icon
giftClose
profile

เรียนรู้การละคร สู่ปัญหาโครงสร้างทางสังคม

32371
ภาพประกอบไอเดีย เรียนรู้การละคร สู่ปัญหาโครงสร้างทางสังคม

การใช้กระบวนการละครในการสอนประเด็นทางสังคม หรือ Drama in Education (DIE) หยิบเอาสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันเรื่องพลังงาน มาวิพากษ์ไปถึงโครงสร้างทางสังคมและทรัพยากร




คนมักมองว่าละครเป็นสิ่งบันเทิงหรือตลกอย่างเดียว 

แต่เรามองว่าการเรียนรู้ศิลปะการละคร มันสามารถพาไปเชื่อมโยงถึงเรื่องโครงสร้างทางสังคมได้ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ทักษะการแสดงเท่านั้น


หลังจากคาบเรียนแรก ๆ ที่เด็กเรียนการใช้ร่างกาย ที่เรียนแบบสนุกอย่างเดียวมาแล้ว 

มาเข้าสู่กระบวนการ ในคาบเรียน 3 ชั่วโมง ที่เอาละครมาใช้พูดประเด็นทางสังคม 

ในขณะที่เรียนศิลปะของละครที่สร้างซีน พูด เชื่อมโยง ให้เข้าใจ ประสบการณ์ที่ตัวเองบทบาทสมมติอยู่



วอร์มร่างกาย

เริ่มจากให้เด็ก ๆ วอร์มร่างกาย ทวนการเดินโฟกัส 

ให้โจทย์เป็นสถานที่ ว่าเขามีอากัปกริยาเป็นใครอย่างไร เมื่อมีกิจกรรมบางอย่างเกิดขึ้นในสถานที่นั้น แล้วเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อย ๆ เช่น วัด ตลาด

จากนั้นให้เขาเริ่มมารวมกันหลายคน รวมตัวกันทำท่าและจัดองค์ประกอบของสมาชิกในกลุ่ม แสดงเป็น อนุสาวรีย์ จากคำที่เป็นนามธรรม เช่น อนุสาวรีย์ความรัก ความเศร้า ความกล้าหาญ  

ให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจบริบทเรื่องท่าทาง และเข้าใจว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นเรื่องของการจัดวาง พอทำท่าเป็นอนุสาวรีย์เสร็จแล้วให้เพื่อนคนนึงออกมาดูภาพรวม แล้วเข้าไปแก้ไขการจัดวางตำแหน่ง ให้เขาได้เรียนรู้ว่าต้องมีคนออกมาดูแล้วปรับ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเท่านั้น


เริ่มจากประสบการณ์ใกล้ตัว

เริ่มเข้าประเด็น ให้เด็กจับคู่ แชร์ประสบการณ์ตอนที่ไฟดับ ที่ตัวเองเคยเจอ แบ่งเป็นเอกับบี 

รอบแรกเอเป็นคนเล่าเล่า บีฟัง

เอเล่าว่าเหตุการณ์ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นแก้ปัญหาอย่างไร

หลังจากนั้นให้สลับคู่ เอไปคู่กับบีของอีกคู่นึง

รอบนี้ให้บีเล่าเรื่องที่ได้ฟังมาจากเอที่จับคู่กันรอบแรก

แต่เล่าโดยทำให้เหมือนเป็นเรื่องของเขาเอง แทนสรรพนามเป็นตัวเอง 

ครูถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง กับการฟังเรื่องของคนอื่นแล้วเล่าเรื่องของคนอื่น เด็กก็จะแชร์กันว่า…

ทำให้เข้าใจเพื่อนมากขึ้น หรือเด็กบางคนบอกว่า จำรายละเอียดได้ไม่ครบ เด็กจะได้เรียนรู้ว่าเป็นการทำความเข้าใจบทบาท 


สู่เหตุการณ์ทั่วโลก

ให้เด็กจับกลุ่มกัน ทำโจทย์ภาพนิ่ง 3 ภาพ ด้วยการจัดองค์ประกอบของสมาชิกในกลุ่ม โยนโจทย์ให้ สถานการณ์หลักคือไฟดับ ที่ครูยกมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจากทั่วโลก เช่น มีคนท้องจะไปโรงพยาบาลแล้วไฟดับทั้งเมือง เกิดอุบัติเหตทำให้ไปข้างหน้าไปไม่ได้ คนเข้าผิดบ้านแล้วถูกเจ้าของบ้านยิง พื้นที่ทุรกันดารที่ CPR คนไข้อยู่แล้วไฟดับ คนเสียชีวิต 

แต่ละกลุ่มได้หนึ่งสถานการณ์มา แล้วทำให้เหมือนเขาเจอประสบการณ์ด้วยตัวเอง ทำเป็น 3 ภาพนิ่งเล่าเหตุการณ์ คือ ภาพตอนต้น ตอนกลาง ตอนจบ เช่น ภาพแรกคนท้องนั่งในรถ ภาพสองรถติดจนไม่ไหว ทุกคนตกใจ ภาพสามทำคลอดกลางถนน 

ให้เด็กมาแสดงการทำภาพนิ่ง เมื่อครูตบมือแต่ละคนในกลุ่มก็เปลี่ยนตำแหน่งและท่าทางกัน เป็นการเปลี่ยนภาพไปภาพ ไปภาพถัดไป

ให้โจทย์ต่อให้ทำจากภาพนิ่งสามภาพเดิมนี้ ให้เป็นภาพเคลื่อนไหว โดยที่กำหนดให้ใส่คำพูดเพิ่มเข้าไปได้ แต่ไม่เกิน 10 ประโยค จะเลือกแค่คำที่จำเป็น หรือจะใส่เป็นเพลงก็ได้ 

