icon
giftClose
profile
frame

ศิลปะการละครและการเรียนรู้

20591
ภาพประกอบไอเดีย ศิลปะการละครและการเรียนรู้

ยกระดับ *ปรากฏการณ์* ในชั้นเรียนให้เป็นการเรียนรู้



เด็ก ๆ วัยมัธยม 1-6 อยู่ในช่วงวัยฝัน สมองส่วนอารมณ์ของเขานั้นทำงานอยู่เต็มที่ 


เด็กรุ่นนี้จะจำความรู้สึกมากกว่าคอนเท้นท์


เพราะฉะนั้น ! เวลาออกแบบกิจกรรมครูจะใช้การละครที่มี *อีโมชั่น*

มีความดรามาติก มีซีนที่ให้เด็กได้มองหาความสว่างสดใสหรือความมืด 

เพราะความดราม่านี้ จะทำให้ประสบการณ์อยู่ในความทรงจำ 


“เราทำงานบรรจุความทรงจำมากกว่าความรู้”


เราเน้นสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่รู้สึกดี เช่น การชวนให้ชิมอะไรที่อร่อยหรือดมแล้วหอม

การสอนต้องสนุกสนาน แต่ไม่ละทิ้งว่าบรรยากาศนี้นำไปสู่อะไร ถ้าละทิ้งคาบนั้นก็แค่ “สนุก”


เราชอบสร้างไดนามิกในการสอน

เด็ก ๆ จะรู้สึกว่าเวลาเรียนกับเราเหมือนการนั่งรถไฟเหาะตีลังกา 


เราต้องแบ่งจังหวะ เช่น ขึ้นแบบนี้ peak อยู่ไหน conflict คลี่คลายอย่างไร แล้วลงอย่างมั่นคง เป็นการออกแบบให้เป็น learning curve ที่ดรามาติกมีไดนามิก


แล้วเด็ก ๆ เรียนรู้อะไรจากการละคร ?


การเรียนด้วยกระบวนการละคร เป็นโอกาสช่วยเด็ก ๆ พัฒนาเรื่องอารมณ์ของเขา วิธีการทำงานร่วมกับคนอื่น และการเห็นคุณค่าของกันและกัน


ตัวอย่างเช่น …


  1. ช่วยช้อนปัญหาการทำงาน
  2. ช่วยปรับสถานการณ์ที่เด็กโดดเดี่ยว
  3. ช่วยพัฒนาคุณภาพใหม่


แต่ก่อนอื่นเลย 

ทักษะที่สำคัญมากสำหรับเราในการเป็นครู

คือการมี *สายตา* ที่ว่องไว

การทำงานนี้ต้องอาศัยการสังเกตให้เร็วเวลาเด็ก ๆ ทะเลาะกัน เราต้องช้อนปรากฏการณ์นั้นมาให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้ทัน


1. เมื่อเด็ก ๆ ทำงานกลุ่มแล้วทะเลาะกัน


เด็กเล็ก ๆ มักจะทะเลาะกันเวลาทำกิจกรรมกลุ่ม สิ่งที่เราทำคือปล่อยให้เด็กทำงานจนเสร็จก่อน แล้วถามเด็ก ๆ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และถามกระบวนการทำงาน 


“ไหนใครรู้สึกว่าผลงานที่ออกมา พึงพอใจไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นบ้างโดยส่วนตัว”

“ใครร้อย ให้ยกมือ”


เราบอกเด็ก ๆ ว่าคนที่รู้สึกว่าพอใจไม่ถึงร้อยแปลว่ามาถูกทางแล้วนะ แปลว่าเราทำงานร่วมกันกับเพื่อน

เวลาเราทำงานร่วมกันจะมักรู้สึกไม่พอใจร้อยเปอร์เซ็น 


“ถ้าร้อย แปลว่าเราทำงานคนเดียว เวลาทำงานร่วมกับคนอื่น ถ้าเรารู้สึกไม่พอใจข้างใน แสดงว่าน่าจะมาถูกทางแล้ว”


“แปลว่าเรามีคุณภาพ ทำงานร่วมกับคนอื่น เพื่อเป้าหมายร่วมในกลุ่ม สุดท้ายงานนี้พอใจ แต่ข้างในไม่ร้อยเปอร์เซ็น แปลว่าเราทำงานโดยมีเป้าหมายของกลุ่มเป็นที่ตั้ง”



2. เมื่อมีเด็กแยกตัวออกจากเพื่อน


มีอยู่คาบนึงเราสังเกตว่ามีเด็กคนนึงที่ไปนั่งข้างหลังห้องคนเดียว ช่วงท้ายคาบ เราถามทั้งห้องว่า... 


