เราเคยไปเข้าคลาสสั้น ๆ ในงานของ EDUCA หัวข้อ การสื่อสารอย่างสันติ เข้าแล้วรู้สึกสะเทือนใจมาก (ฮ่าๆ)
เพราะได้ย้อนมองการสื่อสารของตัวเองที่มีกับนักเรียน มันไม่ค่อยสันติเท่าไหร่ (ฮ่าาาา) แล้วก็ตระหนักได้ว่า
“ จริง ๆ แล้วปัญหาหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้น ความไม่เข้าใจกัน จุดเริ่มต้นก็มาจากการสื่อสารนี่แหละ ”
เลยอยากจะเอา concept ของการสื่อสารอย่างสันติมาจัดกิจกรรม
ในค่ายส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
STEP 1 เปิดหัวข้อด้วยการพาเล่นเกม
Round 1
(1) ให้ผู้เรียนรู้จับคู่ (14-17 ปี) ทำท่าแสดงอารมณ์
(2) ให้คู่ทาย ว่ารู้สึกอย่างไร แล้วสลับคู่ไปเรื่อย ๆ
Round 2
(1) พูดคำที่พูดบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน
(2) ให้เพื่อนทายว่ารู้สึกอย่างไร เช่น "เบื่อจัง", "ไอ๊ยะ", “ว่าซั่น”, “อะไรก็ฉัน”
STEP2 เนื้อหาการสื่อสารอย่างสันติ
(1) เข้าสู่เนื้อหาเรื่องของการสื่อสารแบบคร่าว ๆ เช่น การสื่อสารคืออะไร องค์ประกอบของการสื่อสาร ปัญหาของการสื่อสาร เน้นการยกตัวอย่างเยอะ ๆ
(2) พูดถึงเรื่องของการสื่อสาร
“การสื่อสารอย่างสันติ” ใจความหลักของมันคือการสื่อสารที่ไม่ใช่การตอบโต้เพื่อเอาชนะ แต่เป็นการสื่อสารที่ทำให้เราได้ย้อนมองถึงความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง และที่สำคัญต้องไม่ทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น เป็นการสื่อสารที่ต้องพยายามเข้าใจคนอื่น มองให้เห็นถึงเจตนา สาเหตุ มีความเมตตา
วิธีการการสื่อสารอย่างสันติ
1. สังเกตโดยไม่ตีความ คือสังเกตว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น
2. รู้ทันความรู้สึก คือ รู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร
3. บอกความต้องการ คือ ที่เรารู้สึกแบบนั้น เพราะจริงๆแล้วเราต้องการอะไร
4. การร้องขอ คือ ขอร้องให้คนฟังตอบสนองกับสิ่งที่เราต้องการ
Key สำคัญคือ การเข้าใจความรู้สึก+รับรู้ความต้องการ อย่ารีบตัดสินใครจากพฤติกรรม ให้มองให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วเค้ารู้สึกหรือต้องการอะไร
ถึงมีพฤติกรรมนั้นออกมา
(3) แนะนำวิธีการแปลงสาร จากสารปกติ ให้เป็น สารที่มีความสันติ โดยแจกแจงวิธีการเป็นข้อ ๆ
ตัวอย่าง...
