inskru
gift-close
insKru Selected

จากความหลากหลายทางชาติพันธ์ุ สู่การสร้างสรรค์อาชีพ

9
5
ภาพประกอบไอเดีย จากความหลากหลายทางชาติพันธ์ุ สู่การสร้างสรรค์อาชีพ

เชื่อมโยงการเรียนวิทยาศาสตร์เข้ากับชุมชนในท้องถิ่น ให้ผู้เรียนได้สัมผัสวิถีของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เห็นความสำคัญของตัวเอง ความสำคัญของการเรียนรู้ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข



เราเข้าไปที่โรงเรียนซึ่งบริบทมีความหลากหลายชาติพันธุ์ ได้แก่ชาวไทยใหญ่ ลาหู่ อาราอั้ง อาข่า มีกลุ่มคนพื้นเมืองพื้นราบน้อยมาก ครูพบปัญหาการใช้ภาษาไทย นักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และนักเรียนไม่ค่อยให้ความสำคัญของการศึกษา มีการย้ายที่เรียนบ่อย (ผู้ปกครองทำงานในสวนส้ม) และนักเรียนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ไม่เข้าใจ และดูถูกชาติพันธุ์กลุ่มอื่น 


ช่วงแรกเป็นครูสอนแบบทั่วไป สอนตามเนื้อหาในหนังสือเรียน นักเรียนส่วนใหญ่ติดตามผู้ปกครองมาจากต่างประเทศ ทำงานในสวนส้ม ย้ายที่เรียนบ่อย 


ครูรู้สึกว่าเด็กยังไม่มีเป้าหมายและยังไม่เข้าใจความสำคัญของการมาโรงเรียนและการรู้หนังสือ ว่าเรียนไปทำไม และด้วยรูปแบบของครูที่ ชอบวิถีชนเผ่า ชอบเรียนรู้วัฒนธรรม จึงมักชอบออกสำรวจชุมชน ทำให้พบว่าในชุมชนมีของดี มีภูมิปัญญา ที่หลากหลาย และควรค่ากับการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดองค์ความรู้เหล่านั้น 


จะทำอย่างไรให้นักเรียน ให้ชุมชน รักวิถีในชาติพันธุ์ เห็นความสำคัญของตัวเอง และความสำคัญของการเรียนรู้


จึงเป็นที่มาของการจัดการเรียนรู้แบบที่เน้นชุมชนเป็นฐาน นำเอาองค์ความรู้ภูมิปัญญา เอาปัญหาในชุมชน ปัญหาใกล้ตัวผู้เรียน พยายามนำเอานักเรียนออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน เรียนรู้วิถีชุมชน 


แม้ว่าจะเรียนตามหลักสูตรทั่วไปที่ดูตัวชี้วัดต่าง ๆ แต่เอาสิ่งที่อยู่ในชุมชนมาสอดแทรก ให้เด็กได้ออกไปเรียนรู้จากคนในชุมชน ที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย เอาสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาจับกับเนื้อหาหลักสูตร และชวนให้ทำกิจกรรมที่เด็กจะเอาไปต่อยอดเป็นทักษะอาชีพได้


จากแนวคิดนี้ได้แตกออกมาเป็น 6 กิจกรรมย่อย คือ


1. สืบสานงานศิลป์แห่งศรัทธา

ให้เด็กเข้าชุมชนไปหาศิลปวัฒนธรรมที่อยู่ในชุมชนมาแลกเปลี่ยนกัน งานศิลปะที่เกิดจากความศรัทธา เช่น ตุงดอกข้าว การกัดกระจก การทำโคมแขวนล้านนา เอามาทำชิ้นงานพลิกแพลงเป็นของที่ขายได้ 

จากที่มองว่าปกติใช้แขวนเฉย ๆ สวยๆ มาช่วยกันคิดว่าจะทำเป็นอะไรได้อีกบ้าง มีเด็กบอกว่าเหมือนพวงกุญแจ คนอื่น ๆ มาเห็นงานก็มาช่วยคิดต่อยอด เอาไปทำชิ้นงานมาขาย ครูเห็นว่าเด็กบางคนเรียนแต่วิชาปกติไม่ค่อยตั้งใจ เป็นเด็กหลังห้อง แต่พอมาทำกิจกรรมนี้แล้วปรากฏทำได้ดี


2. นานาอาภรณ์แห่งชาติพันธุ์

ให้เด็กศึกษาว่าในชุมชนมีวัฒนธรรมการแต่งกายแต่ละชนเผ่าที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง ปลูกฝังให้เด็กไม่อายที่ใส่ชุดชนเผ่าของตัวเอง 


