icon
giftClose
profile

ธามอสตัวร้าย กับการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อม

35234
ภาพประกอบไอเดีย  ธามอสตัวร้าย กับการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อม

สืบเสาะ ตามล่า วิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยเครื่องมือการสอนที่น่าสนใจ ในคาบเรียน สังคมศึกษา



"เราต้องการจะผลิตซ้ำวาทกรรมความคิด ของสิ่งแวดล้อมเพียงด้านเดียวให้นักเรียนจริงหรือ ?  ซึ่งคำตอบคือ ไม่"


การเรียนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเราจะคุ้นชินกับรูปแบบคำถาม คำตอบเดิม ๆ จากทั้งจากครูและนักเรียนว่าอย่าตัดต้นไม้ ต้องปลูกต้นไม้ ช่วยกันรณรงค์ต่าง ๆ  เป็นสิ่งที่ผู้สอนนั่งขบคิดว่า เราต้องการจะผลิตซ้ำวาทกรรมความคิดของสิ่งแวดล้อมเพียงด้านเดียว ให้นักเรียนจริงหรือ ?  ซึ่งคำตอบคือ ไม่ต้องการสอนแบบเดิม ทำให้เริ่มออกแบบการเรียนรู้โดยนำตัวละครจากภาพยนต์ยอดนิยม ถูกใจวัยรุ่น อย่าง Avengers เช่น ธานอส ฮีโร่ทีม Avenger มาเป็นตัวเร้าความสนใจและเป็นตัวดำเนินเรื่อง เพื่อให้นักเรียนเห็นว่าสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยง และมีผลกระทบกับมิติอื่นอีก รวมทั้งใช้เทคนิคหมวก 6 ใบ เป็นเครื่องมือในการช่วยกระตุ้นการคิดอย่างรอบด้านให้กับนักเรียน จนสุดท้ายสามารถเชื่อมโยงปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าเกิดจากอะไร ส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง และร่วมกันค้นหาทางออกร่วมกัน


เราได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ชั่วโมงการเรียนรู้ 



ชั่วโมงที่ 1 : สอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (5Es Instructional Model)

โดยใช้เทคนิคหมวก 6 ใบ (ปรับจากวง PLC พี่โอน พี่ส้ม พี่จู ทีมห้องเรียนบริหาร)



ขั้นที่ 1 กระตุ้นความสนใจ (Engage)


เราได้อธิบายกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคหมวก 6  ใบว่าหมวกแต่ละใบ  มีความหมายอย่างไร ผ่านภาพกรณีศึกษา


จากนั้นให้นักเรียนทำกิจกรรมภาพสื่อความหมาย โดยใช้เทคนิคหมวก 6 ใบ ซึ่งเรานำภาพวาดสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่อไปนี้


1) หมวก สีขาว คำถาม : จากภาพนักเรียนเห็นปัญหาเกี่ยวกับอะไร ?

2) หมวก สีแดง คำถาม : จากภาพนักเรียนรู้สึกอย่างไร ?

3) หมวก สีดำ คำถาม : จากภาพดังกล่าวส่งผลกระทบอะไรบ้าง ?

4) หมวก สีเหลือง คำถาม : จากภาพนักเรียนเห็นสิ่งดีหรือโอกาสอะไรบ้าง ?

5) หมวก สีเขียว คำถาม : นักเรียนเสนอวิธีการแก้ไขปัญหา 3 วิธี ?

6) หมวก สีน้ำเงิน คำถาม : ให้นักเรียนเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่นักเรียนสนใจมา 1 วิธี ?


