icon
giftClose
profile

กระบวนการนิทานใบไม้

1089811
ภาพประกอบไอเดีย กระบวนการนิทานใบไม้

สัมผัสและเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมรอบตัว บูรณาการหลากหลายวิชา เรียนรู้จากการเล่น ผ่านการทำนิทานใบไม้



 นิทานใบไม้คือ กระบวนการสร้างสรรค์จินตนาการจากธรรมชาติ มีธรรมชาติรอบตัวเป็นแรงบันดาลใจ ทำหุ่นเชิดโดยเอาใบไม้และวัสดุธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นรูปต่าง ๆ และส่องแสงทำให้เกิดแสงเงาบนฉาก ซึ่งเราอยากชวนให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรอบตัว พร้อม ๆ กับการได้บูรณาการหลายวิชา ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์ (รูปทรงใบไม้ ขนาด) วิทยาศาสตร์ (แสง เงา) ภาษาไทย (เขียนบท) หรือ ศิลปะ (การสร้างหุ่น)






หัวใจของกระบวนการนิทานใบไม้ คือการที่เด็กๆได้เกิดสังเกตและรู้จักกับธรรมชาติ โดยใช้ใบไม้เป็นเครื่องมือ -- มีใบไม้เป็นครู 


จุดเริ่มต้นจากหนังตะลุงอีสาน 

ทางภาคอีสานเรียกหนังบักตื้อ หนังบักปอดบักแก้ว คล้ายหนังตะลุงของภาคใต้ แต่จะใช้หนังวัวหนังควายมาทำเป็นตัวหุ่นเชิด และใช้นิทานพื้นบ้านมาเล่าเรื่อง 


เริ่มต้นเคยให้เด็ก ๆ มาลองทำตัวหุ่นหนังตะลุง แต่ด้วยหนังวัวมีความเหนียวและแข็ง มีความยากเกินไปสำหรับเด็ก เลยคิดว่าเราจะทำยังไงให้เด็กได้เล่นหุ่นเงาได้ง่ายขึ้น จึงสังเกตเห็นใบไม้แห้งใกล้ตัว ที่ร่วงหล่นลงมาจากต้น ใบไม้แห้งก็มีหลากหลายรูปทรง หลายสีสัน เลยลองนำมาสร้างสรรค์ประกอบร่างกันขึ้นมาเป็นตัวหุ่นง่าย ๆ เช่น รูปปลา รูปสัตว์ต่าง ๆ เราจึงเห็นว่าสามารถนำใบไม้มาสร้างสรรค์เป็นตัวหุ่นได้

และที่สำคัญใบไม้หาได้ง่ายและมีอยู่ทั่วไป ไม่ว่าเด็ก ๆ จะอยู่ที่ไหน ถึงจะอยู่ที่บ้านก็จะสามารถหยิบจับทำได้เอง 


กิจกรรม 1: เกมส์ใบไม้แชมป์เปี้ยน

ชวนให้เด็ก ๆ เก็บใบไม้ คนละ 6-10 ใบที่มีรูปทรงและขนาดที่ไม่ซ้ำกัน (นำใบไม้มาดู เพื่อให้สังเกตและสัมผัสใบไม้ที่เก็บมาได้)

ให้เด็ก ๆ จับคู่กับเพื่อน หันหลังชนกัน และเตรียมเอาใบไม้ไว้ที่หน้าตัวเอง

ให้โจทย์ไปทีละข้อ เช่น ให้เลือกใบไม้ที่ใหญ่ที่สุด เล็กที่สุด ผิวเรียบรื่นที่สุด มีเส้นใยเยอะที่สุด มีรอบหยักตรงขอบเยอะที่สุด จากนั้นนับ 1-2-3 แล้วให้หันหน้ามาเจอกัน เอาใบไม้มาเทียบเคียงกัน (ใครชนะได้คะแนน 1 แต้ม เป็นการเล่นกันสนุก ๆ ที่มีใบไม้เป็นครูไม่มีคะแนนอะไรจริงจัง เราอยากให้เด็กได้สังเกตรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของใบไม้)


