กิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งนี้เราพานักเรียนเรียนเรื่องระบบการย่อยอาหาร นำไปสู่การจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอาหาร โดยกิจกรรมเป็นการลงพื้นที่เก็บข้อมูล แลกเปลี่ยนพูดคุย ไปจนถึงการจัดทำโครงงานบริการสังคม ที่จะนำความรู้ในห้องเรียน ไปบริการกลุ่มคนที่มีความต้องการในเรื่องนั้่น ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. เริ่มจากการให้นักเรียนเรียนเรื่องระบบการย่อยอาหารตามปกติ โดยใช้การทำสื่อการเรียนรู้จากวัสดุที่หาง่าย เช่น ใช้ลังกระดาษ มาทำเป็นโมเดลเกี่ยวกับอวัยวะและกระบวนการย่อย
2. เราพานักเรียนไปสังเกตเศษอาหารที่โรงอาหารของโรงเรียน ที่บ้าน และชุมชน เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว ว่าเพราะเหตใดจึงมีเศษอาหารเหลือทิ้ง โดยนักเรียนจะได้รับข้อมูลเพิ่มเติมผ่านคลิปวิดีโอเรื่องความเสียหายของอาหารที่เหลือทิ้ง ปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหารในประเทศต่าง ๆ ปัญหาด้านอาหารในประเทศไทย และเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Zero Hunger)
3. เราท้าทายนักเรียนว่า ทำอย่างไรที่เราจะรณรงค์ให้คนในโรงเรียนรู้ถึงปัญหานี้ ? ซึ่งนักเรียนคิดแคมเปญเรื่อง “กินข้าวหมด ช่วยลดโลกร้อน” โดยเป็นการถ่ายภาพอาหารก่อนกินและหลังกิน จากนั้นติด #TPKFightForZerohunger
4. เด็กนักเรียนจะวิเคราะห์ภาพถ่ายว่าเพื่อน ๆ กินอาหารอย่างไร ทำไมบางคนน้ำหนักเกิน บางคนไม่ค่อยแข็งแรง เด็ก ๆ จะใช้ข้อมูลตรงนี้เพื่อพัฒนากิจกรรมต่อไป
5. จากนั้น นักเรียนจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรม World Café เพื่อพูดคุยสนทนาในประเด็นต่าง ๆ ที่นักเรียนสนใจในประเด็นต่อไปนี้
#ท้องที่หิว ไม่รู้จักกฎหมาย
#ในน้ำมียา ในนามีหนี้
#กินอาหารเป็นยา ดีกว่ากินยาเป็นอาหาร
#แค่กินหมดก็ลดโลกร้อน
#คุณเป็นอย่างที่คุณกิน
(นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมอุปกรณ์/กฎการพูดคุย/บรรยากาศ)
หลังจากกิจกรรม นักเรียนจะได้เห็นขยะที่ตัวเองสร้างจากการกินอาหารในกิจกรรม World Café ด้วย อาหารที่ห่อด้วยใบตองสามารถจัดการได้ง่าย หาอาหารที่มาในรูปกล่องพลาสติก (ขนมปี๊บ) ยังสามารถเก็บไว้ต่อได้ แต่ขนมที่เป็นชิ้น ๆ ห่อพลาสติกกิน 10 ชิ้นก็เกิดขยะ 10 ชิ้น เป็นประเด็นให้นักเรียนเห็นว่า ทุกครั้งที่เรากิน เราก็สร้างขยะเช่นกัน
6. นักเรียนทำโปสเตอร์สรุปการสนทนาและนำไปเสนอที่โรงอาหาร และนักเรียนได้คิดโครงงาน “กินเป็นเพื่อสุขภาพชีวิต เลือกภาชนะสักนิดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eating well and No plastic)” เพื่อจัด workshop ให้น้องม.1 และน้อง ๆ โรงเรียนประถมศึกษา โดยนักเรียนจัดทำกิจกรรม
1. ขนมเพื่อสุขภาพ (โดนัทจิ๋วสูตรลดแป้ง ลดหวาน)
2. ขนมจีบ อิ่มท้องแทนขนมถุง
3. ภาชนะจากใบตองและไม้ไผ่
ซึ่งผลลัพธ์จากการจัดกิจกรรมนั้น จะสะท้อนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ว่า อาหารไม่ใช่แค่การย่อย แต่เป็นการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดี อร่อยได้ แต่อย่าลืมหลักโภชนาการ ประมาณการกินของตนเองอย่าเหลือทิ้ง เลือกใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น และตระหนักถึงการใช้พลาสติก อีกทั้งนักเรียนภูมิใจที่ได้ทำโครงการบริการความรู้สู่น้อง เพราะทำให้ตนเองพยายามปฏิบัติตนเป็นต้นแบบ และรู้สึกดีที่ได้ทำสิ่งดี ๆ ให้กับผู้คนและสังคม รวมถึงได้รู้ว่าเยาวชนทั่วโลกต่างมุ่งมั่น ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ที่เป็นการออกแบบกิจกรรมผ่านรูปแบบ Team Teaching ซึ่งการได้สอนร่วมกันทำให้ได้เห็นมุมมองต่าง ๆ เห็นการประสานงาน เห็นความเป็นไปได้ในทุกสิ่งที่เคยคิดว่ายาก และยังทำให้เด็ก ๆ เห็นว่า ปัญหาหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ในโลกใบนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันในการแก้ปัญหา
นอกจากนี้เรายัง ได้เห็นภาวะผู้นำของนักเรียน เห็นความพยายามในการแก้ปัญหา เห็นการทำงานเป็นทีม ได้เห็นนักเรียนสามารถปฏิบัติภารกิจให้ประสบความสำเร็จได้ และงานนี้มีความหมายในการขับเคลื่อนจากห้องเรียนสู่โรงเรียน จากโรงเรียนสู่โรงเรียนเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการออกแบบกิจกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://anyflip.com/rxtr/uxam/
หรือพิมพ์คำว่า “ถอดบทเรียน PLC นำ SDGs เข้าสู่ห้องเรียน” ใน google ได้เลย
ภาพรวมการขยายผลกิจกรรม
คลิปนี้จะเป็นภาพรวมการขยายผลของปีนี้ค่ะ เราเริ่มจาก Team Teaching 4 คน ขยายผลสู่เพื่อนครู สร้างทีมทำงานที่เข้มแข็งมากขึ้น ครูไทยร่วมใจสร้างสรรค์งาน SDGs
คลิปการนำเสนอ Best Practice ในงานประชุมนานาชาติ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย