icon
giftClose
profile

“เส้นสายลายผ้า ภูษาแห่งอุษาคเนย์”

26821
ภาพประกอบไอเดีย “เส้นสายลายผ้า ภูษาแห่งอุษาคเนย์”

การสอนประวัติศาสตร์ อาเซียนศึกษา ที่หยิบเอาศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ ที่นักเรียนอยู่มาเป็นหลักในการเล่าเรื่อง สืบสอบความเกี่ยวข้องที่มาจากรากทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ชาติพันธุ์ เดียวกัน ให้ห้องเรียนกับชุมชนมาเป็นสิ่งเดียวกัน



จากคำถามที่เคยมีมาตั้งแต่สมัยเด็กว่า


“ ทำไมวิชาประวัติศาสตร์ ต้องมีผู้ชนะผู้แพ้ ทำไมต้องมีผู้ร้ายและผู้ถูกทำร้ายด้วย 

ทำไมประวัติศาตร์ถึงต้องจำ 

ประวัติศาสตร์ที่เราเคยเรียนมันมีเรื่องราวของบ้านเราอยู่ตรงไหน

เราเรียนไปเพื่ออะไร”


จึงเกิดเป็นการออกแบบการสอนอาเซียนศึกษา ที่ไม่ใช่แค่การท่องจำชื่อประเทศ เมืองหลวง ดอกไม้ประจำชาติ แต่เป็น การหยิบเอาศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น มาเป็นหลักในการเล่าเรื่อง


ครูทำความเข้าใจบริบทของท้องถิ่น

เริ่มต้นด้วยการที่ครูต้องทำความเข้าใจบริบทของท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ 

ที่จังหวัดอุดรธานีที่ครูสอนอยู่นั้นเป็นสังคมที่มีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม มีความแตกต่างแต่ไม่แตกแยกของผู้คน คนอุดรธานีมีหลายชาติพันธุ์ ได้แก่ ลาวเวียง ลาวพวน ภูไท เวียดนาม จีน ซึ่งมีเอกลักษณ์ทางด้านภาษา การแต่งกาย ความเป็นอยู่ และความเชื่อเป็นของตนเอง


งานหัตกรรมที่ขึ้นชื่อของอุดรธานีคือ ผ้าทอ ซึ่งลวดลายต่าง ๆ บนผืนผ้านั้นมาจากคติธรรม ความเชื่อของคนแต่ละชาติพันธุ์ 


ผ้าทอในท้องถิ่นของคนอีสานเป็นมากกว่าเครื่องนุ่งห่ม หากแต่ยังแสดงถึงกาลเทศะ ความเชื่อ สถานะทางสังคม และชาติพันธุ์ของผ้านุ่งห่ม 


นอกจากนี้ลายบนผืนผ้ายังบอกเล่าเรื่องราว ที่ผ่านมาเหมือนกับเป็นสมุดบันทึกประวัติศาสตร์ ของคนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี


เล่าถึงชนิดของผ้าทอ

ชั่วโมงแรก ครูได้เล่าถึงชนิดของผ้าทอว่ามีกี่ประเภท โดยจำแนกตามชาติพันธุ์ ใช้ลายและสีของผ้าเป็นตัวแบ่ง 


เช่น ลายนาคจะพบในกลุ่ม ลาวเวียง ลาวพวน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยุ่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ เช่น แม่น้ำโขง 


ลายดอกไท้ที่เป็นรูปเรขาคณิต ลายตาแหลว (เฉลว) จะพบในกลุ่ม ภูไทที่อยู่บนพื้นที่สูง 


สีของผ้าที่ใช้ก็เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชาติพันธุ์ 

เช่น สีแดงครั่งจะเป็นสีเฉพาะของภูไท สีน้ำเงินหรือสีครามจะเป็นสีของลาวพวน ส่วนลาวเวียงจะนิยมนำโลหะมีค่ามาทอผสมเข้าไปในผ้า เพื่อให้มีความพิเศษ เช่น ซิ่นไหมคำ ที่เป็นที่นิยมของสตรีบรรดาศักดิ์ลาว 


ชวนหาผืนผ้าบรรพบุรุษ

หลังจากสอนเรื่องชนิดของผ้า ครูให้นักเรียนนำผ้าทอ หรือถ่ายภาพผ้าทอเก่าของปู่ย่าตายายมา พร้อมทั้งให้สอบถามเรื่องราวที่มา อายุ เส้นใย ลวดลายที่ปรากฎในผืนผ้า เพื่อนำมาเอ้อ้าง (ประดับโชว์) ให้เพื่อนในห้องได้ชมและแลกเปลี่ยนกัน 


ในชั่วโมงนี้นักเรียนได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมา ของบรรพบุรุษตนเอง ว่าเป็นใครมาจากไหน เพื่อเกิดความภาคภูมิใจในรากเหง้าของตน 


ในขณะเดียวกันนักเรียนได้เห็นความเหมือนกัน ที่ปรากฎในลายผ้าของเพื่อนที่มีชาติพันธุ์ต่างกัน ว่ามีความเชื่อคล้าย ๆ กัน เห็นความเหมือนในความต่าง 


สืบเรื่องราวผืนผ้า

ชั่วโมงต่อมา ครูได้ให้นักเรียนศึกษาผ้า ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์ทั้งบนแผ่นดิน และเกาะต่าง ๆ โดยพิจารณาจากเส้นใยที่ใช้ทอ ลวดลายบนผืนผ้า สีที่ใช้บนผืนผ้า 


