icon
giftClose
profile

ในวันที่ครูไม่อยู่

27341
ภาพประกอบไอเดีย ในวันที่ครูไม่อยู่

ความรู้ทุกวันนี้มีเยอะแยะมากมาย แต่หัวใจสำคัญของการเรียนรู้ คือ “การจัดการความรู้” เราเชื่อว่า นักเรียนมีหน้าที่รับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเอง โดยที่มีครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก






ในเทอมที่ผ่านมานี้เราเรียนเรื่อง “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” 

ซึ่งมีเหตุการณ์นึงที่ทำให้ครูแจงภูมิใจในตัวนักเรียน และได้เห็นศักยภาพในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน


เรื่องมีอยู่ว่า ในอาทิตย์ที่ 4 ของเทอม ครูเองจะไม่อยู่เป็นเวลา 2 วัน...

เราจะออกแบบเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไร...ในวันที่ครูไม่อยู่


ครูแจงเลยมีเป้าหมายว่า จะจัดการเตรียมตัวเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จากบุคคลต้นแบบในชุมชนแทน!


ซึ่งเครื่องมือคู่ใจคือการถามคำถาม เราถามคำถามนักเรียนแทนที่จะสั่งการ เพื่อช่วยให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเองและได้เตรียมตัวได้อย่างพร้อมที่สุด

.

ขั้นตอนที่ 1


  • มีใครเคยไปเรียนรู้เรื่องภูมิปัญญาในท้องถิ่นของเราไหม
  • นักเรียนคิดว่าใครหรือสถานที่ไหน เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมขนของเรา
  • นักเรียนคิดว่าใครเป็นบุคคลต้นแบบที่เราจะไปเรียนรู้ได้
  • เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่เราคิดว่ามีภูมิปัญญานั้น มีความสามารถตามที่เราคิดจริงๆ


ให้นักเรียนแบ่งเป็นกลุ่มไปคิดและค้นหาจากคำถามเหล่านี้ หลังจากนั้นสามารถเลือกออกมาได้ว่า แต่ละกลุ่มอยากจะเรียนรู้ภูมิปัญญาอะไรและจากใคร


  1. กลุ่มนึงเลือกผู้ปกครองตัวเอง ให้มาเป็นครูสอนเขาเรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษ
  2. เลือกผู้ปกครองเพราะ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และประทับใจคติที่ยึดว่า ปลูกทุกอย่างที่กินจะได้ขาย ปลูกที่ต้องขายจะเป็นหนี้
  3. เลือกคุณยายในหมู่บ้านที่สานตระกร้า
  4. เลือกพี่ที่ทำขนมเทียนเขมร 


เมื่อเราเลือกแล้วว่าสนใจอยากเชิญใครมาเป็นครูสอนเรา ก็ถามต่อว่า

  • ท่านจะเสียสละเวลามาเรียนรู้กับเราไหม

.

ขั้นตอนที่ 2


นักเรียนต้องทำการเช็คการเชิญบุคคลที่จะมาเป็นครูของเขา ตามข้อแม้ต่อไปนี้

  • คนคนนั้นต้องเต็มใจที่จะมาแบ่งปันและสอนเรา
  • คนคนนั้นต้องสามารถพาเราทำในสิ่งที่อยากจะลงมือทำได้

เช่น ต้องได้เก็บผักทำเอง ต้องพาเราสานตระกร้าได้ ต้องพาเราทำขนมเทียน 

  • เราต้องรู้สึกจริงๆ ว่าทั้งสามท่านที่เลือกนี้มีความรู้ในเรื่องนั้นจริง ๆ 


เพราะฉะนั้น นักเรียนเลยทำการเชิญและการสัมภาษณ์


  1. ออกแบบวิธีการเชิญ และวางไทม์ไลน์
  2. แชร์วิธีการที่จะเชิญกับเพื่อน ๆ ซ้อมและสะท้อนความคิดเห็นกันในห้อง
  3. ลงพื้นที่และเชิญชวนให้มาสัมภาษณ์

.

ในวันสัมภาษณ์

ถ่ายคลิปซึ่งถามถึงเรื่องราวของบุคคลนั้น เช่น เกิดที่ไหน ทำไมเลือกทำสิ่งนี้ ทำไมถึงมีความรู้นี้ได้

.

ขั้นตอนที่ 3


หลังจากที่นักเรียนมั่นใจ ว่าบุคคลนี้จะสามารถมาช่วยสอนหัวข้อที่เขาสนใจได้

ก็ถึงจะเชิญชวนให้มาเป็นครูในวันที่ครูแจงไม่อยู่


ครูแจงมีหน้าที่ช่วยให้นักเรียนมองเป้าหมายของงานผ่านคำถาม

  • เป้าหมายของการเรียนรู้จากบุคคลนี้คืออะไร
  • เราต้องทำอะไรบ้างถึงจะทำให้เป้าหมายนั้นสำเร็จ
  • วันที่เชิญบุคคลต้นแบบมา เราต้องเตรียมอะไรไว้ทำกิจกรรมบ้าง
  • ทำยังไงเราถึงจะมีอุปกรณ์ครบ


เราอยากให้นักเรียนได้ทำงานเป็นทีม และสามารถถอดบทเรียนวันนั้นออกมากได้เองโดยที่ครูไม่อยู่


*** สำคัญมาก ***

การถามคำถามเพื่อให้นักเรียนออกแบบกิจกรรมเองนั้น ทำให้โจทย์ในการทำงานของวันนั้น อยู่ที่ตัวนักเรียนเอง เมื่อนักเรียนมีเป้าหมาย คำถามของครูจะช่วยทำให้ได้วางแผนอย่างละเอียด ทำให้นักเรียนได้คุยกับบุคคลต้นแบบได้แน่ชัดเรื่องกิจกรรมที่จะจัด (และรู้ว่าต้องทำอะไรเมื่อไหร่)

ทำให้บุคคลนั้นเข้าใจโจทย์และเป้าหมายเช่นกัน


ครูทิ้งโจทย์ไว้ให้เพิ่มอีกว่า 

  • ตอนครูไม่อยู่ครูก็ยังอยากเรียนรู้กับเรา นักเรียนช่วยออกแบบวิธีนำเสนอการทำงานให้ครูหน่อยนะคะ

.

ในวันที่ครูไม่อยู่ 


นักเรียนแต่ละกลุ่มมีการจัดการกิจกรรมของตนเองกับคุณครูผู้รับเชิญ โดยที่มีเพียงครูฝึกสอนคอยช่วยดูแลความเรียบร้อย


ครูคอย Chat เพื่อถามความเคลื่อนไหว ถ้าขาดอะไรหรือเกิดอุปสรรคอะไร ครูก็คอยถามคำถามเพื่อให้นักเรียนคิดแก้ไขปัญหาเอง

.

ในวันที่ครูกลับมา


1. นักเรียนแต่ละกลุ่มต่างก็นำเสนอสิ่งที่ทำไปไปในคนละแนวทาง มีทั้งการ วาด flow การทำงาน การถ่ายรูปให้ดูกระบวนการ หรือทำคลิปสรุปให้ดู

นักเรียนสะท้อนกับครูว่า เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ไขอย่างไร และ ประเมินการทำงานของตนเองว่าอย่างไร

.

ซึ่งทำให้ครูเห็นว่า

  • ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเอง
  • การแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
  • นักเรียนที่ปกติไม่อยากเรียนลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ
  • รอยยิ้มของนักเรียนที่ผู้ปกครองมาสอนเป็นครูในวันนั้น


2. ครูรับเชิญ สะท้อนความประทับใจความสามารถของนักเรียน ในการดูแลตัวเองและในการเรียนรู้

.

ครูเห็น

  • ความสุขของผู้ปกครองที่ได้มาสอนในห้องเรียนของลูก
  • ประทับใจความเสียสละและความร่วมมือของชุมชน ที่เอาใจใส่นักเรียนและให้เวลาเขา
  • แรงบันดาลใจที่นักเรียนได้รับ จากการมีครูจากชุมชนของตัวเอง


เราได้เรียนรู้ว่า...

ถ้านักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ของเขา โจทย์และเป้าหมายในการทำงานในวันนั้น ถึงแม้ครูจะไม่อยู่ ก็จะอยู่ในตัวของนักเรียนเอง



ที่มาและแนวคิด


เราได้รับแรงบันดาลใจมาจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และได้นำการบูรณาการแบบ problem-based learning ที่ใช้ปัญหาเป็นฐานเป็นหลักในการเรียนการสอน


เราตั้งใจ “สร้างปัญหา” ให้เด็กเยอะๆ เน้นปัญหาที่มีอยู่จริง 

เราจำลองพื้นที่ให้เขาซ้อมในห้องเรียน

เพื่อโตขึ้นไปเป็นคนที่รู้จักการแก้ปัญหาในอนาคต

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(7)
เก็บไว้อ่าน
(6)