“ครู หนู /ผมโง่วิชานี้”
เด็กยอมแพ้ให้กับวิชาภาษาอังกฤษไปแล้ว
เราสอนเด็กชั้นมัธยมต้น มันน่าเศร้าที่ปัญหาเชิงโครงสร้างระบบบางอย่าง ทำให้เด็กมีทักษะความรู้พื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์ ในขณะที่เขาต้องวิ่งไล่ตามหลักสูตรแกนกลางต่อไปให้ได้
เด็กเลยมักจะบอกเราว่าวิชาภาษาอังกฤษซับซ้อนเข้าใจยาก จำศัพท์ไม่ได้ และยอมแพ้ไป
เราเลยออกแบบห้องเรียนให้เด็ก “เรียนแบบข้ามขั้น วิ่งให้ทันหลักสูตรระดับชั้นตัวเอง” คือ ไม่ต้องเน้นแปลศัพท์ทีละคำ แต่สอนให้สามารถเข้าใจหลักไวยากรณ์ ทำแบบฝึกหัดเป็น
ประโยคยาว ๆ ได้ จนเขาประหลาดใจในตัวเอง แล้วค่อย ๆ เปิดใจให้วิชานี้ในที่สุด
อย่างเมื่อเราต้องสอนหลักการเติม s, es
จับคู่
เราเริ่มจากให้กระดาษคำศัพท์เด็กคนละ 1 แผ่น
แล้วให้เค้าหาเพื่อนซึ่งได้รับคำศัพท์ที่เป็นคู่ของเค้าให้ได้
เช่น drink - drinks, catch - catches
เมื่อจับคู่ได้แล้ว ลองถามเค้าว่า “สองคำนั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?”
เมื่อเค้าตอบได้ว่า ต่างที่มี s/es เพิ่มเข้ามา
ไขความลับ
เราก็ให้เขารวบรวมทั้งหมดมาแบ่งเป็นสองแบบ
แบบที่เติม s และ es แล้วลองถามต่อว่า
“คำที่ลงท้ายด้วยตัวไหน เติม s/es ?”
เมื่อเค้าตอบว่า “คำที่ลงท้ายด้วย o, s, ch, x, z เติม es”
ก็ถามต่อว่าคิดว่า “เพราะอะไร?”
ตัวอย่างบทสนทนาที่เกิดในห้องเรียนของเรา
“ทำไมไมต้องเติม es ด้วยนะ”
“ทำไมไม่เติม s ทุกคำไปเลย”
“ถ้าเติม s ทุกคำ คำว่า glass ก็เป็น glasss s สามตัวเลยนะ”
ถ้าเขาตอบไม่ได้ ก็ลองให้เค้าคิดแบบย้อนกลับ โดยเอาคำที่ลงท้ายด้วย o, s, ch, x, z ไปเติม s แทน แล้วลองอ่านดู
จนสุดท้าย นำมาสู่บทสรุปร่วมกันที่ว่า...
“คำที่ลงท้ายด้วยเสียง ช ฉ ซ ส.. อยู่แล้ว เติมเสียง ซ ส เข้าไป มันอ่านไม่ได้ จึงต้องเติม es ให้สามารถออกเสียงพยางค์ถัดไปได้” นั่นเอง
ซึ่งตลกมากตอนที่เค้าพยายามออกเสียง watchs washs
พอรู้ว่ามันออกเสียงไม่ได้ เด็ก ๆ ก็ขำกัน
Tip : ครูต้อง เชื่อใจ ใจเย็น ค่อย ๆ ตั้งคำถาม และรับฟังอย่างตั้งใจ รอให้เค้าพูดออกมาเองให้ได้ ในตอนนั้นเค้าจึงจะรู้สึกว่ามันเป็นคำตอบที่เค้าหามาได้ด้วยตัวเอง
ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน
นักเรียนสะท้อนว่า เขารู้สึกสนุกที่ได้ลองคิดเอง เริ่มเข้าใจวิชาขึ้นมาจริง ๆ วิชานี้ไม่ยากเกินความสามารถของเขา และเขาไม่จำเป็นต้องจำทฤษฎีหลาย ๆ ข้อ ลดความสับสนในการใช้งาน
ก่อนจะมาเป็นคาบนี้ (ก่อนจะเป็น Teacher)
ตอนเราออกแบบการสอน เราตั้งคำถามย้อนกลับ เพื่อไขรหัสลับทฤษฎีก่อน
แม้แต่เราเองที่เคยเรียนเรื่อง s/es มา ก็เรียนแบบท่องจำมา
เราก็เลยมาตั้งคำถามกับตัวเองเพื่อตอบให้ได้ว่า
“เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น ?”
เวลาเด็กสงสัย เค้าจะถามไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้คำตอบที่เป็น
“รากของสาเหตุ (root cause)”
เช่น
“กบเอยทำไมจึงร้อง จำเป็นต้องร้องเพราะว่า ท้องมันปวด
ท้องเอยทำไมจึงปวด จำเป็นต้องปวดเพราะว่า ข้าวมันดิบ
ข้าวเอยทำไมจึงดิบ จำเป็นต้องดิบเพราะว่า ฟืนมันเปียก
ฟืนเอยทำไมจึงเปียก จำเป็นต้องเปียกเพราะว่า ฝนมันตก
ฝนเอยทำไมจึงตก จำเป็นต้องตกเพราะ กบมันร้อง”
ถ้าเราตอบด้วยประโยคเหล่านี้ สุดท้ายมันก็ไม่ต่างจากการตอบเด็กในทุกประเด็นว่า
“ก็เค้าทำกันมาแบบนี้ / ก็เขาบอกกันมาแบบนี้”
ทั้งที่จริงแล้ว กบมันร้องช่วงก่อนฝนตก เพราะ กบสัมผัสได้ถึงความชื้นในอากาศที่มีสูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นช่วงเวลาดี ที่เหมาะสำหรับการออกหาอาหาร นอกจากนี้กบยังส่งเสียงร้องเพื่อบ่งบอกความเป็นพวกพ้อง และเพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเมียเมื่อต้องการผสมพันธุ์
ดังนั้น ตัวครูเองก็ควรตั้งคำถามกับตัวเองก่อน เพื่อจะได้หา root cause ของทฤษฎีให้ได้
ก่อนที่จะออกแบบการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก ๆ ต่อไป
ระหว่างคาบ (From Teacher to Facilitator)
“สร้างบรรยากาศให้นักเรียนรู้สึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้” (Building ownership)
ให้นักเรียนรู้สึกกล้าลองผิดลองถูก กล้าถามตอบ ควบคู่กับกิจกรรม/แบบฝึกหัดที่เอื้ออำนวยต่อการคิดวิเคราะห์ของเด็ก ให้เด็กดู/อ่านแล้วสามารถเชื่อมโยง
จนสรุปความคิดนั้น ๆ ออกมาได้ด้วยตนเอง
เราเชื่อว่า...
“การตั้งคำถาม คือประตูสู่การเรียนรู้ ถ้าไม่ชวนเด็กตั้งคำถาม เด็กก็ไม่อยากรู้ เมื่อไม่อยากรู้ก็ไม่อยากเรียน
กลับกัน ถ้าเรากระตุ้นให้เด็กเกิดคำถาม เขาก็จะเริ่มอยากรู้คำตอบ ยิ่งถ้าเราทำให้เขาตอบคำถามนั้นได้ เขาก็จะตกหลุมรักการเรียนรู้นั้น”
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!