icon
giftClose
profile

Self-talk ในคาบแนะแนว

90684
ภาพประกอบไอเดีย Self-talk ในคาบแนะแนว

ชวนเด็ก ๆ คุยกับตัวเองเพื่อสร้างชีวิตที่ดีขึ้น และการบ้านที่ให้เวลาทำถึง 2 เดือน



Learning แบบนั่งนิ่งนิ่ง VS Learning by doing 


“ครูสอนเด็ก พูดไปบรรยายไป แต่เด็กนั่งนิ่ง ๆ หรือไม่ครูก็สั่งให้เด็กนั่งนิ่ง ๆ เอง หรือไม่ก็ครูถามเด็กแล้วให้เด็กตอบ แต่เด็กก็นั่งนิ่งนิ่งอีก ไม่ตอบอะไรทั้งสิ้น” 


จากข้อความดังกล่าว คาบเรียนของผมจึงเน้นไปที่ Learning by doing ไม่ต้องนั่งนิ่ง ๆ ฟังครูต้น อีกต่อไป


Self-Talk คุยกับตัวเองเพื่อสร้างชีวิตที่ดีขึ้น 


จากที่ครูต้นได้ศึกษาเรื่อง self-talk พบว่าการพูดคุยกับตัวเองคือหนทางหนึ่งในการ เริ่มรักตัวเอง

เพราะภาษาที่เราใช้จะมีผลต่อมุมมองต่อโลกของเรา ส่งผล ไปถึงความสัมพันธ์กับผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ของเราด้วย

ดังนั้นการพูดจาของเราบ่งบอกถึงการที่เรามองเห็นตัวของเราเอง ว่าเป็นอย่างไร และครูต้นเชื่อว่าการมี  “บทสนทนากับตัวเอง” จะช่วยเพิ่มความมั่นใจ ความจำ สมาธิและอื่น ๆ


นำมาจัดกิจกรรมในชั้นเรียน 2 คาบ



คาบที่ 1 รู้จักกันมากขึ้น


1. ให้ทุกคนในห้องได้รู้จักกันมากขึ้น โดยครูต้นมีชุดคำถามให้นักเรียนได้ เข้าไปสัมภาษณ์เพื่อน สัมภาษณ์คนไหนก็ได้ คำถามละ 1 คน เพียงให้รู้จักกันมากขึ้น คุ้นเคยกันพร้อมที่จะเปิดใจเรียนรู้ไปด้วยกัน


สิ่งที่เกิดขึ้นหลังกิจกรรม

เกิดความสนุกสนานกันมาก เพราะคำถามสัมภาษณ์อยู่ที่นักเรียน แต่คำตอบของนักเรียนอยู่ที่เพื่อน จึงเกิดความตื่นเต้นไปพร้อมกับความสนุก บางคนก็แลกกันถามในข้อเดียวกัน


ที่น่าสนใจคือ นักเรียนเลือกถามคำถามนี้เฉพาะกับเพื่อนคนนี้ เช่น ถ้าเปรียบตัวเองเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง นักเรียนเลือกที่จะถามเพื่อนคนนี้


หรือว่าคำถามความฝันในวัยเด็ก นักเรียนก็เลือกถามอีกคนหนึ่ง นี่คือจุดที่ส่งผลให้เด็ก ๆ ได้คิดว่า มีคนคิดแบบเดียวกับเรา



คาบที่ 2 สร้างคำถามขึ้นมาเอง


1. ให้นักเรียนได้สร้างคำถามขึ้นมาเองจากกระบวนการเดี่ยว สู่กระบวนการกลุ่ม เรื่องความคิด ความรู้สึก การศึกษา อนาคต หรือเป็นคำถามเชิงสมมติ

 

2. ให้การบ้านโดยให้เวลาทำ 2 เดือน 

ครูต้นให้การบ้านนักเรียนเกี่ยวกับ การ Self-talk เพื่อสร้างความสุข ประมาณว่า 

  • นักเรียนได้อยู่กับตัวเอง 
  • คิดคำถามขึ้นมาจากสิ่งรอบตัวที่เกี่ยวกับตัวเอง 


2.1 ออกแบบวิธีคุยกับตัวเอง หรือสร้างคำถามมาสัมภาษณ์ตัวเอง สมมติว่าตัวเองเป็นพิธีกรสัมภาษณ์แขกรับเชิญ ประมาณนี้

จะสามารถทำให้นักเรียนเข้าใจตัวเองมากขึ้น 


ตรงนี้ส่งผลให้นักเรียนได้รู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักความชอบของตนเอง นักเรียนได้สื่อสารกับตัวเอง ทำให้รู้ถึงเป้าหมาย จากคำถามนั้น ความสุขเกิดขึ้นในระหว่างการสร้างคำถาม


ที่มาของแนวคิด https://www.welovebookpacker.com/self-talk/ 


ผลลัพธ์และความประทับใจ

วัตถุประสงค์หลักของครูต้นคือ Career Exploration and Self-Awareness กิจกรรมจึงเป็นไปเพื่อค้นหาความอยาก ความชอบ จุดแข็ง-จุดอ่อน อาชีพที่มีอยู่ อาชีพที่ยังไม่เกิดขึ้น อุปสรรคในชีวิต โอกาสที่อยากไขว่คว้า สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม 


ดังนั้นคำถามที่เด็ก ๆ สร้างขึ้นจึงมีความสัมพันธ์กับเรื่องราวเหล่านี้ แม้แต่คำถามที่ว่า ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรี ฉันจะ… ก็น่าฟังมาก 


สรุปได้ว่า เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ไปตามวัตถุประสงค์ เพราะการบ้านที่ให้ทำ ครูต้นได้ตรวจคำถามที่เด็ก ๆ สร้างขึ้นว่าโอเคแล้วหรือยัง


ความประทับใจไม่ได้มาจากผลลัพธ์อ่ะครับ มันเกิดขึ้นระหว่างทาง


นักเรียนได้นั่งคุยกับตัวเองแบบไม่รู้ตัว เค้าได้ถามตนเอง ได้เตือนตนเอง ได้ค้นคว้าคำตอบ เด็ก ๆ ต้องตอบตัวเองให้ได้ ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และที่สำคัญคือเด็ก ๆ เข้าใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นไปด้วย



สิ่งที่อยากบอกต่อ

ครูต้นก็คิดว่าครูต้นทำงานไปตามปรัชญาการแนะแนวครับ 

การแนะแนว หมายถึง กระบวนการทางการศึกษาที่ช่วยให้ บุคคลรู้จัก และเข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อม สามารถนำตนเองได้ แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง และพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพ ปฏิบัติตนให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม และขอยกคำพูดของโสคราติส (Socrates. 469-399 B.C.) มาเป็นหลักการสักเล็กน้อยนะครับ 

เพราะเขาเป็นบุคคลแรกที่มองเห็นคุณค่า และความสำคัญของการรู้จักตนเอง โดยเขาได้กล่าวว่า

“จงรู้จักตนเอง (Know yourself) และกล่าวว่าชีวิตที่ไม่รู้จักตนเองเป็นชีวิตที่ไม่มีค่า (An unexamined life is not worth living) ชีวิตของบุคคลนั้นจะเป็นชีวิตที่มีคุณค่าหรือไม่นั้น อยู่ที่การที่บุคคลนั้นรู้จักหรือสำรวจตนเอง หรือตระหนักรู้ว่า ชีวิตคืออะไร กำลังทำอะไรอยู่และมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร”



รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(35)
เก็บไว้อ่าน
(17)