“เมื่อกี้เราสังเกตไหม ห้องเรามีเพื่อนไปนั่งข้างหลังคนเดียว เกิดอะไรขึ้น”

เพื่อน ๆ จะช่วยกันพูดตอบ ส่วนใหญ่จะบอกว่า เพื่อนที่แยกไปนั่งคนเดียวเขาเป็นแบบนั้นแบบนี้


หลังจากนั้น เราถามเด็กคนที่แยกไปนั่งข้างหลังว่าเขารู้สึกอย่างไร ถ้าเขาพร้อมจะพูด 


เรามาขมวดว่า “ครูอยากเห็นคุณภาพของการดูแลกันมากกว่านี้ ในห้องมีเพื่อนถูกทิ้ง เราดูแลเขารึเปล่า” 

เราพูดกับเด็กที่แยกตัวออกไปว่า “จากสิ่งที่เพื่อนได้พูดก่อนหน้านี้ เพื่อนไม่ได้มองเราร้ายนะ”


เด็กเขาแยกตัวออกไปเพราะอยากถูกมองเห็น


เราให้เด็ก ๆ ชมกันและกัน แล้วถามว่า…

“เราอยากขอร้องอะไรเพื่อนสัก 3 ข้อไหม เพื่อให้คุณภาพการอยู่ด้วยกันดีขึ้น” 

เด็กที่แยกตัวเองออกไปจากคนอื่น เขาคงอยากประกาศอะไรกับเพื่อน ขอร้องอะไรบางอย่าง แต่ทำไม่ได้ เพราะพออ้าปากพูดเพื่อนก็แกล้งแล้ว 


พอเคลียร์เสร็จก็เห็นว่าเด็กพยายามจูนเข้าหากัน เพราะได้พูด ชม และขอร้องกันแล้ว ถ้าผิดจากที่คุยกันไว้แปลว่าผิดกติกา เราและเด็กคนอื่น ๆ ก็จะเข้าไปช่วย เมื่อตกลงขอเพื่อนแบบนี้ขอไว้แล้วเราก็ต้องทำด้วย



3. เมื่อการสวมบทบาทเป็นการพัฒนาคุณภาพใหม่


กระบวนการละครเป็นการเรียนรู้แบบองค์รวม ในการทำโปรดักชันแต่ละครั้ง เราจะคิดว่าจะทำอย่างไรให้กิจกรรมนั้นช่วยพัฒนาเด็ก ๆ ได้ ให้เขาได้มีส่วนร่วมในขั้นตอนการทำงาน และได้มีคุณภาพใหม่ ๆ เกิดขึ้นกับตัวเองด้วย เราจะสังเกตเด็ก ๆ อยู่เสมอ ถ้าคนไหนที่กลาง ๆ ก็ใช้บทเรียนทั่วไป แต่ถ้าคนไหนหลุดต่างไปจากเพื่อน ก็ต้องใช้บทเรียนพิเศษ


ตอนนั้นเราทำละครเรื่อง “ยักษ์ลักเสียง” กัน แล้วมีเด็กผู้ชายคนนึงที่ซนมาก ๆ เขาจะเอาแต่พูด ๆ ไม่อยู่นิ่งเลย ไม่มีสมาธิ ไม่จดจ่อเลย และไม่อยู่กับเพื่อนเวลาซ้อม จะไปเล่นเกมหรือไปเดินไปเดินมา


