icon
giftClose
profile

เพศ และ การจัดอันดับ

53452
ภาพประกอบไอเดีย เพศ และ การจัดอันดับ

คาบแนะแนวที่พานักเรียนเขย่าความเชื่อเรื่องเพศลักษณ์ อัตลักษณ์ทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศสภาวะ ทัศนคติต่อเพศต่าง ๆ





“ หากนักเรียนมีลูก นักเรียนอยากได้ลูกชายหรือลูกสาว ”

“ อยากได้ลูกชาย เพื่อสืบสกุลค่ะ ”

“ ถ้าพ่อแม่เราให้เหตุผลแบบนี้ตอนที่อยากให้เราเกิดล่ะ ? ”

…..



ในฐานะครูที่เป็นคนในชุมชนที่อยากแก้ปัญหาชุมชน เราพบว่าในชุมชนเจอปัญหาด้านเพศ และการขาดความเข้าใจด้านจิตใจ ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูการสนับสนุนโอกาสของเด็ก ที่จะเลือกทำตามความชอบหรือเพื่อเลือกศึกษาต่อ ในฐานะครูแนะแนวเลยอยากปูพื้นฐานด้านจิตใจให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กแข็งแรงจากภายใน เกิดความพร้อมในการปรับตัวต่อสภาพปัญหาต่าง ๆ และ ตั้งรับกับปัญหาด้านเพศ 


หลังจากการปฐมนิเทศ เราได้เปิดการสอนของเทอมนี้ด้วยประเด็น HUMAN SEXUALITY เขย่าความเชื่อเรื่องเพศลักษณ์ อัตลักษณ์ทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศสภาวะ ทัศนคติ อารมณ์ทางเพศ และการเจริญพันธุ์


ขอยกตัวอย่างการสอนคาบแรก ของประเด็นนี้


บิงโก ความรู้สึก

เราเริ่มคาบด้วยการกระตุ้นการเรียนรู้ ด้วยการชวนเล่นบิงโกความรู้สึก - ความต้องการ ( ตามหลักการสื่อสารอย่างสันติ NVC Non-Violence Communication มีรากฐานมาจากทฤษฎีจิตวิทยาของ มาร์แชล โรเซนเบิร์ก ) 


โดยครูแจกชีทให้นักเรียนเลือกความรู้สึกใดก็ได้จดลงในตาราง 9 ช่อง แบบ 3 คูณ 3 ลงในสมุด 

ลำดับถัดไปครูสุ่มคำในชีท ใครชนะบิงโก 3 เกม ( ชนะโดยทำช่องเชื่อมต่อครบ 3 ช่อง ตามแนวนอน แนวตั้ง หรือแนวทแยง ) ครูทำการแจกรางวัล



ความเป็นชาย และ หญิง

เราให้นักเรียนเปิดสมุด วาดรูป “ ผู้ชาย ” อย่างอิสระ พร้อมเขียนคำนิยาม “ ความเป็นชาย ” มา 5 อย่าง 

แล้วค่อย วาดรูป “ ผู้หญิง ” อย่างอิสระ พร้อมเขียนนิยาม “ ความเป็นหญิง ” มา 5 อย่าง 


จากนั้นให้นักเรียนจับคู่กับเพื่อน เพื่อผลัดกันแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนเอง คิดหรือรู้สึก ขณะที่วาดความเป็นชายและความเป็นหญิง


ขณะที่วาดความเป็นชายและความเป็นหญิง ซึ่งนักเรียนเขาก็ว้าว ว่าจริง ๆ กรอบเพศที่ตนเองเคยคิดว่าใช่ มันไม่จริง ผู้ชายใส่ชุดสีชมพูได้ ผู้ชายทำกับข้าวและเลี้ยงลูกได้ ผู้หญิงสามารถแข็งแกร่งเลี้ยงดูลูกได้ ผู้หญิงสามารถแข็งแรงได้



เพศที่ 3 กับ การจัดอันดับของเพศ

หลังจากแชร์เรื่องความเป็นชายและหญิง เราได้ให้นักเรียน วาดรูป “ เพศที่ 3 ” ที่นักเรียนรับรู้มาได้อย่างอิสระ พร้อมเขียนนิยามที่นักเรียนเข้าใจว่าเขามีลักษณะอย่างไร มา 5 อย่าง เพื่อผลัดกันแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนเอง คิดหรือรู้สึก ขณะที่วาดเพศทางเลือก


