“ทำไมจึงต้องตั้งชื่อหมู่บ้านเป็นชื่อนี้”
แว้บแรก !! จริง ๆ คือเกิดจากการออกเยี่ยมบ้านนักเรียน
เอะใจกับชื่อหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านที่พบเจอ
ก็เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ชื่อหมู่บ้านเหล่านี้มันมีที่มาของชื่อยังไงนะ
บ้านคลองปลาร้า บ้านมอมะรื่น บ้านคลองด้วน เป็นต้น
ก็เลยเอามาเปิดประเด็นกับนักเรียนในคาบเรียนว่า
เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมหมู่บ้านเราต้องตั้งชื่อแบบนี้ มันมีที่มายังไง
คำตอบคือ บางคนรู้ บางคนไม่รู้เลย จะดีกว่าไหม ถ้าทำให้เขารู้จักท้องถิ่นที่เขาอาศัยมากขึ้นผ่านการเรียนเนื้อหานี้ โดยมาจากความสนใจของตัวเขาเอง เราช่วยกระตุ้นด้วย
บริบทของเด็ก และ โรงเรียนตั้งอยู่บนฐานรากของความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วย อีกอย่างคือ เด็ก ๆ มักไม่ค่อยสนใจความเป็นท้องถิ่นที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของตนเองเท่าไหร่ จึงเป็นอีกบริบทหนึ่งที่เป็นที่มาของกิจกรรมนี้
(คาบที่ 1)
"บ้านฉัน...บ้านเธอ" หาทีม
เราให้นักเรียนเขียนบอก “ชื่อหมู่บ้าน” ที่ตนเองอาศัยอยู่
ลงในกระดาษ Post-it แล้วติดไว้บนหน้าผากตนเอง
จากนั้นให้ค้นหาสมาชิกในห้องที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันมารวมกลุ่มกัน และจับคู่กัน
ส่วนคนที่ไม่มีเพื่อนร่วมหมู่บ้านให้หาเพื่อนต่างหมู่บ้านมาเป็นคู่
เมื่อนักเรียนได้คู่แล้วให้ตกลงเลือกหมู่บ้านที่อยากจะศึกษา
โจทย์คือ
ศึกษาที่มาของชื่อหมู่บ้าน
(ที่มาของชื่อ ไม่ใช่ประวัติของหมู่บ้าน)
ผ่านการไปสัมภาษณ์คนในชุมชน
นักเรียนศึกษาวิธีการทางประวัติศาสตร์แต่ละขั้นตอน โดยครูช่วยอธิบายชี้แนะให้เห็นภาพ ว่าในแต่ละขั้นตอนของวิธีการทางประวัติศาสตร์นั้นต้องการอะไร และนักเรียนต้องทำอย่างไร
(เวลาว่างหลังเลิกเรียน)
ลงพื้นที่ เก็บข้อมูล
นักเรียนลงสัมภาษณ์เก็บรวบรวมข้อมูลในหมู่บ้านเป้าหมาย และดำเนินการประเมินค่าข้อมูล(ความน่าเชื่อถือ) วิเคราะห์ข้อมูล (จัดหมวดหมู่ข้อมูล ความเหมือน ความต่าง เพศ อายุ เป็นต้น)
(คาบที่ 2)
อินโฟกราฟฟิกทำมือ
ให้นักเรียนนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาเขียนลงในกระดาษ A4 ในลักษณะของอินโฟกราฟฟิกหน้าเดียว ซึ่งมี 5 ส่วน ตามประเด็นของวิธีการทางประวัติศาสตร์
เมื่อจบคาบครูนำผลงานลงออนไลน์ และให้นักเรียนได้ชื่นชมและเป็นการเผยแพร่ผลงานของนักเรียน
ดูผลงานนักเรียนเพิ่มเติมได้ที่... https://www.facebook.com/media/set/?vanity=SocialKruBusSo&set=a.201578014804713
หลังจบคาบนี้ . . .เราเห็นแววตาของนักเรียนในตอนที่ครูสอบถามว่า ชื่อหมู่บ้านของเธอ มีที่มาจากอะไร นักเรียนตอบได้อย่างมั่นใจ และดูตั้งใจตอบและเล่าที่มาของชื่อหมู่บ้านมาก ๆ
นักเรียนได้พูดคุยกันในครอบครัวมากยิ่งขึ้น พูดคุยกับผู้สูงอายุ ได้เข้าใจในอัตลักษณ์ความเป็นตัวตน และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่อาศัยอยู่
จากการสัมภาษณ์ การสอบถาม เก็บข้อมูล ทำเกิดทักษะการทำงานอย่างมีระบบ และทักษะการคิดตามวิธีการทางประวัติศาสตร์
ถึงแม้นักเรียนจะไม่เข้าใจจุดประสงค์ของงานในช่วงแรก แต่นักเรียนแสดงออกถึงความตั้งใจในการทำงานชิ้นนี้ ผ่านการสอบถาม ปรึกษาการทำงานเสมอ จนงานประสบความสำเร็จ และที่สำคัญงานชิ้นนี้ยังเป็นนวัตกรรมทางการเรียนที่ทำให้นักเรียน ผู้ปกครองได้เข้าใจสังคมที่ตนอาศัย และอัตลักษณ์ของหมู่บ้านของตนผ่านงานที่ชื่อว่า
"ชื่อนี้...มีที่มา"
เชื่อว่าการเรียนการสอน คือการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ทั้งเก่า ทั้งใหม่ไปด้วยกัน บางอย่างเรารู้เราบอกนักเรียน บางอย่างเราไม่รู้เราถามนักเรียนได้ เรียนรู้หาคำตอบด้วยกันได้ และที่สำคัญ การเรียนรู้สำหรับเรามันไม่มีผิด ไม่มีถูก บอกเสมอว่า ตอบมาได้เลย คาบครูไม่มีคำว่าผิด ไม่มีคำว่าถูก เราอยากเรียนรู้กันเหมือนเพื่อนกับเพื่อนด้วยกัน พูดคุย เคารพกันอย่างเหมาะสม
อยากให้เด็กที่เรียนกับเราไป เป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าทำ กล้าตั้งคำถาม มีความคิดสร้างสรรค์ เอาความเป็นศิลป์มาใส่ในความเป็นศาสตร์
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย