icon
giftClose
profile

ลอยกระทงที่ไม่สร้างขยะ

24181
ภาพประกอบไอเดีย ลอยกระทงที่ไม่สร้างขยะ

สิ่งแวดล้อมกับประเพณีไทย จะทำยังไงให้เด็กเล็กเข้าใจว่าการลอยกระทงสร้างขยะ


"จะทำยังไงให้เด็กเล็กเข้าใจว่ากระทงของเราจะกลายไปเป็นขยะในวันข้างหน้า ?”



ปกติทุกปีจะมีการทำกระทง แต่ปีที่ผ่านมาเทรนด์หยุดลอยกระทงมาแรง

เพราะเป็นการทำให้เกิดขยะ แม้จะเป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ 

แต่ถ้าเอาไปตู้ม ! มันก็ย่อยสลายไม่ทันกลายเป็นขยะมากมายในชั่วข้ามคืน


เราเลยคิดว่าสอนเหมือนเดิมไม่ได้แล้วเปลี่ยนเป็นว่า ความสำคัญของการลอยกระทงคือสิ่งนี้ ในฐานะครู ควรสอนว่าผลกระทบเกิดอะไรบ้าง 


แต่ว่าโจทย์ก็ตามมาคือเด็กที่เราสอนเป็นเด็กอนุบาล

จะเอาข้อมูลเชิงสถิติมาอ้างก็ไม่ได้ ไปบอกเด็กปากเปล่าก็ไม่เก็ทเพราะเด็กเล็กมาก 

เลยต้องทำให้เห็นว่า ถ้าเราลอยกระทงแล้วเวลาผ่านไป กระทงเรากลายเป็นขยะในแบบไหน 



สิ่งที่ทำในคาบ


ลองให้เด็กเลือกกระทง

เราได้เอากระทงยอดฮิต 3 แบบมาให้เค้าดู คือ กระทงใบตอง กระทงขนมปัง และกระทงน้ำแข็ง จากนั้นก็ให้นักเรียนเลือกใครอยากลอยแบบไหน แล้วเดี๋ยววันนี้ครูพาไปลอยกระทง 


ก่อนเอาไปลอย เราถามเด็ก ๆ ว่า ในกระทง 3 แบบนี้ถ้าเอาไปลอย คิดว่าอันไหนจะเหลือขยะในแม่น้ำเยอะที่สุด เด็กก็ตอบต่าง ๆ กันไป แต่เราก็ไม่ไปตัดสินว่าผิดหรือถูก เราแค่อยากได้สมมติฐานของเค้า 


มาลอยกระทงกัน

จากนั้นก็ให้เด็ก ๆ เอากระทงที่ตัวเองเลือกไปลอยในกะละมังแยกตามประเภทกระทง 

และให้เด็ก ๆ ได้ลองจุดไฟ ร้องเพลง แล้วลอยกระทงจริง ๆ ในกะละมัง 

ปล่อยทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง ในระหว่างนั้นครูก็เตรียมรูปวัสดุส่วนประกอบในกระทงให้เด็ก ๆ ระบายสี


ไหนดูซิ เหลืออะไรในน้ำบ้าง

เมื่อครบเวลา เราพาเด็ก ๆ ไปดูกระทงที่ลอยทิ้งไว้ ภาพที่เกิดคือ ขนมปังก็เปื่อย ธูปเทียนมอด ครูชวนเด็กสังเกตกะละมังแต่ละใบที่ตัวเองเลือกไปลอย แล้วตั้งคำถามว่าเหลืออะไรบ้างในน้ำ 

จากนั้นก็ให้เด็ก ๆ ไปสรุปผลในตารางที่ทำไว้ ว่าหลังจากผ่านเวลากระทงแต่ละแบบ เหลืออะไรบ้างจากที่ตาเห็น เนื่องจากเด็กยังเขียนหนังสือไม่ได้ จึงให้ใช้ภาพที่ระบายสีไว้แล้วตอนรอ เอามาติดในตารางสรุปผลว่าเหลืออะไรบ้าง เช่น ใบตอง ธูป เทียน เศษดอกไม้ เอามาเทียบกันว่าใน 3 แบบนี้อันไหนเหลือเศษเยอะสุด เอามาสรุปว่าเป็นตามที่เด็กเลือกจากการคาดคะเนตอนแรกหรือไม่


ด้วยความที่เค้าเป็นเด็กเล็ก ตอนแรกเราต้องนำเค้าทำกิจกรรมไปก่อนนิดนึง มากกว่าเด็กโต พอเค้าเริ่มจุดติด ก็จะเริ่มเข้าใจวิธีกระบวนการเค้าจะไปเอง บางกระบวนการเราก็ปล่อยเค้าได้ไม่ต้องนำแค่ตั้งคำถามกับเค้า หรือรวบรวมสิ่งที่เค้าพูดมองเป็นวิธีที่เค้าอยากเรียนให้ออก สรุปได้ว่ากระทงที่เหลือเยอะคือขนมปัง รองมาเป็นใบตองและน้ำแข็ง


สรุปแล้วเราจะลอยกระทงประเภทไหนดี

เราให้เค้าเรียงลำดับ ถ้าเป็นเด็กๆ เองอยากลอยกระทงแบบไหน ให้เหลือขยะน้อยสุด เค้าบอกว่าน้ำแข็ง แต่ยังเหลือขยะ 

