icon
giftClose
profile

ขุดไป เรียนไป แบบนี้ก็ได้เหรอ

27121
ภาพประกอบไอเดีย ขุดไป เรียนไป แบบนี้ก็ได้เหรอ

คาบเรียนที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ ผ่านความสงสัย ใคร่รู้ จากการลองเป็นนักโบราณคดี



“เราจะขุดยังไง เราจะขุดที่ไหน เราจะใช้อะไรขุดดีครู !?!”

คำถามของนักเรียนที่พรั่งพรูมาอย่างตื่นเต้น 

เมื่อรู้ว่าในดินที่โรงเรียนมีอะไรซ่อนอยู่



เรื่องมีอยู่ว่า เด็กชั้น ป.5 คนหนึ่งตั้งคำถามว่า ไม่อยากเรียนหนังสือในห้องแล้ว

ทำไมเราไม่ออกไปทำงาน แล้วได้เรียนหลาย ๆ วิชา 


ด้วยความเคยเป็นนักโบราณคดีมาก่อน

เราเลยเกิดไอเดีย เพื่อสนองความอยากรู้ของเด็ก ๆ 

โดยจะให้ออกไปขุดดินดีกว่า เพราะใต้ดิน มีอะไรมากมายให้เด็กเรียน


“ดีค่ะครู...แม่ชอบว่าหนูทำอะไรไม่เป็นเลย 

หนูจะทำให้ทุกคนเห็น” นักเรียนหญิงคนหนึ่งพูดขึ้น



หลังจากนั้นเราชวนครูทุกสาระมาคุยกัน..และแล้วแผนปฏิบัติการเงียบ ๆ เพื่อเปิดหน้าดิน หาพื้นที่เรียนรู้ใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นในโรงเรียนต้นกล้า 


สรุปได้ว่าเราจะเอาหลักฐานทางโบราณคดีไปฝัง

และจะให้เด็กขุด โดยไม่บอกให้เด็กรู้


ครูคณิตวางแผนเพื่อให้เด็กวางผังหลุม วัดขนาด หาตำแหน่งทิศ พร้อมเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ตลับเมตร เข็มทิศ อีกทั้งครูต้องวางแผนซ่อนหลักฐานไว้ เพื่อให้ค้นหาซึ่ง เด็กจะต้องระบุตำแหน่งของหลักฐานได้ด้วยคณิตศาสตร์


ครูศิลปะ เตรียมเด็กป.5 ปั้นหม้อจากดินเหนียว นำเด็กป.4 เรียนรู้ลวดลายต่าง ๆ บนภาชนะดินเผาบ้านเชียง เพื่อจะวาดลวดลาย

หลังจากพี่ ๆ ป. 5 ป. ป.6 ขุดพบแล้ว 


ครูภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เตรียมชวนนักเรียนค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งอังกฤษและไทย 

เพื่อนำเสนอเรื่องราวในขั้นการสรุป


การเรียนรู้ Banchiang Module นี้ จึงบูรณาการหลาหลายวิชา 

และได้เรียนตั้งแต่ชั้นป. 4 - ป. 6


เมื่อแผนการเรียบร้อย พวกเราช่วยกันหาของ

ที่มีความใกล้เคียงกับยุคสมัยบ้านเชียง

ขุดหลุมลึกกว่า 1 เมตร ในยามที่เด็กไม่เห็น

แล้วต้องกลบให้เนียนที่สุด ทิ้งไว้ประมาณ 10 วัน 


พอถึงคาบที่ต้องสอนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ 

เราเอาภาพงานโบราณคดีทั้งในต่างประเทศ 

และของไทยมาให้เด็ก ๆ ดู ชวนคิด ชวนคุย 

แล้วพาออกไปเดินสำรวจรอบ ๆ โรงเรียน


“เค้าไปหาหลักฐานจากไหนหรอ”

“เค้าขุด แล้วจะไม่พังหรอ”

“อยากขุดมากเลยค่ะ ต้องขุดเร็วแค่ไหน”

เด็ก ๆ อยากจะออกจากห้องเรียนลูกเดียวเลย

เรากระตุ้นการเรียนรู้เด็กสำเร็จละ..!


