ไอเดียจากครูทิพย์ ครูผู้นำเรื่องจริงใกล้ตัวเด็ก ๆ อย่างพี่แอ๋ม พี่ป.2 ที่กำลังป่วยหนัก
มานำเสนอเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จิตศึกษา ให้มีสติชำนาญ มีความจดจ่อ
มีการใคร่ครวญ กำกับตนเองได้ เห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมกันอยู่ของตนเอง และสิ่งต่าง ๆ
เรียนรู้ความมีน้ำใจ ปรารถนาดี และความเห็นใจต่อผู้อื่น
ปกติแล้ว ที่โรงเรียนมีการทำจิตศึกษาในช่วงเช้า ตอนหลังเข้าแถว
ประมาณ 20 นาที เป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนไปถึงปัญญาภายใน เสมือนกล้องที่เอาไว้ส่องมองเข้าไปในตนเอง ได้แก่ การมีสติชำนาญเพื่อเท่าทันอารมณ์ การมีสมาธิเพื่อกำกับความเพียรให้สำเร็จ การมีจิตใหญ่เพื่อรักได้อย่างมหาศาล การเคารพคุณค่าในตนเองและคนอื่น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างภราดรภาพ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น
วันนี้ เด็ก ๆ อนุบาล 3 ได้ทำกิจกรรม “ส่งกำลังใจให้พี่แอ๋ม”
ก่อนที่จะเข้ากิจกรรม คุณครูเตรียมความพร้อมด้วยเบรนยิมท่ากรรไกร ไข่ ผ้าไหม และเพลงลูกเป็ด 5 ตัว และนำนักเรียนกลับมารู้ตัวด้วยการรับรู้กาย และรับรู้ลมหายใจตัวเอง
ขั้นชง: ครูเล่าเรื่องของพี่แอ๋มให้ฟัง
พี่แอ๋มเป็นน้องสาวของพี่อ๋อม เป็นพี่ชั้น ป.2 ของโรงเรียนเรา
เมื่อปีที่แล้วพี่แอ๋มเข้าเรียนชั้น ป.1 ได้ประมาณ 2 เดือน
ยายได้มาแจ้งคุณครูว่า พี่แอ๋มปวดท้องมาก คุณหมอส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ และต้องใช้เวลานานในการรักษา
(ครูไม่ได้บอกว่าพี่แอ๋มป่วยเป็นมะเร็ง)
ตั้งแต่วันนั้นพี่แอ๋มก็ไม่ได้มาเรียนกับเพื่อน ๆ อีกเลย
พี่แอ๋มเทียวไปมาระหว่างบ้านและโรงพยาบาล
ขณะที่รับการรักษาพี่แอ๋มทำตามที่คุณหมอแนะนำได้เป็นอย่างดี
เพราะพี่แอ๋มอยากหาย จะได้มาเล่น มาเรียน กับเพื่อน ๆ
แต่ระยะหลังพี่แอ๋มจะต้องนอนที่โรงพยาบาลนานขึ้น ทานข้าวไม่ได้ ตัวผอม และหายใจเหนื่อย
และวันนี้คุณหมออนุญาตให้พี่แอ๋มกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ได้มาอยู่กับคนที่พี่แอ๋มรัก ตามคำขอร้องของพี่แอ๋ม
ขั้นเชื่อม: ครูตั้งคำถาม
- ฟังเรื่องพี่แอ๋มแล้วเด็ก ๆ รู้สึกอย่างไร
: เด็ก ๆ ตอบว่า เสียใจที่พี่แอ๋มปวดท้อง, สงสารพี่แอ๋มอยากให้พี่แอ๋มหายไว ๆ
- อยากบอกหรือส่งกำลังใจให้พี่แอ๋มอย่างไร
: เด็ก ๆ ตอบว่า อยากให้พี่แอ๋มสู้ ๆ, สุขภาพแข็งแรง, หายไว ๆ จะได้มาเล่นกับเพื่อน ๆ ,นอนพัก เยอะ ๆ, ทานผัก ผลไม้เยอะ ๆ, ไม่ดื่มน้ำอัดลม
ขั้นใช้: ครูชวนคิดและชวนลงมือทำ
- ครูชวนเด็ก ๆ ติดกระดาษรูปหัวใจดวงเล็กในหัวใจดวงใหญ่ เพื่อมอบความรักและกำลังใจให้พี่แอ๋ม
- ครูชวนคิดว่า “ขณะที่ติดรูปหัวใจเด็ก ๆ ใส่อะไรลงไปในหัวใจบ้าง เพราะอะไร”
: เด็ก ๆ ตอบว่า ใส่บักตากบ (ลูกตะขบ) เพราะพี่แอ๋มเคยพาหนูปีนเก็บ, ใส่นมเปรี้ยว, แอปเปิ้ล เพราะอยากให้พี่แอ๋มแข็งแรง ใส่กล้วยไข่, ไข่เจียว เพราะกินของอร่อยจะได้หายไว ๆ, ชูนิ้วมือบอกว่าสู้ ๆ, หน้ายิ้ม, พี่แอ๋มจะได้มาเล่นกับพวกเรา ฯลฯ
ขั้นจบ: ขอบคุณ
ขอบคุณทุกความรักและกำลังใจที่มอบให้พี่แอ๋ม
จบกิจกรรม ครูและพี่จิ๋วเป็นตัวแทนนำหัวใจและหนังสือนิทานเรื่องกูจี กูจี
ไปมอบให้พี่แอ๋มที่บ้าน พี่แอ๋มฝากขอบคุณน้อง ๆ ทุกคนค่ะ
.
แม้ 2 วันต่อมา… พี่แอ๋มได้จากเราไป
แต่ทุกกำลังใจจากเด็ก ๆ
“ขอให้สู้ๆ นะ”
“อยากให้หายไว ๆ จะได้มาเล่นกับหนูและเพื่อน ๆ และน้อง ๆ”
“ถ้าพี่แอ๋มหายมา จะพาไปเก็บต้นตะขบที่สนามเด็กเล่น”
และการเรียนรู้ที่จะดูแลรักษาให้ร่างกายแข็งแรง
“ดื่มน้ำเยอะ ๆ ดื่มนม อย่าดื่มน้ำอัดลม”
“กินผักผลไม้”
“นอนพักเยอะ ๆ”
“ออกกำลังกายเยอะ ๆ”
เป็นตัวช่วยใกล้ใจให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และพัฒนาจิตศึกษา
ทั้งในแง่ของผู้เรียนและพลเมือง
ผู้เรียนรู้ - มีความมุ่งมั่น ความพยายามการทำให้สำเร็จ ถ้าหล่อหลอมไปเรื่อย ๆ
จะมีความพยายามทำให้ได้ รู้ความสามารถและถนัดของตัวเอง
สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ เมื่อมีอะไรมาปะทะ
จะสามารถจัดการอารมณ์และแก้ปัญหาได้ มีความสุข จิตใจอ่อนโยน
.
พลเมือง - รู้ถึงสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ เห็นความงอกงาม เห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมกันอยู่ของตนเอง และสิ่งต่าง ๆ เรียนรู้ที่จะมีความเห็นใจ มีน้ำใจและปรารถนาดีต่อผู้อื่น ร่วมทำกิจกรรม ยอมรับและชื่นชมผลงานตนเองและคนอื่น
อ่านเรื่องราวต้นฉบับ พร้อมรูปภาพประกอบ ได้ที่นี่เลยค่า
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=3383732795054022&id=100002520055162
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!