ซึ่่งสิ่งที่นักเรียนตอบมา เขาคิดว่าเพศทางเลือกต้องตลก ชอบเสียงดัง ชอบใช้คำด่า ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา พวกชอบสร้างสรรค์ ประดิษฐ์ของ เป็นพวกแปลก ๆ เป็นต้น


จากนั้นชวนให้เห็นถึงการเลือกใช้คำ “ เพศที่ 3 ” กับ “ การเลือกจัดอันดับ ” ที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ 


โดยตั้งคำถามว่า 

“ ระหว่างเพศชายหรือเพศหญิงใครเป็นอันดับหนึ่ง หรือไม่เชื่อแบบใดเลยก็ได้ ” 


โดยการยกมือโหวตสิ่งที่นักเรียนเลือกเชื่อ แล้วถามถึงเหตุผลของนักเรียนทีละคนเพื่อให้นักเรียนได้ร่วมกันอภิปรายได้อย่างอิสระ 


นักเรียนบางห้องให้เหตุผลว่า ให้เพศชายเป็นอันดับ 1 เพราะผู้ชายแข็งแรง 


หรือนักเรียนบางห้องก็

ให้เพศหญิงเป็นอันดับ 1 เพราะผู้หญิงเป็นเพศแม่ อ่อนแอ 


แต่เมื่อครูถามนักเรียนว่าการจัดลำดับมันเกิดขั้นสูงต่ำ แต่เมื่อคนเราเกิดมาเลือกเพศกำเนิดของตนเองไม่ได้ ชี้ให้เห็นถึงการนำหลักคิดการจัดอันดับสังคม มักนำไปใช้กับสิ่งที่เรียงค่ามากไปหาค่าน้อย หรือจากค่าน้อยไปหาค่ามาก มีความสูงต่ำ ครูจึงถามชี้ประเด็นต่อว่า “ แล้วในสังคมให้คุณค่าเพศใดมีค่าสูงกว่า ” โดยยกประเด็นเรื่องลูกผู้ชายในวัฒนธรรมจีน การยกประโยคการมีลูกผู้หญิงเหมือนส้วมหน้าบ้าน ซึ่งมันก่อให้เกิดความอำเอียง เลือกปฏิบัติ และอยุติธรรม 


ฉะนั้นเราก็ไม่ควรให้เพศไหนมีที่ 1 หรือ 2 เพราะทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ แม้กระทั้งกับเพศที่สังคมเรียกว่าเพศที่ 3 ก็ไม่ควรใช้คำนี้ต่อไป 



และได้ชวนตั้งคำถามว่าจากประเด็นที่ได้พูดคุย “ เราควรยึดหลักปฏิบัติอย่างไร ” นักเรียนก็ตอบว่าควรยึดหลักสิทธิ เราชี้ให้เห็นถึง “ สิทธิและการเคารพความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน ” เราควรมีความเชื่อต่อการมองโลกว่า คน = คน แม้เราทุกคนเกิดมาอาจไม่เท่ากันแต่เราสามารถปฏิบัติกับคนได้อย่างเท่าเทียมกัน



เมื่อได้นักเรียนได้ลองแสดงความคิดเห็นแล้ว ก็ร่วมปฏิญาณเลิกใช้คำ “ เพศที่3 ” พร้อมขีดฆ่า แล้วตั้งใจเขียนคำใหม่โดยใช้คำว่า “ เพศทางเลือก ” เพราะสร้างความตระหนักว่า “ มนุษย์เราย่อมมีทางเลือกรวมถึงเลือกเพศของตนเองก็เช่นกัน ”



“เราเคยมีคนรู้จักเป็นเพศทางเลือกไหม เขาเป็นใคร เขาใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง แสดงออกอย่างไร” เราตั้งคำถามชวนให้คิด 


แล้วให้นักเรียนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันให้เพื่อนในห้องฟัง

นักเรียนคนหนึ่งได้ยกตัวอย่างน้าที่เป็นเพศทางเลือก ที่ชีวิตจริงเขาก็เป็นที่รักของทุกคน เขาก็แต่งตามเพศสภาพที่เขาอยากเป็น เป็นน้าที่ดี หรืออย่างพี่สาวของตนเองก็เป็นเพศทางเลือก มีแฟนที่อยู่ด้วยกันเป็นเพศทางเลือกทั้งสองฝ่ายยอมรับได้