ในกลุ่มที่ทำละครครั้งนั้น เขารับหน้าที่ทำดนตรีประกอบการแสดง เรามีเป้าหมายว่าอยากให้เขานิ่งขึ้น ก็คิดว่าถ้าจะให้นิ่งต้องให้จดจ่อ เลยให้เขารับบทตีโหม่ง ซึ่งทั้งเรื่องจะตีอยู่แค่สองครั้งเท่านั้น แต่เป็นการตีให้สัญญาณสำคัญในการให้คิวนักแสดงออกมา ถ้าไม่มีเสียงโหม่ง นักแสดงจะออกมาไม่ได้ พอเป็นแบบนี้แล้วเขาก็จะต้องคอยดูการแสดงอยู่ตลอดทั้งเรื่อง 


หลังการซ้อมเราจะคุยกับเด็ก ๆ ในกลุ่มนี้เพื่อมาสะท้อนกัน ถามเด็กคนนี้ว่า... 

“รู้มั้ยว่าทำไมครูเอาโจทย์นี้ให้” 

แล้วเราก็แบไต๋หมดเลยว่าครูเห็นอะไร บางทีเด็กจะคิดว่า เขาแค่ซนหลบ ๆ เอง ทำไมครูเห็นด้วย แล้วเพื่อน ๆ ก็จะช่วยเสริมหรือให้ความเห็นที่อาจจะต่างไปจากที่ครูเห็นก็ได้ เด็กก็จะเห็นกันและกันด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก


เรารู้สึกว่าการศึกษาที่ผ่านมา ไม่ค่อยเห็นเด็ก หรือไปเห็นอีกแบบตามที่ครูหรือกระทรวงกำหนด ว่าเด็กดีต้องเป็นแบบไหน สำหรับตัวเราเองไม่ได้มีนิยามว่าต้องเป็นแบบไหน แต่จะสะท้อนว่าครูเห็นคุณภาพอะไรในตัวเขา ว่านี่คือศักยภาพที่ไปต่อได้นะ แค่เขาพาสิ่งนั้นไปต่อว่าใช่สำหรับเค้าไหม ถ้าไม่ใช่ก็เปลี่ยนไปลองอย่างอื่น พอเด็กรับรู้ว่าถูกมองเห็น เค้าจะหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ แล้วใช้เรี่ยวแรงไปกับทิศทางอื่น ๆ เขามีคุณภาพที่ตัวเองงยังหาไม่เจอ ครูต้องช่วยสะท้อนให้เค้าหาเจอ


การสะท้อนให้เด็กได้ฟัง อาจไม่ได้ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงทันที แต่เป็นการทำให้เด็กรับรู้ว่า เขาถูกมองเห็นนะ และครูคนนี้สัญญาว่าจะไปบอกต่อกับครูคนอื่น ๆ ถึงคุณภาพที่เกิดขึ้นกับเขา จะไปชมเขาให้คนอื่นรับรู้


การอยู่ในบทบาทที่แตกต่างไปนี้ เป็นสถานการณืที่ต่างไปจากที่เขาเคยพบเจอ สิ่งที่เขาไม่เคยเป็นอยู่ หรือเป็นสิ่งที่เขาขาด ทำให้ประสบการณ์ใหม่นี้ ได้ช่วยเปิดมุมมอง ช่วยค้นหาและพัฒนาคุณภาพบางอย่าง หรือช่วยเยียวยาเขาได้จากด้านใน


การเรียนรู้ผ่านการละคร เป็นโอกาสให้เราออกแบบบรรยากาศ ที่ช่วยนักเรียนได้สะท้อนตนเองผ่านความรู้สึกต่าง ๆ 

ทั้งหมดทั้งมวลนั้น กิจกรรมต่าง ๆ ที่เราออกแบบ เราออกแบบในวิธีที่ให้เกียรติเด็ก ๆ 

ครูไม่ได้เหนือกว่า แค่อายุมากกว่า เราไม่ไปละเมิดวิธีการคิดของเขา คนที่เกิดทีหลังไม่ได้แปลว่าด้อยกว่า


อ่านเรื่องราวกิจกรรมกระบวนการละครของครูแอมเพิ่มเติมได้ที่…

https://thepotential.org/knowledge/satit-tu-stageplay/

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(4)