“พักนี้เราเห็นเธอพูดน้อยลง” (การสังเกต)
“เรารู้สึกกังวลใจ” (ความรู้สึก)
“เราอยากให้เธอไว้ใจ” (บอกความต้องการ)
“ถ้าเธอมีปัญหา เธอช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยได้มั้ย” (การร้องขอ)
(4) ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ผู้เรียนรู้อาจพบเจอได้ เช่น เล่าปัญหาให้เพื่อนฟังแล้วเพื่อนไม่ฟัง จะมีวิธีการสื่อสารอย่างสันติได้อย่างไร
เด็ก ๆ มีความสนใจกับโจทย์มาก เพราะเหมือนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่พวกเขาเจอกันจริง ๆ เลยมีความกระตือรือร้นในการแก้ไขสถานการณ์ โดยการใช้การสื่อสารอย่างสันติ
คำตอบของเด็ก ๆ เองก็มีทั้งที่ใช้ได้เลย และแบบที่อาจจะยังไม่ค่อยถูกตามหลักการสักเท่าไหร่ แต่นั่นยิ่งทำให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจว่า การสื่อสารอย่างสันติไม่ได้ยาก แต่ก็ไม่ได้ง่าย
ดังนั้นถ้าอยากเป็นคนที่สื่อสารได้ดีต้องฝึกฝนบ่อย ๆ
STEP 3 ลองสื่อสารอย่างสันติ
(1) ให้ผู้เรียนได้ลองสื่อสารอย่างสันติ ผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้น เช่น
(2) ให้ผู้เรียนเขียนข้อความ ที่เป็นการสื่อสารอย่างสันติใส่กระดาษโน๊ต
(3) นำไปแปะไว้ตามป้ายสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำหนด
(4) ศึกษาร่วมกัน อันไหนดี อันไหนต้องปรับตรงไหน แล้วก็สรุปร่วมกัน
เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาอยู่พักนึง กว่าจะเขียนถ้อยคำที่ต้องการสื่อสารอย่างสันติ ผ่านสถานการณ์ที่กำหนดให้ หลาย ๆ คนมีท่าทางที่จริงจังและใช้ความคิดพอสมควร
หลังจากกิจกรรม...
จากการสอบถามและสังเกต กิจกรรมนี้ผู้เรียนค่อนข้างได้ใช้สมาธิ เพราะคิดว่า ต้องคิดทบทวนกับสถานการณ์ต่าง ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจเขียนคำพูดนั้นลงไป
ถือว่าผู้เรียนได้ฝึกการคิดให้รอบคอบ คิดก่อนพูด เอาใจเขามาใส่ใจเรา และนึกถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่จะตามมา เพียงเพราะการสื่อสารที่ผิดพลาดไปมากขึ้น
หลังจากทำกิจกรรมได้ถามถึงความเข้าใจและความรู้สึกของเด็ก ๆ
เด็ก ๆ บอกว่า...
“ ได้เข้าใจผู้ปกครองมากขึ้นว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่ผู้ปกครองจะสื่อคืออะไร ถ้ามองข้ามเรื่องอารมณ์ และจะพยายามใช้วิธีการสื่อสารอย่างสันติมากขึ้น ไม่ว่าจะกับผู้ปกครอง ครู หรือเพื่อน”
เด็ก ๆ ได้รู้วิธีที่จะนำไปใช้
ตัวอย่างคำพูดของเด็ก ๆ
“ เวลาหนูจะออกจากบ้าน คุณแม่บอกให้หนูไปเปลี่ยนชุดบ่อย ๆ หนูรู้สึกขาดความมั่นใจ หนูต้องการการสนับสนุนและเป็นตัวของตัวเอง คุณแม่อนุญาตให้หนูแต่งตัวตามที่หนูต้องการได้มั้ยคะ ”
คาบนี้เป็นคาบที่ประทับใจ เพราะนอกจากจะเป็นการสอนผู้เรียนแล้ว เราเองก็ยังได้ย้อนมองตัวเองจากหัวข้อนี้ ตั้งแต่ตอนเตรียม ตอนสอน และมีความระมัดระวังมากขึ้นในการสื่อสาร ไม่เหมือนมาสอน เหมือนเป็นการมาช่วยกันทบทวนตนเอง และช่วยกันแก้ไขการสื่อสารที่อาจจะผิดพลาดได้
สารที่อยากส่งต่อ
อยากเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกท่านที่มีความตั้งใจในการสอน การพัฒนาตนเอง การสอนเด็ก ๆ ในทุกวันนี้อาจจะยากขึ้น กระแสสังคมมีพูดถึงคุณครูมากขึ้น
ก็ขอให้ไม่ย่อท้อต่อการทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่มีใครเห็นแต่ตัวเราเองที่เห็น ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดในทุก ๆ วัน แล้วเราจะไม่มีอะไรต้องเสียใจค่ะ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!