เด็กป.5 ป. 6 ลงมือขุด 6 วันตลอดทั้งบ่าย สัปดาห์ละ 2 วัน

พอกินข้าวเสร็จปุ๊บ รีบใส่รองเท้าออกไปขุดกันทันที

เด็ก ๆ ได้ลองแบ่งหน้าที่กันขุด เป็น Supervisor Discoverer และ Recorder


เด็กก็มีความสุขกับการลงมือทำ

ค่อย ๆ ใช้เกรียงเซาะดินไปเรื่อย ๆ ดินหนักก็ต้องขุด ก็ต้องขน

ซึ่งต้องใช้ความอดทน พยายามมาก หลุมขุดค้นทางโบราณคดีต้องสะอาด แต่งผนังหลุมตรง สวยงาม สิ่งของที่ขุดพบทั้งลูกปัด เศษภาชนะดินเผา ต้องล้าง ตาก บันทึก และเก็บทั้งหมด


วันที่ 1 ไม่เจอ วันที่ 2 ก็ไม่เจอ แต่ทุกคนยังไม่ท้อ

แม้บางวันฝนตกเด็กๆก็ไม่ยอมหยุด 

“ครูครับ ลงมือแล้ว ไม่เจอ เราไม่หยุดครับ ” นักเรียนชายคนหนึ่งพูดขึ้น

เข้าบ่ายแก่ๆ ของการขุดวันที่ 3 

“ เราเจอแล้วครู..! ” เสียงหนึ่งดังขึ้น เท่านั่นแหละ เสียงเฮ ! ก็ลั่นหลุม

“ อันนี้เหมือนของบ้านเชียง ที่ครูให้ดูเลย ! ”

 เด็กตื่นเต้นกันมาก 


ขุดไป เรียนไป แบบนี้ก็ได้เหรอ




เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ขั้นตอนงานโบราณคดี เรียนรู้การแต่งโครงกระดูก ภาชนะดินเผา และอาวุธโบราณ ในหลุมขุดค้น เช่นใช้ลูกยางเป่าลม ใช้แปรงปัด ใช้เครื่องมือแกะสลัก ...ทำงานอย่างช้าและละเอียดมาก ๆ 

“พวกเราเป็นนักโบราณคดีแล้วเหรอนี่.. เหมือนงานของหมอเลยค่ะ ! ” นักเรียนหญิงคนหนึ่งพูดขึ้น

เด็กอีกคนวาดรูป วัดระดับความลึกจากขอบหลุม

Drawing หลักฐาน ค้นคว้าข้อมูล เพื่อนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ

เด็กทำได้ดีเกินที่ครูทุกคนคิดมาก ๆ

มันเรียนไปไกลเกินกว่าที่เราจะสอนไปอีก




เด็ก ๆ เรียนรู้ และฝึกใช้งานตลับเมตร ลูกดิ่ง ลูกน้ำ รวมทั้งฝ่าย Record ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเขียนอีก...ดูแล้วทุกเรื่องมันแสนจะตื่นเต้น...สับสน...พื้นที่ในหลุมและ บนหลุมวันนั้นจึงเต็มไปด้วยคำถามมากมายของเด็ก ๆ ...อยากรู้ อยากลอง ไม่มีที่สิ้นสุดจริง ๆ



หลังจากนั้นเด็กเล่าให้ฟังว่าเวลา

ออกไปท่องเที่ยวเค้าค้นคว้ามากขึ้น

เขากระหายที่อยากจะเรียนรู้ 

ทำไม เพราะอะไร ทำไมชั้นดินที่แตกต่างกัน 

สามารถเป็นยุคสมัยที่แตกต่างกันของมนุษย์ได้


ผมค้นพบว่าสอนแบบนี้ไม่ยากอย่างที่คิดเลย

และเห็นชัดว่า โลกการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะเรื่องใหม่ ๆ ที่ท้าทาย แต่จะยิ่งมีความสุข และสนุกมาก หรือได้เสริมสร้างจินตนาการด้วยแล้ว พื้นที่การเรียนรู้นั้น ๆ เด็ก ๆ ต้องได้ลงมือทำ ได้คิด ได้วางแผน ได้ผ่านอุปสรรคของการทำงาน รวมทั้งได้เรียนรู้ถูกผิดก็จะยิ่งดีมาก ๆ


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(6)
เก็บไว้อ่าน
(4)