ขั้นที่ 2 สำรวจค้นหา (Explore)


เราจัดกลุ่มนักเรียนจำนวน 10 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คน ให้นักเรียนออกไประดมความคิด ศึกษาภาพปัญหาตามมุมของห้องเรียน โดยให้ภาพกลุ่มละ 1 ปัญหาไม่ซ้ำกัน


ขั้นที่ 3 อธิบายความรู้ (Explain)


ให้สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน จากนั้นก็ให้ตัวแทนนักเรียนจากกลุ่มต่าง ๆ ออกมานำเสนอข้อมูลที่ได้จากการศึกษา ในเรื่องที่กลุ่มรับผิดชอบหน้าชั้นเรียน


ขั้นที่ 4 ขยายความเข้าใจ (Expand)


เราและนักเรียนร่วมกันตั้งคำถามและหาคำตอบ จากการนำเสนอข้อมูลหน้าชั้นเรียนของเพื่อน ในกลุ่มต่าง ๆ


ขั้นที่ 5 ตรวจสอบผล (Evaluate)

สุดท้ายเราและนักเรียนร่วมกันสรุปปัญหาสิ่งแวดล้อมว่ามีอะไรบ้าง


ชั่วโมงที่ 2 ภารกิจ ค้นหา ตามล่า หาฮีโร่พิชิตธามอส


มอบหมายภารกิจ

เราเริ่มต้นด้วยการมอบหมายให้นักเรียนเป็นทีมอเวนเจอร์ ช่วยกันทำ “ ภารกิจ ค้นหา ตามล่า หาฮีโร่พิชิตธามอส ” ซึ่งให้นักเรียนจะได้รับบัตรคำชื่อองค์กร หน่วยงาน และกฎหมาย คู่ล่ะ 1 ชิ้น 


เริ่มค้นหา (Search)

หลังจากนั้นให้นักเรียนลองทายหน่อยว่า ชื่อในบัตรคำแบบนี้ จะเกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากคาบที่แล้วอย่างไรบ้าง 

โดยให้นักเรียนแต่ล่ะคู่เริ่มค้นหา (search) โดยใช้เทคโนโลยีช่วยตอบประเด็นดังนี้

  • สิ่งที่ชื่อกฎหมาย / องค์กร / ชมรม นี้ทำคืออะไร
  • จัดกลุ่มอยู่ในประเภทใด
  • สิ่งที่ทำ / แก้ปัญหา / ป้องกันนี้ คืออะไร (สรุป 1 บรรทัด) ฝึกอ่านสรุปความ


ออกตามล่า (Match) 

ให้นักเรียนนำบัตรคำชื่อที่ได้ไปจับคู่ (ติดบนกระดาน) ให้สอดคล้องกับบัตรคำบนกระดาน ซึ่งบัตรคำบนกระดานคือสิ่งที่องค์กรได้ทำ / แก้ปัญหา / ป้องกัน โดยบัตรคำแยกเป็น 4 ประเภท


  • ข้อตกลง / ความร่วมมือ / กฎหมายระหว่างประเทศ

เช่น พิธีสารเกียวโต จับคู่กับ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

        อนุสัญญาเวียนนา จับคู่กับ ป้องกันชั้นโอโซนของโลก

        พิธีสารมอนทรีออล จับคู่กับ ลดและยกเลิกสาร CFC

        อนุสัญญาไซเตส จับคู่กับ ควบคุมการค้าสัตว์ป่าและพรรณพืชหายาก

        อนุสัญญาแรมซาร์ จับคู่กับ อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นต้น

  • ข้อตกลง / ความร่วมมือ / กฎหมายในประเทศ

เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมและะรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 จับคู่กับ ระบุหลัก PPP ผู้ใดก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ

        พ.ร.บ.ป่าไม้สงวนแห่งชาติ 2507 จับคู่กับ ป้องกันการตัดไม้ ทำลายป่า เป็ต้น

  • องค์กร / หน่วยงานในประเทศ

เช่น มูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร / สมาคมสร้างสรรค์ไทย / สมาคมหยาดฝน