เราชวนคิดต่อยอด ว่าในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น 


“ กรณีที่เราเจ็บป่วย จะเลือกพยาบาลผู้ชายหรือผู้หญิง ” นักเรียนให้เหตุผลว่า จะเลือกพยาบาลเพศหญิงมากกว่าเพราะสะดวกใจ เราเลยถามว่าพยาบาลเพศผู้ชายทำให้นักเรียนรู้สึกอย่างไร นักเรียนตอบว่า “ กลัว ” กับ “ กังวล ”

แต่นักเรียนบางคนไม่เลือกพยาบาลผู้หญิงเพราะรู้สึกอาย 


เราเลยถามนักเรียนว่า แล้วถ้านักเรียนเป็นพยาบาลคนนั้น ที่ต้องมาฟังเหตุผลดังกล่าวที่นักเรียนเสนอ เพื่อไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่พยาบาล นักเรียนจะรู้สึกอย่างไร นักเรียนเองรู้สึกเสียใจ โกรธ ที่ตัดสินความสามารถของเขาเพียงเพราะเพศกำเนิด 


เราเลยถามต่อว่าแล้วหากพยาบาลเป็นเพศทางเลือกล่ะ นักเรียน คิดหรือรู้สึก อย่างไร นักเรียนคิดว่าเขามีสิทธิที่จะทำหน้าที่ของตนเองเช่นกัน ครูเลยอธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงคือ สัดส่วนคนที่เลือกเรียนพยาบาลเป็นผู้ชายน้อยมากเพราะจากทัศนคติเรื่องเพศกับการทำหน้าที่พยาบาลทำให้โอกาสในการทำงานน้อยลง และเมื่อเทียบกับเพศทางเลือกสิทธิ์ในการได้งานทำงาน หรือแสดงออกตามเพศสภาพก็มีข้อจำกัด



“ หากนักเรียนมีลูก นักเรียนอยากได้ลูกชายหรือลูกสาว แล้วหากลูกเป็นเพศทางเลือก นักเรียน คิดหรือรู้สึก อย่างไร ” นักเรียนส่วนใหญ่ตอบว่าอยากได้ลูกชาย เพื่อสืบสกุล เลยหันไปถามว่าถ้าพ่อแม่เราให้เหตุผลแบบนี้ตอนที่อยากให้เราเกิดล่ะ นักเรียนที่เป็นผู้หญิงได้ฟังเหตุผลนี้รู้สึกอย่างไร นักเรียนตอบว่าเสียใจ น้อยใจ ครูจึงชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนกฎหมายที่ผู้หญิงมีสิทธิ์ใช้นามสกุลเดิมของตนเอง และสามารถไม่เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เพิ่งได้รับการเปลี่ยนแปลงเมื่อคนมีความรู้เรื่องสิทธิ์มากขึ้น



“ หากอาจารย์ที่สอนนักเรียนเป็นเพศทางเลือก นักเรียน คิดหรือรู้สึก อย่างไร ”

นักเรียนตอบว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะการเป็นครูไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นเพศอะไรแล้วสอนไม่ได้ ขึ้นอยู่ที่ความเป็นครูที่ครูเลือกเป็น เราเลยถามนักเรียนว่า แบบนี้เราจะไม่ยกประเด็นเรื่องเพศสภาพมาล้อครูใช่ไหม นักเรียนตอบว่าใช่ 

เราจึงเล่นประเด็นความเป็นเพื่อน แล้วถ้าเพื่อนเรามีเพศสภาพเป็นเพศทางเลือก เราจะยังล้อเลียนเขาหรือ เลือกจะเข้าใจเพื่อน นักเรียนตอบว่าเลือกจะเข้าใจเพื่อนและเคารพในสิ่งที่เป็นเพื่อนเป็น

สุดท้าย เราพานักเรียนสะท้อนความคิดหรือรู้สึก ขณะได้เรียนรู้ในคาบนี้ 

สิ่งที่เกิดคือ นักเรียนได้รับรู้ว่าสิ่งที่ตนเองอคติกับเพศทางเลือกมา ในความจริงแล้วไม่ควรทำ เพราะเขาก็คือคนเหมือนเรา เราควรปฏิบัติกับเขาได้อย่างเท่าเทียมกัน

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(40)
เก็บไว้อ่าน
(18)