icon
giftClose
profile

เมฆคนละชื่อ ภายใต้ท้องฟ้าเดียวกัน

45602
ภาพประกอบไอเดีย เมฆคนละชื่อ ภายใต้ท้องฟ้าเดียวกัน

จุดประกายการเรียนเรื่องเมฆ ผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น


เวลาสอนเรื่องเมฆเป็นเรื่องที่ปราบเซียน

ส่วนใหญ่ก็จะให้เด็กจำชื่อเมฆแต่ละชนิด

แล้วก็จบไป...

 

...แต่ด้วยความที่เราสนใจวิทยาศาสตร์กับวัฒนธรรม 

และได้แรงบันดาลใจมาจากโพสต์นึง ที่เขานำลักษณะของเมฆ 

ไปเชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัวชุมชน

 

บริบทของเด็กของเราที่ปัตตานี

คงมีภูมิปัญญาชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องลมฟ้าอากาศมีมากมาย

เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินคำพูดที่คนในชุมชนพูดคุยกัน

เช่น ฝนตกปรอย ๆ ภาษาใต้จะใช้คำว่า ฝนลงดอก

 

ในบางพื้นที่เมฆในภาษาอีสาน เรียกว่า ฟ้าลายเห็ดบด 

เเต่ภาษาใต้ เรียกว่า “แกล๊ดฝ่า” ซึ่งมีที่มาของชื่อเหล่านั้น 

ทำให้เราอยากรู้เพิ่มเติมว่า เเล้วในภาษามลายูหรือภาษาใต้ 

มีคำพูดที่เกี่ยวกับลมฟ้าอากาศอะไรบ้าง 

 

เราเลยชวนเด็ก ๆ ไปหาคำตอบจากคนรอบตัว

เด็กอาจจะไปถามปู่ย่าตายายของเขาถึงที่มาของชื่อ 

ชื่อเหล่านั้นอาจจะเป็นตำนานบางอย่าง 

ได้สร้างให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวอีกด้วย

 

จากนั้นเรารวบรวมข้อค้นพบจากนักเรียน

มาชวนหาความเชื่อมโยง

ข้อค้นพบเหล่านั้นกับคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์

 

เมื่อเด็กไปถามคุณยาย ก็ไปเจอว่าจะเรียกเมฆชนิดหนึ่งว่า

“ซีซีอีแก” เป็นภาษามาลายู ที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า เกล็ดปลา

อะไรทำให้เกิดปราฏการเมฆเกล็ดปลากัน 

 

และสภาพอากาศมักจะมาพร้อมความเชื่อ

“คุณย่าไม่ให้ผมออกไปตอนเมฆสีครึ้ม ๆ เพราะจะโชคร้าย”

“เวลาท้องฟ้าเป็นแบบนี้ เขาว่าไม่ให้ออกทะเล”

เราก็ชวนคุยต่อว่าถ้ามองในมุมวิทยาศาสตร์

อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่าอะไร

 

ภูมิปัญญาเหล่านี้หากมันไม่ถูกคุยกัน 

บางอันก็จะกลายเป็น fake news 

บอกต่อ ๆ ด้วยความเชื่อ 

 

แต่การชวนเด็กคุยแบบนี้มันทำให้เขาตั้งคำถาม

กับสิ่งที่บอกต่อ ๆ กันมาในชุมชนมากขึ้น

กลายเป็นพลเมืองเข็มแข็ง 

เมื่อรู้จักตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น

 

“ครูครับทำไมเราไม่ตั้งชื่อเมฆให้มันง่ายกว่านี้

เช่น ตั้งชื่อเมฆว่า แฮมเบอร์เกอร์”

“เราคิดว่าทำไมล่ะ”

“เค้าคงตั้งเพื่อให้มันเหมือนทั่วโลกเพื่อให้รู้เรื่องมั้งครับ”

 

คาบเรียนนี้เลยไปไกลกว่าชื่อเมฆที่ถูกตั้งขึ้น

แต่ไปถึงการพูดคุย ถกเถียงกัน

และเราก็ได้ความรู้ใหม่ ๆ จากเด็ก ๆ ไปในตัว

 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(4)
เก็บไว้อ่าน
(10)