กิจกรรม 2: ชวนคุยเรื่องใบไม้

ชวนเด็ก ๆ คุยเรื่องการใช้ใบไม้ เชื่อมโยงต่อไปเรื่อย ๆ ไล่ลำดับการชวนคิดและพูดคุย เช่น

-ใบไม้ ใบไหนบ้างเอามาห่อขนม (ใบกล้วย/ใบตอง ใบเตย ฯลฯ) 

-ใบไม้ ใบไหนบ้างเอามาต้มเป็นน้ำดื่ม (ใบเตย ฯลฯ) 

-ใบไม้ ใบไหนบ้างเอามาทำเป็นยา 

-ใบไม้ ใบไหนบ้างมนุษย์เอามาทำเป็นที่อยู่อาศัยได้บ้าง (ตองกุง ใบจากสานเป็นหลังคา ใบหญ้าคา) 



-ใบไม้ทำหน้าที่อะไรบนโลกของเรา เด็ก ๆ ก็จะตอบได้ว่าสังเคราะห์แสง (วิชาวิทย์) ผลิตอาหาร ดูด CO2 คาย O2 หายใจ จนถึงการหายใจของใบไม้ 

-คำถามสุดท้าย คือ ถ้าโลกไม่มีใบไม้ คิดว่าเราจะอยู่ได้ไหม 

(เป็นคำถามปลายเปิด ให้เด็กลองไปหาคำตอบเอง)


กิจกรรม 3: ใบไม้แปลงร่าง

1.เริ่มสร้างสรรค์ศิลปะกัน ด้วยการเอาใบไม้มาวางบนกระดาษและวาด outline ตามใบไม้ 

2.เอาใบไม้มารวมร่างกัน เช่น ได้รูป ปู ปลา ผีเสื้อ เรียกว่า “ใบไม้แปลงร่าง”

3.คุณครูชวนคิดและชวนคุยถึงผลงานในวง เด็กจะได้เห็นว่าผลงานของเพื่อนเป็นอย่างไร

4.สอนการประกอบหุ่นเชิด ให้เด็ก ๆ เลือกใบไม้มาคนละ 2-3 ใบมาประกอบร่าง 

เช่น ปลา ตัดใบไม้บางใบทำเป็นคลีบให้อิสระเด็กในการทำ ทำรูปแบบไหนก็ได้ 

5.หลังจากทำหุ่นเสร็จ เอาหุ่นไปเชิดกับจอผ้าและไฟ spotlight ที่เตรียมไว้ 

 6.เด็ก ๆ สามารถจับกลุ่มกันเล่านิทาน เล่าเรื่องหรือแสดง





จากกิจกรรมนี้ เด็ก ๆ ได้สังเกตใบไม้และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น สังเกตสีและรูปทรง นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังเห็นคุณค่าของใบไ้ม้มากขึ้นจากที่เคยกวาด เผา หรือทำเป็นปุ๋ย  


การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพียงแค่หยิบจับสิ่งรอบข้างอย่างใบไม้ ก็สามารถเรียนรู้จากมันได้และต่อยอดจินตนาการของผู้เรียน ใช้ใบไม้เป็นเครื่องมือเป็นสื่อ “มีใบไม้เป็นครู”




การเตรียมกระบวนการสอนและอุปกรณ์

  • ใบไม้
  • กระดาษ
  • ดินสอ สีไม้ หรือสีเทียน สีน้ำ
  • กระดาษรองเขียน
  • ปืนกาว กาวร้อน
  • ตุ๊ดตู่ (เหล็กเจาะหนังให้เป็นวงกลม) 
  • ค้อน
  • กรรไกร กรรไกรตัดกิ่ง
  • คัตเตอร์
  • ไม้ไผ่ หรือไม้เสียบลูกชิ้น ตะเกียบ ใช้สำหรับทำไม้ก้านเชิด
  • จอผ้าสีขาว 
  • ไฟฉาย หรือไฟที่สามารถส่องสว่างได้


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(22)
เก็บไว้อ่าน
(18)