เริ่มจากทุกวันศุกร์ครูก็ใส่ชุดชนเผ่าต่าง ๆ ช่วงแรกเด็กก็หัวเราะครูบ้าง เราก็บอกเด็กว่าชุดนี้สวยมากนะ มีลายอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ พยายามพูดกระตุ้นให้เด็กเห็นถึงความสำคัญ นำเอาเอกลักษณ์การทำผ้าและปักผ้าของแต่ละชนเผ่ามาอนุรักษ์ ให้เพื่อนสอนเพื่อน ให้ชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่สอนลายโบราณที่คนรุ่นหลังทำไม่เป็น เช่น ลายอาลูแหม่ล่า ของชาวอาข่า 


3. สร้างสรรค์ (สีสัน) สมุนไพรในท้องถิ่น

ให้ผู้เรียนออกไปสำรวจ ไปศึกษาว่าในชุมชนมีสมุนไพรอะไรบ้าง มีสรรพคุณอย่างไร ใช้ทำอะไรในพิธีกรรมใดบ้าง แล้วนำสมุนไพรที่มีมาทำสีย้อมผ้า ใช้สีย้อมผ้า 


ทำเป็นการทดลองวิทยาศาสตร์ร่วมกับครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ต่อยอดจากสีย้อมในประเพณีไข่แดงของชาวอาข่า พัฒนาสู่การทำสีย้อมผ้า และสีปากกาไวท์บอร์ด 


4. มากมายของกิ๋นบ้านเฮา

ให้เด็กไปศึกษาวัฒนธรรมการกินอาหารจากในชุมชน แล้วนำมาแลกเปลี่ยนความรู้กันที่โรงเรียน มีหลายเมนู เช่น อาหารลาหู่เอามาทำดัดแปลง มีเด็กอยากทำแฮมเบอเกอร์ก็มาลองทำกัน 


บางทีสิ่งที่ได้เรียนรู้มันไม่ได้ผ่านกระบวนการคิดวางแผนมาก่อน แต่เกิดจากการอยากรู้อยากลอง เป็นการเล่นมากกว่า เช่น ทำส้มตำกันแล้วเส้นมะละกอเหลือ เด็กบอกว่าครูคะมีแป้งอยู่เอามะละกอมาชุบแป้ง แล้วปรุงรสน้ำจิ้ม เอามาชิมกัน 


บางครั้งเด็กบอกว่า “ครูคะ อยากทำอันนี้” แล้วร่วมกันคิดรายการเมนูมาว่าต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง เราพาเด็กไปซื้อของไปคำนวณเอง คิดค่าใช้จ่ายเอง ถ้าเอาไปขายจะขายยังไง เอาของในชุมชนมาทำ เช่น น้ำพริกเห็ดนางฟ้า เด็กตั้งชื่อนางฟ้าลุยนรก น้ำพริกมะขาม เป็นต้น และช่วยกันรวบรวมเป็น ปั๊กกะตืนอาหารพื้นถิ่น (หนังสือเล่มเล็กตำหรับอาหาร)


5. บอกเล่าสู่สังคมโลกออนไลน์

เราได้รับงบประมาณสนับสนุนมาทำสื่อวิดิโอ รณรงค์เรื่องแอลกอฮอร์ แล้วครูไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้ แต่มีเครือข่ายคนรู้จักที่ทำกราฟฟิก


ครูเลยจัดค่ายให้มาสอนเด็ก ๆ สองวัน ครูเป็นผู้สังเกตการณ์ แล้วไปถามวิทยากรว่าเป็นอย่างไรบ้าง ได้เห็นว่าเด็กหลายคนที่อยู่ในห้องเรียนชอบนั่งหลังห้อง แต่พอมาค่ายนี้เขาตั้งใจมากแล้วทำได้ดี ทำให้ครูได้รู้จักเด็กมากขึ้นว่าเขาชอบทำอะไร สนใจอะไร โดยที่ครูไม่ได้ชี้นำเลย


เด็กได้ลงมือทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ถ่ายทำ ตัดต่อ แสดง ชาวบ้านในพื้นที่ก็ตื่นตัวเมื่อเห็นเด็กมาทำกิจกรรมกัน มีเด็กที่คิดเอาไปทำต่อยอด ไปทำช่อง youtube ไปสัมภาษณ์คุณลุงคุณป้าในชุมชน เอามาทำคลิปเล่าเรื่องราวดีๆ บอกเล่าสู่สังคมออนไลน์ ผ่านเพจ ‘เยาวชนทำดีสืบวิถีนานาเผ่า’ และ ‘ป่าแดง young me ดี’ และเพจของโรงเรียนบ้านป่าแดง