  • องค์กร / หน่วยงานระหว่างประเทศ

เช่น องค์กรGreenpeace / WWF / GEF


สรุปผล ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปการเรียนรู้ว่า สิ่งที่นักเรียนตามหานั้น ทำหน้าที่อะไร แล้วช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไร



ชั่วโมงที่ 3 ใครคือฆาตกร


วิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อม

เราชวนนักเรียนวิเคราะห์ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม 1 ปัญหา ว่าส่งผลกระทบ / มีส่วนเกี่ยวข้องกับมิติอื่นอย่างไร ผ่านการเชื่อมโดยอาศัยเส้นหัวลูกศรและความหมายแบบ GAT เชื่อมโยง  (เส้นทำให้เกิด / เส้นยับยั้ง / ส่วนประกอบ)


จากนั้นแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 6 – 7 กลุ่มตามแต่ล่ะห้องเรียน 

แล้วแจกการ์ดปัญหาสิ่งแวดล้อมเน้นปัญหาหมอกควัน (สิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ สุขภาพ และอื่น ๆ ปรับจากไอเดียพี่พล พลเรียน) 


โดยแต่ล่ะกลุ่มจะได้ปัญหาเริ่มต้นไม่เหมือนกัน เช่น 

กลุ่ม 1 : คนเผาป่า 

กลุ่ม 2  : ปัญหาหมอกควัน

กลุ่ม 3 : ปัญหาไฟป่า

กลุ่ม 4 : โลกร้อน

กลุ่ม 5 : คนเผาป่า 

กลุ่ม 6 : ปัญหาสุขภาพ ปรับตามบริบท


เชื่อมโยง

เราให้นักเรียนลงมือปฎิบัติ กิจกรรม “เชื่อมโยง” โดยให้แต่ละกลุ่มเชื่อมโยงการ์ดปัญหาสิ่งแวดล้อม ใส่กระดาษบรูฟที่เราแจกให้ โดยเราลงไปให้คำแนะนำแต่ล่ะกลุ่มร่วมทั้งชวนคิดให้มองมิติที่กว้างขึ้น


จากนั้นเราจึงให้การ์ดป้องกัน (การ์ดสีฟ้า) กลุ่มล่ะ 6 ใบ โดยให้นักเรียนแต่ล่ะกลุ่มไปเขียนชื่อ องค์กร / กฎหมาย / มูลนิธิ ที่ติดอยู่บนกระดานหลังจากเรียนคาบที่แล้ว แล้วนำมาติดบนกระดาษบรูฟ แล้วโยงกับสิ่งที่การ์ดกฎหมาย / ชมรมต่างๆ ไปช่วยยับยั้ง


สุดท้ายให้นักเรียนนำเสนอให้ครูฟังว่า ปัญหาเหล่านี้ เชื่อมโยงแล้วส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอย่างไร ตอนท้ายคาบทีละกลุ่มย่อย เนื่องจากหมดเวลา


ปัญหา / จุดที่ต้องพัฒนา

เนื่องจากนักเรียนไม่คุ้นชินกับความหมายของเส้นที่เชื่อมโยง ทำให้เกิดความล่าช้าในการทำกิจกรรม

ข้อเสนอแนะ

การ์ดปัญหาสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้มี 36 ใบ ทำให้นักเรียนทำไม่ทันกับเวลาที่มี 1 คาบ อาจปรับให้สอดคล้องกับเวลา



"คำตอบไม่ได้มีแค่ถูกกับผิด"

ในถ้อยคำที่นักเรียนแสดงความคิดเห็นผ่านวิธีคิดที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการเตือนว่าอย่าตัดสินสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงการมอง การคิด ในมุมเดียว ควรมองให้รอบด้าน จะเห็นว่าคำตอบของนักเรียนเป็นคำตอบที่มีคุณค่า และเป็นพลังในการเรียนรู้ ครูได้ก้าวข้ามรูปแบบคำตอบที่มีเพียงถูกกับผิด



รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(22)
เก็บไว้อ่าน
(15)