
ทะนุถนอมและใช้อย่างเห็นคุณค่า
และในกิจกรรมการทดลองนี้ เรายังได้สอดแทรกทักษะชีวิตอื่น ๆ
ที่เราต้องการให้เขาเรียนรู้ โดยเฉพาะการให้เด็กช่วยเหลือตนเอง
เราออกแบบระบบที่เป็นส่วนประกอบของกิจกรรม เพื่อให้นักเรียนได้ช่วยเหลือตนเอง
เช่น การเตรียมเก้าอี้มานั่งเป็นครึ่งวงกลมรอเตรียมพร้อมที่จะเรียน
โดยมอบหมายให้พี่อนุบาล 3
(เนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กและบุคลากรไม่เพียงพอ
ทำให้การจัดการเรียนรู้ระดับปฐมวัยเป็นแบบคละชั้น ตั้งแต่อนุบาล 1 - 3)
คอยตรวจความเรียบร้อยและคอยจัดเก้าอีกให้เป็นรูปทรงครึ่งวงกลม
เพื่อให้ทุกคนมองเห็นคุณครูได้อย่างชัดเจน
ในระหว่างเรียนเด็กจะไม่ลุกไปดื่มน้ำหรือเข้าห้องน้ำยกเว้นกรณีปวดหนัก
และหลังจากสั่งงานแล้ว เด็ก ๆ จะเข้าแถวเพื่อปั๊มสัญลักษณ์ หยิบใบกิจกรรม สี ดินสอ
ด้วยตนเองทุกคน คุณครูจะเป็นเพียงผู้เตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการเรียนรู้ให้พร้อมเสมอ
และการทำกิจกรรมจะไม่ตะโกนแข่งกับเด็ก แต่จะใช้เพลงเป็นตัวดำเนินกิจกรรม เช่น
การสั่งนั่ง เดิน ถอยหลัง ล้างมือ เข้าแถว เก็บของเล่น ฯลฯ
จากกิจกรรมน้ำตาเทียนประกอบร่าง กิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์
ที่เกิดจากจุดเริ่มต้นมาจากความสงสัยของนักเรียน ทำให้เด็ก ๆ
ได้ออกแบบการทดลอง ได้เรียนรู้และค้นหาคำตอบด้วยตนเอง
ได้พัฒนาทักษะกระบวนการคิดที่เป็นขั้นตอน
ประยุกต์ประสบการณ์การเรียนรู้เดิมมาปรับใช้กับประสบการณ์ใหม่
ได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ชิ้นงาน
จากสิ่งที่เหลือใช้เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลากหลายรูปแบบ ได้ฝึกทักษะชีวิต
ผ่านการที่เด็กที่มีอายุมากกว่า ช่วยดูและและสอนน้องที่อายุน้อยกว่า
เพื่อปฏิบัติกิจกรรมไปด้วยกันอย่างทั่งถึง ไปจนถึงการทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ถึง
“คุณค่า” ผ่านสิ่งที่เขามีส่วนร่วมในการสร้างขึ้นมาด้วยตนเอง
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!