สิ่งที่นักเรียนค้นพบคือ ดินแดนที่ไม่มีอาณาเขตติดต่อกัน แต่มีลักษณ์ความเชื่อวิธีการใช้ผ้าเหมือน ๆ กัน เช่น ความเชื่อเรื่องนาคที่ปรากฎในผ้าทอ ทั้งที่เกิดจากการมัดหมี่ การขิด การจก ปรากฎในคติความเชื่อของคนในลุ่มน้ำโขง (ลาว เขมร พม่า จีนตอนใต้ เวียดนาม ชาวเกาะในชวา และฟิลิปินส์) 


สิ่งที่นักเรียนค้นพบในการทำกิจกรรมครั้งนี้ คือ นักเรียนค้นพบว่าความเชื่อดั้งเดิมก่อนศาสนาพราหมณ์ พุทธ จะเข้ามา 


คนในดินแดนนี้มีศาสนาเป็นของตนเองคือ นับถือผี ดังนั้นเมื่อมีศาสนาใหม่เข้ามา ศาสนาความเชื่อเก่าก็ไม่ได้ทิ้งไปไหน แต่นำมาปรับให้เหมาะสมอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว 


นักเรียนเห็นความเป็นคนพวกเดียวกัน คนกลุ่มเดียวกัน 

คิดเหมือน ๆ กัน เชื่อเหมือนกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจน ในลายผ้าที่แต่ละที่มีความเหมือนกัน คล้ายกัน 


ในปัจจุบัน อาณาเขตพรมแดนที่ถูกขีดขึ้นมาใหม่ ทำให้คนที่เคยเป็นคนกลุ่มเดียวกันต้องแตกต่างกันไป เพราะตอบสนองความเป็นรัฐชาติ ทำให้เกิดการยกตนข่มคนอื่น เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง


การเรียนอาเซียนศึกษาทำได้มากกว่าการท่องชื่อประเทศ เมืองหลวง ดอกไม้ประจำชาติ 


วิชานี้สามารถทำให้สามเสาหลักของอาเซียน เกิดความมั่นคงและสมบูรณ์แบบได้ โดยเฉพาะการลบหรือค่อย ๆ ทำให้บาดแผลประวัติศาสตร์ค่อยจางหายไป จากความรู้สึกนึกคิดของคนในอาเซียน 


เมื่อความระแวงเพื่อนบ้านหายไปจากคนในอาเซียน บรรยากาศในภูมิภาคนี้ก็จะเป็นไปอย่างญาติมิตร 

เกิดความเสมอภาค ภาคภูมิใจในชาติกำเนิดของตนโดยไม่ไปเบียดเพื่อนคนอื่น 


ความสุขสันติก็จะเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับชั้นเรียน โรงเรียน ชุมชน ประเทศ โลกต่อไป มันอาจจะใช้เวลานาน แต่มันก็ยังดีกว่าที่จะไม่มีการเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลง 


การหยิบสิ่งใกล้ตัวที่ดูเชย ดูไม่มีคุณค่ามาเป็นตัวหลักในการสอน ผู้เรียนจะมีความรู้สึกเข้าถึงเข้าใจได้ดีกว่า 


เมื่อนักเรียนเข้าใจแล้วในขั้นเริ่มต้น การที่ครูผู้สอนจะเปิดประตูโลกแห่งการเรียนรู้นักเรียนให้กว้างขึ้น มันจะง่ายและเป็นไปได้อย่างราบรื่น ที่สำคัญที่สุดครูผู้สอนเอง ต้องเข้าใจ มองให้เห็นศักยภาพที่มีอยู่ในชุมชนที่ครูเข้าไปทำงานอยู่ อย่าแยกห้องเรียนให้ห่างไปจากชุมชนและความเป็นตัวตนของเขา


ครูต้องนำห้องเรียนและชุมชน มาเป็นสิ่งเดียวกันเพื่อหนุนเสริม ให้ไปสู่ความเป็นสากลต่อไป



ความประทับใจของครู

ครูได้เห็นพลังของนักเรียนที่แต่ก่อนเคยมองว่า

เป็นเรื่องยากที่จะสอนให้คนรุ่นใหม่มาสนใจในสิ่งเก่า แต่กลับเป็นว่าสิ่งใหม่และเก่า มาพบบรรจบกันได้อย่างลงตัวและสมบูรณ์แบบ 


นักเรียนเคยรู้สึกว่าวิชาอาเซียนศึกษาเป็นเรื่องไกลตัว ท่องจำเท่านั้น แต่เมื่อเรียนแล้วนักเรียนรู้สึกว่าเป็นเรื่องเดียวกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ ได้เห็นความสุขของนักเรียน ที่ได้เล่าเรื่องราวของตนเองของบรรพบุรุษตนเอง อย่างมีความสุขและภาคภูมิใจ



ผลลัพธ์ที่คาดหวัง

ผู้เรียนได้รู้ถึงรากเหง้าของตนเองอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อรู้แล้วจะเกิดความเข้าใจ ความภาคภูมิใจในในชาติกำเนิดของตน และเปิดใจยอมรับความแตกต่างของคนอื่น มองประวัติศาสตร์ไม่ให้มีพรมแดน ความเป็นรัฐชาติเข้ามาเป็นตัวแปรเพื่อทำให้เกิดความแตกแยก แต่มองประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาแล้ว ที่ไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ แต่สามารถนำมาเป็นบทเรียน ไม่ให้มันเกิดซ้ำรอยในปัจจุบันและอนาคตต่อไป 


ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เชื่ออย่างมีเหตุมีผลลดอคติที่เคยมีมาเปิดใจกว้างให้กับผู้อื่น เพื่อไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(7)
เก็บไว้อ่าน
(6)