6. สู่เป้าหมายสุขกายใจอย่างยั่งยืน

ครูวางไว้ให้กิจกรรมมันกว้างออกไป เพื่อให้ครูคนอื่นหยิบไปทำได้ ถ้าทำทั้ง 5 กิจกรรมที่ผ่านมา ก็จะเกิดความสุข เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข เอามาถ่ายทอดด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การเขียนให้เด็กเอาสิ่งที่เค้าได้เรียนรู้ ไปเขียนถ่ายทอดเรื่องราวหนังสือเล่มเล็ก ทำอาหาร ทำผ้า ทำละคร ไปสัมภาษณ์คนเอามาเผยแพร่


สำหรับเราแล้วความสำเร็จของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไม่ได้สำคัญที่ผลงานหรือชิ้นงาน แต่อยู่ที่ว่ากระบวนการและทักษะการแก้ปัญหา ว่าเด็กสามารถแก้ปัญหาได้ โดยที่ครูไม่ได้จัดการ แต่เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ครูพยามผลักดัน ดึงครูในโรงเรียนมามีส่วนร่วม จัดการเรียนรู้บนพื้นฐานความเท่าเทียมเสมอภาค


ผลลัพธ์ที่ครูสังเกตเห็น

ครูรู้สึกว่าเด็กตื่นตัวกล้าแสดงออกกล้าพูดมากขึ้น เป้าหมายของครูขอเพียงจากเด็กที่เคยก้มหน้าไม่กล้าสบตาครู ไม่กล้ายกมือถาม นักเรียนสามารถเงยหน้ายกมือถามครูได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว บางคนไม่เคยพูด เด็กก็ไปแบ่งงานกันเอง 


เด็กแต่ละคนความสามารถไม่เหมือนกัน ทำอาหารบางคนปรุง บางคนเตรียม ล้าง เห็นตอนเค้าทำงานร่วมกัน ครูคิดว่าเด็กน่าจะชอบทำกิจกรรมแบบนี้ เพราะเค้ามักชวนว่าเราไปทำนั่น ทำนี่ดีไหม แล้วมานำเสนอครู


เด็กสามารถที่จะได้พัฒนาในทุกมิติ การลงชุมชนทำให้เด็กได้ฝึกการวางแผน การสื่อสาร ทักษะการแก้ปัญหา งานแต่ละชิ้นกว่าจะสำเร็จมา เด็กได้ตกผลึกความคิดได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเด็กเอง 


ความประทับใจของครู

ครูชอบสอนผ่านกิจกรรมมีความสุขสนุกไปกับเด็ก ๆ เรียนในห้องเรียนบางทีมีแผนอยู่แล้ว แต่เด็กโพล่งคำถามขึ้นมาเราก็เปลี่ยนแผนที่จะสอน เราสอนความเป็นคนให้เขาด้วย จะสอนอย่างไรให้เขาเอาตัวรอดในสังคมได้ รู้การแก้ปัญหาได้ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด แก้ปัญหาตัวเองได้ เราก็ภูมิใจแล้ว เพราะสุดท้ายเราก็ต้องป้อนเด็กเหล่านี้สู่สังคม สู่ตลาดแรงงาน ทำอย่างไรไม่ให้เค้าเป็นปัญหา


ถ้าเด็ก ๆ เค้าใส่ใจรักตัวเอง ตำราก็เป็นแค่สื่อหนึ่ง แต่เราทำอย่างไรให้เด็กรักตัวเอง อย่างเด็กที่ครูคนอื่นว่าเกเรไม่เรียน พอมาทำอาหาร เค้าทำเองได้เลยไม่ต้องพูดบอกเลย

วิทยาศาสตร์DOE50ไอเดียแมวมีชุมชนวัฒนธรรมท้องถิ่นประถมกิจกรรมเสริมการงานอาชีพเกมและกิจกรรมผู้เรียนรู้ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมพลเมืองที่เข้มแข็งทักษะการสื่อสารทักษะความคิดสร้างสรรค์ทักษะการตระหนักรู้ในตัวเองStarfishบูรณาการ

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

9
ได้แรงบันดาลใจ
5
ลงไอเดียอีกน้า~
แบ่งปันโดย
ครูคัต
ครูนอกห้องนักเรียนนอกกรอบ

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!

ไอเดียน่าอ่านต่อ