icon
giftClose
profile

ปรากฏการณ์ทางการเมือง กับห้องเรียนวิชาสังคม

47883
ภาพประกอบไอเดีย ปรากฏการณ์ทางการเมือง กับห้องเรียนวิชาสังคม

จากประเด็นสังคมที่กำลังร้อนแรง สู่คาบเรียนแห่งการตีความ ตามหาที่มา และสะท้อนอย่างมีความหมาย ในคาบสังคม





“ การชูสามนิ้ว โบว์ขาว Generation ”

ความเห็นต่างของเพื่อน ครู และคนต่างวัย จากต่างอุดมการณ์ทางการเมือง

และปรากฏการณ์ กับห้องเรียนวิชาสังคม 


ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมสนใจปรากฏการณ์นี้เป็นพิเศษ และพยายามออกแบบกระบวนการเรียนรู้กับนักเรียนม.ต้น ในวิชาสังคมศึกษา และเอาโอกาสนี้มาเรียนรู้ร่วมกับนักเรียน จากมุมมองของพวกเขาไปด้วยเช่นกัน


ไม่รู้จะเริ่มเล่าอย่างไรเลย เพราะกระบวนการของแต่ละห้องก็ต่างกัน และสนุกมาก แต่ผมไม่มีเวลาเขียนแบ่งปันยาว ๆ ลงรายละเอียด


เอาเป็นว่าขอแบ่งปันกระบวนการของนักเรียน ม.3 จากสองห้องแล้วกัน เพราะคิดว่าไปไกลและน่าสนใจ ทั้งในแง่ของกระบวนการ และแง่ของพื้นที่การเรียนรู้ 

น่าจะพอจะแบ่งปันเป็นไอเดีย ต่อยอด และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันครับ




จากริบบิ้น ไปสู่ สัญลักษณ์


ครูเริ่มต้นจากการชวนเล่นเกมโยนเชือก กระตุ้นต่อมสนุก ใช้เวลาสั้น ๆ 5 นาที โดยการให้นักเรียนจับกลุ่มคละเพศหญิงชายกลุ่มละ 6 - 7คน แล้วมอบเชือก ริบบิ้น มัดเป็นห่วงวงกลม ขนาดสมาชิกจับล้อมเป็นวงกลุ่มได้สบาย ๆ 


จากนั้นครูให้โจทย์ จากง่ายไปยาก 

เช่น โยนขึ้นสูง ไม่ให้ตกพื้น แล้วรับให้ได้ หมุนตัวระหว่างโยน ปรบมือหลายครั้งระหว่างโยน หรือแม้กระทั้งโยนส่งพร้อมกันเวียนเป็นกลุ่มใหญ่


จากนั้นชวนเอาริบบิ้นมาทำเป็นสัญลักษณ์ 

จากโจทย์ที่ครูให้ทีละข้อ เช่น ความรัก ชาย หญิง เพศทางเลือก ชาติ อำนาจ การเคารพ สิทธิ

แล้วเอามาแลกกันดู แบ่งปันแนวคิดที่ทำ 


ช่วงนี้สนุกว่ะ ครูได้เห็นการตีความ ให้ความหมายจากนามธรรม เป็นรูปธรรมที่น่าสนใจมาก 

ส่วนตัวชอบการตีความโจทย์ของเด็ก ๆ จากโจทย์ “อำนาจ” แต่ละกลุ่มคิดต่างไม่เหมือนกันเลยสักกลุ่ม บ้างเป็นค้อนในสภา เป็นมงกุฎของกษัตริย์ เป็นปืน เป็นประชาชน เป็นโพเดียม เป็นรถถัง เป็นดาวบนบ่าทหาร หรือแม้แต่พานรัฐธรรมนูญ



ชวนตีความ


ครูชวนคุยถึงการตีความ การให้นิยามของแต่ละคน ที่เห็นเหมือน และเห็นต่าง ว่ามันมีจากปัจจัยใดบ้าง เด็ก ๆ ช่วยกันระดมและแลกเปลี่ยน ได้ทั้งประสบการณ์ จุดยืน มุมมอง ความเชื่อ ข้อมูล และจินตนาการ


“ความเห็นต่างล้วนมีที่ไป ที่มา ทะเลาะกันได้ แต่อย่าแรงจนต้องตีกัน” เสียงของนักเรียนคนหนึ่งพูดแสดงความคิดเห็น ทุกคนในห้องยกนิ้ว และปรบมือให้


“เห็นต่าง ไม่จำเป็นต้องแตกแยก” คำคมที่สองตามมาติด ๆ และมีมาเรื่อย ๆ 


ครูหยิบประเด็นนี้มาชวนคุยต่ออีกนิด ด้วยการชวนดูภาพเดียวกัน แต่เห็นต่างกันในภาพ เลข 6 และเลข 9 และหยิบยกประเด็นการเมืองมาชวนคุย ในมุมของผู้เรียกร้อง จากฝ่ายของเยาวชนและประชาชนปลดแอก กับมุมมองของรัฐบาล และผู้สนับสนุนรัฐบาลมาชวนคุย โดยบอกด้วยว่าข่าวที่ได้มา มาจากสำนักไหน


โดยการเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น 

 ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างได้อย่างเต็มที่ 

โดยมีกติการ่วมกันคือ ให้เวลาพูดและฟังกัน ให้จบทีละคน 


ในช่วงนี้สนุกและมันมาก (นักเรียนมีภูมิคุ้มกัน จากวงดีเบท ชวนคุย คิด เป็นวัฒนธรรมของห้องเรียนสังคมอยู่แล้ว เลยถกเถียงกันอย่างสนุก และไหลลื่นไม่อึดอัดหรือเคอะเขิน)



ในมุมเห็นต่างและเห็นด้วย เป็นมุมที่ทั้งขำและขนลุก ไม่คิดว่าเด็ก ๆ จะคิดไปไกลและกว้างกว่าที่เราคิดเอาไว้มาก ๆ 


“หนูคิดว่าการยกสามนิ้ว มันไม่ได้มีอะไรผิดและน่ากลัวเลย แต่หนูก็ถูกครูบางคนห้าม และบอกว่าอย่าหาทำ”


“ผมรู้สึกว่าคนที่ยกสามนิ้มมันเสร่ออะครู และไม่เห็นด้วยที่ต้องยกนิ้วแบบนั้น ถ้าคนนั้นไม่ได้รู้ที่มาที่ไปจริง ๆ ของการยกนิ้ว ยกให้ใครวะ ยกใส่ธงชาติ”


“ผมไม่โอเคเลยที่ผู้ใหญ่บอกว่าเราถูกล้างสมอง แต่ถ้าถูกล้างผมคิดว่า เราต่างถูกล้างสมองเหมือนกันนั้นแหละ ทั้งผู้ใหญ่หรือเยาวชน แค่น้ำยาล้าง และสิ่งที่เติมเข้าไปใหม่ไม่เหมือนกัน”


…..บรรยากาศเริ่มเดือด……


...แต่ดีชิบเป้ง 


สะท้อนถึงที่มา


ครูขอเปลี่ยนมู้ด ชวนทุกคนดูลมหายใจ สั้น ๆ ก่อนขยับกันต่อ


จากนั้นชวนนักเรียนรีวิวถึง Generation ที่เราโตมากันคนละยุค เบ้าหลอมคนละแบบ คุณค่าที่ให้ค่าคนละอัน แบบรวดเร็ว (เพราะเด็ก ๆ เรียนรู้ และมีข้อมูลมาบ้างแล้วจากที่ครูเคยสอน)

และให้ข้อมูล หลักคิดสำคัญ ความเชื่อในอุดมการณ์ ตัวอย่างบุคคลของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบต่าง ๆ ของฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวา


จากนั้น ครูก็มีข้อความวาทกรรม ทั้งจากคอมเมนต์ในสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค และวาทกรรมที่เรา ๆ คุ้นเคย มาชวนให้เด็ก ๆ วิเคราะห์ว่า วาทกรรมดังกล่าว น่าจะมาจากบุคคล หรือกลุ่มความเชื่อทางการเมืองแบบไหน แล้วในชีวิตจริง เราเห็นวาทกรรมแบบนี้ สะท้อนความเชื่อและวิธีคิดแบบไหนกัน


