inskru
gift-close
insKru Selected

ระบายความรู้สึก

22
5
ภาพประกอบไอเดีย ระบายความรู้สึก

ช่วยให้เด็ก ๆ ได้สำรวจอารมณ์และประเมินตัวเอง ผ่านการเล่นกับสี เพื่อรับรู้และเท่าทันความคิดและความรู้สึกของตนเอง



"ครูรู้มั้ย ไม่เคยมีครูคนไหนถามว่า... ตอนนี้ผมรู้สึกยังไง"


สำหรับเรา ประโยคนี้ทำให้ข้างในเราสั่นสะเทือนมาก


เราถูกสอนให้เก็บความรู้สึกมากกว่าแสดงความรู้สึก

ไม่แปลกเลยที่เวลาเราถามเด็ก ๆ ว่าเค้ารู้สึกยังไงบ้างตอนนี้ เค้ามักบอกว่า…


"ผมไม่รู้ว่าผมรู้สึกยังไง"


หรือเค้าไม่กล้าจะรู้สึก ?


สัปดาห์ที่แล้วเราชวนน้อง ๆ ประถมมา "ระบายความรู้สึก" กัน


เป้าหมายคือให้เด็ก ๆ เค้ารับรู้และเท่าทันความคิดความรู้สึกตนเอง รู้สึกได้แล้วเข้าใจความต้องการตัวเอง



การ์ดความรู้สึก



เรามีการ์ดความรู้สึกที่ในแต่ละใบ จะมีคำที่สะท้อนถึงความรู้สึกต่างๆ ที่เป็นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 


ให้นักเรียนสุ่มหยิบการ์ดความรู้สึกคนละใบ และชวนคุยว่าเรา "เคยรู้สึก" แบบนี้บ้างไหม

เช่น ความเครียด กดดัน ดีใจ หรือ ประทับใจ


ชวนให้นักเรียนนึกถึงเหตุการณ์ ที่ทำให้เค้ารู้สึกอย่างนั้น เช่น เมื่อไหร่รู้สึกเครียด เด็กตอบว่า เวลาที่ถูกดุ พ่อแม่เสียงดังใส่กัน และเขียนเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้


ระบายสีความรู้สึก



เลือก 1-2 สีแทนความรู้สึกนั้นของเรา และระบายสีสื่อความรู้สึกนั้น เป็นการใช้การระบาย ไม่ได้ทำออกมาเป็นภาพ 


เป็นการระบายการนึกคิด เป็นการขมวดอารมณ์เป็นสี

เช่น ถ้าประทับใจจะเป็นสีประมานไหน เด็ก ๆ ต้องตัดสินใจและชัดกับอารมณ์นั้น

จากนั้นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันกับเพื่อน ๆ 


การ์ดความต้องการ





พร้อมกับการ์ด “ความรู้สึก” นั้น ครูก็มีการ์ด “ความต้องการ” ด้วย


ให้นักเรียนเลือกหยิบการ์ดความต้องการด้วยตัวเอง เพื่อให้นักเรียนได้สะท้อนและคิดถึงวิธีการจัดการกับความรู้สึกที่มี


เช่น เลือกว่าเวลาเครียด ต้องการอะไร เช่น ต้องการการเป็นส่วนหนึ่ง หรือ ต้องการคนรับฟัง นักเรียนสามารถหยิบได้มากกว่าหนึ่งอัน


  1. นักเรียนแชร์ให้เพื่อน ๆ ฟัง ว่าหยิบการ์ดอะไร


เอาการ์ดสีที่เราระบายมาวางชื่นชมร่วมกัน

พอชื่นชมผลงานร่วมกัน เขาจะได้เห็นความงามในความแตกต่าง

ไม่มีใครเหมือนกันเลย เป็นการสะท้อนว่าความต่างเป็นเรื่องปกติ และให้โอกาสได้รับฟังเพื่อน ๆ


เราอยากให้นักเรียนเห็นว่าในห้อง มีคนไม่เหมือนกันอยู่ด้วยกัน แต่เราสามารถพูดคุยกันได้เสมอ


ครูประทับใจที่มีการเอาโพสอิทไปเขียนชื่นชมให้กำลังใจ ขอบคุณ หรือ แนะนำ


มาสรุปร่วมกันว่า

"การรับรู้ความรู้สึกตัวเอง และบอกความต้องการได้สำคัญยังไง"


จากกิจกรรมนี้ .. เด็ก ๆ ได้..


  • คลังคำความรู้สึกช่วยให้เด็กได้ค่​อย ๆ ทบทวนตัวเองผ่านคำได้
  • ได้ระบายสี ซึ่งเป็นการทำงานกับความรู้สึก (การวาดภาพทำงานกับความคิด)
  • เล่นแบบสบาย ๆ เด็ก ๆ บอกว่าเหมือนไม่ได้เรียนเลย
  • บางคนไม่เคยผสมสีเอง เลยตื่นเต้นกับการได้ค้นพบกว่าสีฝุ่นสีฟ้า เมื่อผสมกับแดงแล้ว กลายเป็นสีม่วงบนมือเขา


เราได้เรียนรู้ว่า


บางทีเราจะมองบทเรียนเรื่องสีและความรู้สึก ว่ามันได้ถูกนิยมไว้แล้ว

เราควรลืมนิยามความหมายของสีที่ร่ำเรียนมาไปก่อน

เพราะ "ความรู้สึกต่อสี" เป็นปัจเจก

ความหมายของสีของแต่ละคน เป็นของตัวเอง

เราไม่ควรจำกัดว่าแดงคือร้อนแล้วต้องเป็นความเครียด 


เด็ก ๆ นิยามสีได้มีชีวิตชีวามาก ถ้าเราวางใจเค้า

อย่าประมาท ป.4 เพราะเขาก็รับรู้ความรู้สึกแบบนี้กับตัวเองได้แล้วนะ


จากกิจกรรมนี้เราเห็นความแตกต่างที่หลากหลายของเด็กแต่ละคน 

เรามองว่ามันคือความงาม 

เพราะมันคงน่าเบื่อแย่ ถ้าทุกคนเหมือนกันไปหมด



สำหรับครูอย่างเราเด็ก ๆ ทำให้เราอยากเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นคนที่เข้าใจเค้า เป็นคนที่รับฟังอย่างไม่ตัดสิน เป็นพื้นที่ปลอดภัยมากพอ


และนี่คือศิลปะด้านในเวอร์ชั่นครูผักกาดเอง



Facebook: https://www.facebook.com/pakkoood/posts/10216644533136926

ศิลปะดนตรีนาฏศิลป์DOE50ไอเดียแมวมีผู้เรียนรู้ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมทักษะการตระหนักรู้ในตัวเองทักษะการสื่อสารพลเมืองที่เข้มแข็งสีความรู้สึกก่อการครู

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

22
ได้แรงบันดาลใจ
5
ลงไอเดียอีกน้า~
แบ่งปันโดย
ครูผักกาด

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!

ไอเดียน่าอ่านต่อ