เราเลยชวนถามต่อว่า ทำอย่างไรให้ไม่เหลือเลย เด็ก ๆ ช่วยกันตอบ เช่น ก็ไม่ต้องใส่ดอกไม้ ในกระทง ไม่ต้องใส่ทูปเทียน ไม่ต้องลอย 

หรือถ้าเราไปลอยกระทงเพราะเป็นการขอขมา ก็ไปขอโทษเฉย ๆ ไม่ต้องลอยเลย ลอยในกะละมัง ลอยแล้วเก็บทิ้ง


น้อง ๆ อยู่ในครอบครัวที่ไม่ค่อยพร้อมเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเท่าที่ควร บางคนที่บ้านไม่มีคอมหรือโทรทัศน์ เค้าไม่ค่อยทันเทคโนโลยีปัจจุบัน

พอเราถามว่าใครเคยลอยกระทงในอินเตอร์เน็ตบ้าง ก็ไม่มีใครเคยได้ยินเลย


เราเลยพาเด็ก ๆ ไปลอยกระทงในเน็ท ลองเปิดหน้าเว็บให้ดู เด็กชอบอะไรแบบนี้ นั่งดูกันนิ่งมาก ชอบมาก ว่าได้เห็นกระทงในทีวี เชื่อมคอมเข้าไป ให้ลองลอย ก็เลยถามว่าลอยแบบนี้มีขยะมั้ย เด็ก ๆ ตอบว่าไม่มี



ในคาบนั้น...

เด็ก ๆ ได้ลองสังเกตเก็บข้อมูลการทดลองเอง ปกติเราให้เค้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงการทดลอง จากสิ่งที่เค้าไม่เคยสังเกตมาก่อน เด็กลอยกระทงเสร็จก็จบไม่รู้ว่าหลังจากนั้นกระทงมันเป็นอย่างไร อาจะเป็นครั้งแรกที่เค้าได้รู้ว่ากระทงเค้าลอยแล้วเป็นอย่างไรหลังจากได้สังเกตเอง

เค้าได้เป็นคนเก็บข้อมูลเชิงสถิติเอง มาเปรียบเทียบกันว่าอะไรเหลือขยะเยอะสุด เปรียบเทียบข้อมูล ที่เค้าได้มาว่าอันไหนเยอะสุดหรือน้อยสุด ได้ลงมือทำเองทุกขั้นตอนโดยมีครูเป็นผู้สังเกตการณ์อีกที



หลังจากนั้น...

ได้เปลี่ยนความคิดของเค้า นอกจากอยากลอยเพราะอยากเที่ยวเล่น เกิดความคิดว่า การลอยกระทงนอกจากลอยเพื่อความสบายใจตัวเองแล้ว เราต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น และไม่สร้างขยะให้แม่น้ำ 

ก่อนหน้านั้นเด็กรู้แค่ว่าลอยกระทงห้ามใช้โฟม เพราะไม่ย่อยสลาย แต่ไม่มีใครบอกอีกว่าการเอาขยะธรรมชาติมหาศาลไปโยนในเวลาอันสั้น การย่อยสลายเองใช้เวลา และไม่มีใครบอกว่ามันเป็นผลเสียต่อแม่น้ำในเรื่องมลภาวะทางน้ำ


เค้าได้รู้ว่าการลอยกระทงต่อให้ใช้วัสดุธรรมชาติ ก็เกิดขยะอยู่ดี เป็นครั้งแรกที่เค้าได้รับข้อมูลนี้ ที่การลอยกระทงบางครั้งก็ไม่ได้เป็นประเพณีที่สวยงาม ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร 




เด็กเล็กเป็นเหมือนฟองน้ำที่ซึมซับแล้วเก็บไว้ 

พัฒนาการบางอย่างเห็นผลช้า บางอย่างเห็นทันที ทุก ๆ วันเห็นเค้าพัฒนาเล็ก ๆ น้อย ๆ  ไปเรื่อย ๆ รู้สึกประทับใจ ในทุกหน่วยทุกเรื่องที่สอน


หลังจากวันลอยกระทงที่เป็นวันเสาร์ วันจันทร์เรามาถามเค้า 

บางคนตอบว่าไปลอย แต่แทนที่จะทั้งครอบครัวคนละอัน ก็ลอยกับพี่พ่อแม่ทั้งบ้านอันเดียว อีกคนบอกไม่ลอย ไปลอยในเน็ท หนูลอยในกะละมัง


คือมันไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็น ด้วยความประเพณีเป็นค่านิยมที่อยู่มานาน เรามาเปลี่ยนชั่วข้ามคืนไม่ได้แต่เป็นสัญญาณที่ดี ให้เค้ารู้จักไม่สร้างภาระต่อคนอื่นและต่อแหล่งน้ำ

ตอนถามแล้วเค้าตอบกลับมาว่าไม่ลอย ลอยออนไลน์ ก็อ๋อ แสดงว่าที่เราสอนเค้าเข้าใจว่าเค้าควรไม่สร้างภาระให้แหล่งน้ำ

เค้าเข้าใจคอนเซปว่าวันลอยกระทงเป็นประเพณีที่ดี แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย 



รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)