ช่วงตีความและแลกเปลี่ยนกัน ทั้งสนุก น่าสนใจ และท้าทายมาก เพราะการตีความ และให้ความหมายของแต่ละคนก็ต่างกันมาก อย่างคำว่า “ไปต่อแถว” นี่ก็ขึ้นอยู่กับเวลา สถานการณ์ บุคคล ที่สื่อสารว่าอยู่ในบริบทไหน เป็นพื้นที่เรียนรู้และแลกเปลี่ยนกันมันได้อีก


เวลาเหลือน้อย กิจกรรมก็แน่นมาก... 

ครูเลยขอให้สะท้อนบทเรียนสั้น ๆ และข้อคำถามสงสัย 5 คน และฝากให้ติดตามข่าวสารจากหลาย ๆ สื่อ อย่างเท่าทันแหล่งข่าว และเท่าทันอารมณ์ตนเอง เราคือคนที่ต้องการอยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย (คนละแบบ) ไม่ต่างกัน


 “อย่าหาทำ” vs “ทำโลด”


การบ้าน ให้นักเรียนบอก และฝึกพฤติกรรม “อย่าหาทำ” และ “ทำโลด”

ในฐานะนักเรียน และประชาชนที่อยู่ร่วมกันบนความเห็นต่าง ได้อย่างสันติ และสังคมเดินหน้าได้


ผลงาน จากการบ้าน นักเรียนให้ความร่วมมือดีมาก มีการบ้านส่งกลับมาเกือบ 100 % ยกตัวอย่างผลงานที่น่าสนใจ สิ่งที่…


“อย่าหาทำ” 

เช่น การรีบตัดสินผู้อื่น การดูถูกความคิดเห็นผู้อื่น การรังเเก หรือล้อเลียน คำพูด หรือ อัตลักษณ์เฉพาะตัวของผู้อื่น เช่นการแต่งตัว สีผิว บุคลิค เป็นต้น


ส่วนพฤติกรรม “ทำโลด” 

ที่น่าสนใจที่นักเรียนทำมา เช่น การรับฟังทุกความคิดเห็น การอดทนฟังสิ่งที่เห็นต่างจากเรา การยืนยันสิทธิของตนเอง หรือ การเข้าไปช่วยเหลือเมื่อมีการระเมิดสิทธิหรือการรังแกเพื่อน เป็นต้น 



ความเป็นพลเมือง จากจุดเล็ก ๆ ในห้องเรียน


ผลลัพท์ที่ผมมอง รู้สึกพอใจ และดีใจที่บรรยากาศของการเรียนรู้ และการเปิดพื้นที่นี้ ช่วยให้เราได้เห็นมุมมองของเด็ก ๆ หลากหลายมาก เด็ก ๆ ก็สนุก เเลกเปลี่ยนได้มันส์ ช่วยกระตุ้นให้ช้าลง และเกิดการตั้งคำถาม หรือขบคิดต่อ


หลังจากเหตุการณ์ช่วงนั้น มีนักเรียนมาหลังไมค์ พูดคุยเรื่องการเมือง อย่างเป็นธรรมชาติอยู่บ่อยครั้งกับครู เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ๆ ได้ระบายหรือแลกเปลี่ยนมุมมองกัน 


บรรยากาศในห้องเรียนเองก็เปลี่ยนไปเลยนะ ตัวครูเองก็แบ่งเวลาให้ช่วงท้ายคาบ 10 นาที เป็นพื้นที่ แลกเปลี่ยน ถกเถียง หรือถามตอบได้ทุกมิติที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา 


ทำให้ เราเองก็สนุกที่จะได้โอกาสเรียนรู้จากนักเรียนด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนนี้เเหละเราเชื่อว่า คือการสร้างความเป็นพลเมือง จากจุดเล็ก ๆ ในห้องเรียน ให้เป็นวิถี ในบรรยาศความเป็นประชาธิปไตยในห้องเรียน ที่เท่าทันกระเเสของสังคม และได้กลับมาเห็นการเติบโตด้านในของตนเองด้วย

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(31)
เก็บไว้อ่าน
(28)