มีคนเคยบอกว่า…
“ คาบเรียนที่ทำให้เรามีความสุขที่สุด คือคาบเรียนที่นักเรียนหัวเราะดังที่สุด และแววตาเบิกโพลงที่สุด ”
ทุกผลงานบทกลอนเปล่าที่นักเรียนนำมาอ่าน แลกเปลี่ยนกันหน้าชั้น ในคาบภาษาไทยครั้งนั้น ได้แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ และกล้าแสดงออกในเรื่องต่าง ๆ ทั้งความรัก เพศ ความเป็นธรรม และความเท่าเทียม
กับกิจกรรม “ หากฉันเป็นใครสักคนในเรื่องมัทนะพาธา ”
ตั้งแต่วันนั้นมา คาบภาษาไทย จึงเป็นคาบแห่งการเปิดกว้างทางความคิด การตั้งคำถาม และความรัก โดยมีนักเรียนเป็นคนเปิดทาง
STEP 1 ให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องมัทนะพาธา
STEP 2 “ หากฉันเป็นใครสักคนในเรื่องมัทนะพาธา ”
1. นักเรียนเลือกตัวละครที่ชื่นชอบมา 1 ตัว
2. ให้นักเรียนจินตนาการว่า หากนักเรียนเป็นตัวละครที่เลือกมา นักเรียนจะมีความคิด ความรู้สึกอย่างไร หากได้กระทำหรือถูกกระทำเหมือนกัน
3. เขียนอธิบายความคิดความรู้สึกนั้น ให้อยู่ในรูปแบบของกลอนเปล่า* (blank verse)
กลอนเปล่า* - ลักษณะคำประพันธ์ประเภทหนึ่งที่ไม่มีข้อจำกัดด้านการสัมผัส ฉันทลักษณ์ แต่เน้นการเลือกใช้ถ้อยคำ จังหวะ การเว้นวรรค และเว้นบรรทัด
STEP 3 อ่านให้เพื่อนฟังหน้าชั้น
ผลงานของนักเรียน กับเรื่องราวที่ครูได้รับ
ผลงานที่ 1
พบว่านักเรียนได้นำเสนอความคิดความรู้สึก และการตั้งคำถามที่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน
นักเรียนเลือกตัวละครที่ไม่ได้เป็นตัวละครเด่น คือ มายาวิน (มายาวินเป็นคนธรรพ์ที่รับใช้สุเทษณ์เทพบุตร) โดยนักเรียนเขียนอธิบายความรู้สึกเป็นกลอนเปล่าว่า
" ผมหลงรักทุกอย่างที่เป็นไปไม่ได้
ทั้งท้องฟ้า คลื่นทะเล สายลม
หรือแสงตะวันที่กำลังลาลับขอบฟ้าเวลานี้
มันแปลกดี ที่ผมชอบรอยยิ้มของคุณ
ชอบที่ทำให้คุณมีความสุข
ชอบที่ทำให้คุณมีความรัก
แม้ความรักของคุณ จะทำให้ผมทุกข์ใจจะขาด
แหงสิ
ก็ผมรักทุกอย่างที่เป็นไปไม่ได้
รวมทั้งรักคุณด้วย
คุณสุเทษณ์ "
รับที่ 1
จากกลอนเปล่าของนักเรียนแสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความคิด จินตนาการ และเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายทางเพศ และมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะแหวกขนบของวรรณคดี วรรณกรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุคสมัยที่กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องเพศ
บรรยากาศในห้องตอนที่นักเรียนคนนั้นอ่านกลอนเปล่าให้เพื่อนฟัง ทุกคนในห้องฮือฮาและว้าวซ่ามาก มันเป็นอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือไม่มีใครกล้าคิด ตั้งแต่วันนั้นมา คาบภาษาไทย จึงเป็นคาบแห่งการเปิดกว้างทางความคิด การตั้งคำถาม และความรัก โดยมีนักเรียนคนนี้เป็นคนเปิดทาง
ผลงานที่ 2
นักเรียนอีกห้องหนึ่งเลือกนางมัทนา โดยพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ยุติธรรม ที่ตนเองรักท้าวชัยเสน แต่กลับถูกสุเทษณ์บังคับให้นางรัก และกลั่นแกล้งนาง
" ชีวิตฉันเหมือนละครหลังข่าว
ทุกคนในเรื่องกลัวตัวเองจะเสียใจ
แต่ไม่มีใครรู้เลยว่า
วิธีที่ทำให้ตนเองหลบหนีความเสียใจ
ได้ทำให้คนคนหนึ่งตายทั้งเป็น "
ผลงานที่ 3
นักเรียนอีกคนก็พรรณนาอารมณ์และความห่วงใยที่สุเทษณ์มีให้นางมัทนา
" ฉันเสกเธอเป็นดอกกุหลาบ
เพราะเป็นดอกไม้ที่สวยที่สุด
ฉันเสกเธอให้มีหนามแหลมที่สุด
เพราะฉันเป็นห่วงเธอที่สุด "
ผลงานที่ 4
“ พระจันทร์… ฉันเหนื่อย
บางทีการเป็นดอกไม้ ที่ไม่ต้องรับรู้อะไร
อาจจะมีความสุขมากกว่าเสียอีก
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้
จากที่อธิษฐานขอให้พระจันทร์เต็มดวงไว ๆ
ฉันคงจะขอให้
ไม่ต้องมีพระจันทร์อีกเลย คงจะดีกว่า ”
ผลงานที่ 5
“ ถ้าแกถามว่าใครคือที่ 1 ในใจเรา
เราก็จะตอบว่าเป็นแกเสมอ
แต่เหตุการณ์หลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของเรา
ทำให้เราไม่ได้อยู่กับแกเพราะรัก…
แต่เพราะทน
ทนเพราะอยากจะมีแกอยู่ในชีวิตต่อไป
ทนจนความสัมพันธ์ของเราเลือนลาง ความรู้สึกจางลง
เหลือเพียงสถานะที่ชัดเจน
ว่าเรายืนอยู่ตรงไหน ”
รับที่ 2
ทุกกลอนเปล่าที่นักเรียนนำมาอ่าน ทำให้ผมเห็นว่าเด็ก ๆ กล้าคิด กล้าเขียน กล้าตั้งคำถาม และซึมซับความงามของภาษาไปด้วยในขณะเดียวกัน เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องฉันทลักษณ์และความถูกผิด
รับสุดท้าย
เมื่อจบคาบ มีนักเรียนเดินมาบอกผมว่า
" หนูเคยอยากเป็นนักเขียน แต่ก็ล้มเลิกไป เพราะถูกตำหนิและถูกสอนให้เขียนตามค่านิยม และความถูกต้องของแบบเรียน แต่พอเรียนกับครู หนูกล้าที่จะนำมันออกมาเขียนอีกครั้ง ไว้จะเอามาให้ครูดูนะคะ " ผมนี่ตัวลอย และอบอุ่นใจมาก ๆ เลย
จากเดิมที่ผมคาดหวังให้นักเรียนเขียนแสดงอารมณ์ แสดงจินตนาการได้ แต่วิธีการดังกล่าวได้เป็นการจุดประกายให้นักเรียนแสดงศักยภาพที่ไร้ขีดจำกัด...เพราะวิธีการที่เราไม่จำกัดความคิดของนักเรียน
รับมาและขอส่งต่อ
“ นักเรียนไม่ได้เรียนหนังสือเพื่อครู แต่ครูต่างหากที่สอนหนังสือเพื่อนักเรียน ”
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย