icon
giftClose
profile

เรียนรู้ไม่โดดเดี่ยว : Homeschool

15211
ภาพประกอบไอเดีย เรียนรู้ไม่โดดเดี่ยว : Homeschool

เมื่อห้องเรียนไม่เหมาะกับลูก





“ เราไม่ได้ให้ความรู้เค้าได้มากพอเท่ากับการติดตั้งความใฝ่รู้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เขากล้าตั้งคำถามและกล้าแสวงหาความรู้ ”


ช่วง อ.1 ที่เข้า รร.ใกล้บ้าน เรียนไปเดือนหนึ่ง เค้าถามว่า 

“ ทำไมทุกวิชาต้องใช้สีไม้ ทั้งวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ศิลปะ ” 

“ ทำไมทุกวันอังคารต้องว่ายน้ำ แล้วถ้ามีเพื่อนเป็นหวัดเพียงคนเดียว เราจะไม่ได้ว่ายด้วย ”

“ ทำไมห้องเรียนทั้งหนาวและเหงามาก ” 

เมื่อเราได้ยิน ได้ฟังอย่างตั้งใจจากลูก จึงคิดว่าแนวทางนี้ไม่น่าเหมาะกับลูกของเรา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการศึกษาแบบนี้ไม่เหมาะกับคนทั้งโลก แต่ว่าอาจจะไม่เหมาะกับเขา จึงชวนกันหาแนวทางที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเขา โดยมองว่าการเรียนรู้น่าจะต้องเป็นสุข ผ่อนคลาย มีบรรยาการที่เป็นมิตร มีมิติที่หลากหลาย


ใน Homeschool แม่ = ผู้อำนวยการเรียนรู้ 


เราได้เรียนรู้จากการทำงานที่หลากหลาย การเป็นอาสาสมัคร ทำงานกับผู้คนในทุกภูมิภาค ได้พบความหมายใหม่ในการจัดการเรียนรู้ ทั้งการทำงานกับโรงเล่นเรียนรู้ จ.เชียงราย และการทำกระบวนการกับมะขามป้อม ทำให้เราพบว่าการเรียนรู้จะต้องแลกเปลี่ยนกันได้ เปิดพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยน สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัย วางใจ พอมีลูกแล้วเราตั้งใจทำ homeschool สำหรับเราคิดว่าคำว่าครูมีนัยยะของผู้สอน ผู้รู้ และผู้รับ เราตั้งคำถามว่าจะทำยังไงในฐานะแม่และครูด้วย ทำให้เกิดความเท่ากัน เปิดพื้นที่ของกันและกัน สร้างให้เกิดพื้นที่แห่งการแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยน ค้นพบความหมาย และยกระดับสิ่งที่เรียนรู้ร่วมกัน จึงวางบทบาทแม่ ให้เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ อำนวยการให้เกิดความอยากรู้ ใฝ่รู้ และค้นหาคำตอบไปด้วยกัน เป็นเพื่อนและเท่ากัน 


ผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม พลเมืองที่เข้มแข็ง


คิดว่า Homeschool ตรงกับทุกข้อ (DOE) ทั้ง 3 หัวข้อ เป็นแก่นที่เดินทางไปด้วยกันในการเรียนรู้ ไปอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ เมื่อเราอำนวยการให้เกิดสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ ทำให้เด็ก ๆ และผู้เรียนได้ค้นพบตัวเอง ได้รู้สึก เท่าทันอารมณ์ จัดการตัวเองได้ มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าออกจากกรอบ กล้าสร้างของใหม่ กล้าค้นหานวัตกรรมที่อาจไม่ใช่เฉพาะแค่ product แต่เป็นแนวคิดที่เค้ากล้าเผชิญหน้า ต่อรอง อยากรู้ อยากเห็น อยากเล่น อยากเข้าใจ

การที่เขาจะเติบโตเป็น Active Citizen ได้ ครอบครัวก็ต้องสร้างแวดล้อมให้เกิดสำนึกร่วม เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ออกแบบบรรยากาศการอยู่ร่วมกัน สร้างอำนาจร่วมในบ้าน เคารพกันและกันทำจนเป็นวิถี สิ่งเหล่านี้ทำสม่ำเสมอตั้งแต่วัยเยาว์ เป็นเรื่องสำนึกขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะตอบโจทย์ความเป็นพลเมือง 

กระบวนการอำนวยความรู้


  • Scan สังเกตเด็กเพื่อให้เห็นพื้นฐานอารมณ์ ความสนใจ 


ชวนให้เขารู้จักอารมณ์ ความรู้สึกทั้งเชิงบวกและเชิงลบ รับรู้การมีอยู่ของสภาวะนั้น ผู้อำนวยการเรียนรู้มองเห็นว่าเขาสนใจการเรียนรู้แบบไหนในปัจจุบัน โดยไม่ยึดติดว่าเขาจะสนใจสิ่งนั้นเสมอไป เพราะเด็กอาจมีความสนใจเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ ตัวเรายอมรับความเปลี่ยนแปลง สร้างบรรยากาศให้เขาได้ทำ ท้าทายแล้วค่อย ๆ พาเค้าไปพัฒนาสู่ศักยภาพที่เป็น


  • คอย Support สิ่งที่เค้าอยากรู้ และอย่าปฏิเสธเมื่อต้องมีส่วนร่วม


ใช้การเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ คือคนที่คอย support สิ่งที่เค้าอยากรู้ อยากเล่น อยากเห็น อยากลอง ให้ได้ลองทำทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไข เช่น เมื่อสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ก็ชวนกันหาหนังสือ หรือพาเขาไปในร้านหนังสือ ห้องสมุด ให้ได้ตามหาสิ่งที่อยากรู้ด้วยตัวเอง การเปิดกว้างจะทำให้เขาชอบที่จะใฝ่รู้ รักการอ่าน เรียนรู้จากการอ่านหนังสือ หรือทำความเข้าใจสังคมผ่านการเล่นเกม เราเพียงเอื้ออำนวยให้เกิดการค้นคว้าเรียนรู้

อย่าปฏิเสธเมื่อเค้าชวนให้มีส่วนร่วม เล่าเรื่องราวให้ฟัง แนะนำหนังให้ดู เพราะเค้าอยากให้เราอยู่ในโลกของเค้าด้วย เมื่อเป็นหนึ่งเดียวกัน ทีมเดียวกัน เขารับรู้ว่าการเรียนรู้นี้กว้างและเป็นพื้นที่ปลอดภัย วางใจ เราพร้อมรับฟังทุกเรื่อง การเป็นทีมเดียวกันเป็นสิ่งที่ทำให้พื้นฐานความผูกพันของเราแน่นแฟ้น เมื่อพื้นฐานแน่นแล้วการเรียนรู้จะเป็นไปเองอย่างธรรมชาติและอิสระ 


  • เรียนรู้ผ่านประสบการณ์


เปิดโอกาสให้เค้าได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกตัวเอง เข้าใจบทเรียน ได้ทดลองทำ เช่น จากการเดินทางไปในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ไปพบเจอกับผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย 


  • ใช้ทั้งหมู่บ้านสอนและช่วยหาคำตอบ


เปิดพื้นที่ให้เค้าได้พบปะพูดคุยกับผู้คน เช่น พาไปเจอกับคนรู้จักในหลากหลายวงการ อาชีพ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เค้าสนใจ หรือมีคำถาม การได้พูดคุยจะช่วยยกระดับความคิดตัวเองได้เปิดหูเปิดตา


  • ให้ถอดบทเรียนด้วยตัวเอง 


ส่งเสริมให้เด็กได้สกัดข้อมูลที่เรียนรู้มาถอดบทเรียนด้วยตัวเอง เช่น เมื่ออ่านหนังสือหรือดูหนัง ให้มีการเขียนบันทึกรีวิวด้วยตัวเอง มาเล่าให้ฟัง หรือใช้การตั้งคำถามจากสถานการณ์หรือปัญหาที่ลูกเจอ เช่น เราสามารถช่วยอะไรเรื่องนี้ได้บ้างในเชิงสันติวิธี ?