หลังจากแสดงภาพเคลื่อนไหวเสร็จ ครูชวนคุยว่าจากเรื่องส่วนตัวพอเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมีปัญหาอย่างไรบ้าง แล้วเปิดคลิปการใช้พลังงานของไทยให้ดู ให้เห็นว่าการผลิตไฟฟ้ามาจากไหนบ้าง ดูคลิปเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากร เช่น ห้างใช้ไฟเท่ากับแม่ฮ่องสอนทั้งจังหวัด เขื่อนที่ผลิตไฟฟ้า ต้องใช้พื้นที่ในต่างจังหวัด แต่คนกรุงเทพได้ประโยชน์ที่ไฟฟ้าไม่ดับและมีน้ำใช้เสมอ แล้วเราคิดว่าการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นอยู่นี้เป็นอย่างไร


มา role play ร่วมออกแบบความเป็นไปได้ในสังคม

ช่วงสุดท้ายของคาบ แจกบทบาทให้เด็กแต่ละคน เช่น นักเรียน ครู หมอ วิศวกรดูแลโรงงานไฟฟ้า นักการเมือง พ่อแม่ผู้ปกครอง ให้ศึกษา เรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทบาทที่ตัวเองได้รับ เช่น เด็กให้ศึกษาสิทธิเด็ก พ่อแม่ให้ศึกษาว่าจะวางแผนอนาคตลูกยังไง ครูมองเรื่องการศึกษากับพลังงานยังไง มีเวลาให้เขาอ่านหาเสิร์ชหาข้อมูล 5-10 นาที แล้วจดไว้ในกระดาษร่วมกัน ช่วยกันคิดในกลุ่ม

โยนโจทย์สถานการณ์ให้ เช่น ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่ใช้ไฟฟ้าได้เพียง 50 เปอร์เซ็น ถ้าต้องการให้ใช้ได้ร้อยเปอร์เซ็น จำเป็นต้องตั้งโรงไฟฟ้าในหมู่บ้าน แล้วคิดว่า บทบาทตัวเองแสดงอยู่จะต้องการอะไร ชอบอะไร สงสัยอะไร อยากถามอะไรใคร 

ตัวครูทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนในเรื่อง ไปสัมภาษณ์ยื่นไมค์ ให้เกิดการตั้งคำถามเหล่านี้ เริ่มคุยจากบทของเด็กก่อน เด็กพูดถามครู ครูเห็นด้วยมั้ย กลับมาถามพ่อแม่ ได้คำตอบจากหลายคนมา ไปถามนักการเมือง ว่าประชาชนพูดแบบนี้มา คุณจะสร้างโรงไฟฟ้าอะไร วิศวกรพูดถึงว่าโรงไฟฟ้าแบบนี้เป็นอย่างไร พูดถึงสุขภาวะ และชวนแลกเปลี่ยนความคิด 

บางห้องทำกิจกรรมนี้แล้ว อาจไม่ได้ข้อสรุปว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าอะไร บางห้องเกิดข้อตกลงร่วมกัน เด็ก ๆ ก็จะดีใจ

บางห้องไม่ไปถึงไหนเถียงวน ๆ กันอยู่ เนื่องจากตอนให้หาข้อมูลไม่ได้ข้อมูลเพียงพอ หรือคนที่แสดงแต่ละบทดื้อในความคิดตัวเอง ไม่ได้ฟังกันจริง ๆ เช่น วิศวกรมีข้อเสนออ นักการเมืองไม่ฟัง 

สุดท้ายให้เด็กช่วยกันเขียนในกระดาษหนึ่งแผ่นว่าจะทำอย่างไร มาอ่านร่วมกันว่าสิ่งที่คนในสังคมต้องทำร่วมกัน ต้องช่วยกันทำดูแลอะไรบ้าง

ท้ายคาบให้เด็กเขียนโน้ตว่าเรียนเรื่องไรไปบ้าง ทำกระบวนการอย่างไร ได้คำศัพท์ใหม่อะไรบ้าง โดยที่หัวข้อการเรียนรู้ที่เขาเขียนบันทึกนี้ ให้เขาตั้งชื่อหัวข้อเอง แล้วส่งในสัปดาห์ถัดไป  



จากการเรียนรู้เรื่องนี้…

ช่วยให้เด็กได้เข้าใจปัญหาเล็ก ๆ ที่เจอ เพราะด้วยความเป็นคนกรุงเทพฯ ปริมณฑล ไฟดับครึ่งชั่วโมงก็นานแล้ว แต่ต่างจังหวัดในพื้นที่กันดารไฟดับหลายวัน มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ให้ดูสถานการณ์บ้านเมือง ให้เห็นว่าไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ ที่โดนแค่ตัวเองไม่เป็นไร แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง นโยบาย การจัดสรรทรัพยากร 


เป็นการเปิดให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ตัวเอง เอาประสบการณ์ตัวเองเชื่อมโยงกับภาพใหญ่ขึ้น ให้เข้าใจในแต่ละบุคคลผู้เก่ียวข้องกับปัญหา เกิดกระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยนหาทางออก ซึ่งทางออกอาจยังไม่ใช่ แต่เป็นกระบวนการใช้ได้เมื่อเจอปัญหาร่วมกัน


ครูรู้สึกประทับใจมุมมองดี ๆ ที่เด็กหวังดีกับสังคม เห็นว่าถ้าเสียงเขาไปถึงคนที่จัดสรรทรัพยากร คนเหล่านั้นสามารถเอื้อให้เขาได้รับประโยชน์ที่ต้องการ เห็นแววตาของการมีความหวัง 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(13)
เก็บไว้อ่าน
(18)