แชร์บทเรียนจาก Homeschool


เด็กถอดบทเรียนของตัวเอง

มีช่วงนึงเค้าชอบอ่านสามก๊ก เราจะพาเขาไปพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวพันกับตัวละคร เช่น ศาลเจ้าในเยาวราช พาไปหารุ่นพี่ที่สำนักพิมพ์วงกลม ป้าที่สำนักพิมพ์ก็พาเขาไปพบกับผู้รู้อีกต่อเพื่อให้เขาได้คุยต่อยอดเรื่องสามก๊ก การเรียนรู้ไม่รู้จบเป็นส่วนที่ทำให้เค้าได้เขยิบจากการอยู่กับตัวเอง ไปพบ ไปฟังใครต่อใคร ทำให้ได้เปิดหูเปิดตาจากนั้นชวนให้ เค้ามาสกัดเป็นข้อมูลถอดบทเรียนตัวเอง ผ่านการเขียน ผ่านการเล่า ผ่านการวาดรูป ช่วงนั้นเขาสนุกกับการเล่าสามก๊กให้ทุกคนฟังและบันทึกว่าเขาเล่าจบภายในกี่นาที ท้าทายตัวเองให้เล่าอย่างสั้น กระชับ และเข้าใจ ซึ่งทุกวันนี้ยังรู้สึกขอบคุณผู้ใหญ่ทุกคนที่รับฟังและสนุกไปกับการเล่าของเขาในวัยนั้น


ความสนใจ ใฝ่รู้

เขาเป็นคนชอบฟังเพลง เวลาฟังเพลงเค้าจะอยากรู้ว่าเพลงนี้แต่งทำไม ใครแต่ง ยุคไหน ยุคนั้นเป็นอย่างไร ช่วงหนึ่งชอบเดอะบิทเทิล ก็แสวงหาว่าศิลปินเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร เติบโตมาอยากไร ทำไมถูกยิงเสียชีวิต สงสัยพฤติกรรมคนยิงจนไปซื้อหนังสือที่คนยิงอ่าน มาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ จากนั้นก็กลับมาเขียน เค้าเขียนทำคล้าย ๆ รายงานเรื่องนี้ทำ portfolio เขียนว่าตัวเองได้รู้อะไร เรียนรู้อะไร วิเคราะห์พฤติกรรมผู้คนที่เขาสนใจ เชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน 


อย่าปฏิเสธ 

เมื่อเค้าชวนให้ดูหรือทำอะไร เพราะเค้าอยากให้เราอยู่ในโลกของเค้า สร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้เค้าวางใจผูกพัน เป็นสิ่งที่ทำให้พื้นฐานแน่น พอพื้นฐานแน่นการเรียนรู้จะเป็นไปเองธรรมชาติ และอิสระ ตอบสนองผู้เรียน 


เรียนรู้ผ่านการพุดคุย

นอกจากการเขียนการรีวิว บทสนทนาเป็นการถอดบทเรียน ที่เรารู้สึกว่าว่าเค้ากำลังเติบโต กำลังเดินทางจากวันสู่กัน ไม่ว่าจะเป็นบทสนทนาว่าด้วยเรื่องชีวิต ความสัมพันธ์ ความเปราะบาง การอยากเข้าใจสภาวะที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ครอบครัว สังคม เรื่องเพศ ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ข่าว บทความ สถานการณ์ทางสังคม ทั้งหมดคือการเรียนรู้ไม่รู้จบ เราเพียงสนทนาโดยไม่ตัดสิน สั่งสอน เคารพในตัวเขา ภูมิรู้ของเขา และตั้งคำถามเพื่อยกระดับมุมมองให้เห็นปรากฏกาณ์นั้นให้ลึกและกว้างเพิ่มขึ้น ไม่เร่งร้อนที่จะทำให้เขาเข้าใจ และพร้อมจะสนทนาเรื่องเดิมเพื่อหาความหมายใหม่ต่อไป


บทเรียนจากผู้อำนวยการเรียนรู้ 


“ บนวิถีที่เราเลือกการเรียนรู้แบบนี้ เราอยู่กับปัจจุบัน เราตรวจสอบตัวเองว่าเรารู้สึกอย่างไร สุขทุกข์บ้างไหม ไม่กังวลกับอนาคต เพราะเราเห็นเส้นทาง เชื่อมั่นในเส้นทาง


ความเป็นเด็ก วัยรุ่น ไม่ควรรีบแสวงหาเรื่องอาชีพ แต่ควรติดตั้งคุณสมบัติที่มนุษย์ควรมี ทำให้เขารู้ว่าเขามีตัวตน มีคุณค่า มีความหมาย มีความรัก เข้าใจการอยู่ร่วมกัน รับฟังกันอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน


ประทับใจที่เค้ากล้า ใฝ่รู้ เด็ก ๆ สามารถยืนยันความรู้สึกตัวเองได้ กล้าตั้งคำถาม ตอนนี้อึดอัดไม่โอเค ตอนนี้ไม่อยากไปสิ่งนี้รู้สึกไม่ใช่ ”

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(7)
เก็บไว้อ่าน
(1)